เข้ากับหัวหน้าไม่ได้ จะลาออกหรือไปต่อ ญี่ปุ่นผุดไอเดีย ‘ให้พนักงานเลือกหัวหน้าที่ชอบ’ | Techsauce

เข้ากับหัวหน้าไม่ได้ จะลาออกหรือไปต่อ ญี่ปุ่นผุดไอเดีย ‘ให้พนักงานเลือกหัวหน้าที่ชอบ’

ใครเคยลาออกเพราะหัวหน้าบ้าง ? บริษัทญี่ปุ่นค้นพบว่าพนักงานโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มักมีปัญหากับหัวหน้างานจนต้องลาออก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันเกินไป บริษัทจึงคิดวิธีแก้ปัญหานี้ ด้วยการให้พนักงาน สามารถเลือกหัวหน้าได้เอง จะช่วยได้จริงไหม ไปดูกัน

บริหารคนแบบใหม่ ‘ยอมให้เลือกหัวหน้าที่ถูกใจได้เลย’

ระบบการบริหารคนแบบนี้เริ่มต้นมาจากบริษัทออกแบบโครงสร้างแห่งหนึ่งในฮอกไกโด พวกเขาลองให้พนักงานรุ่นใหม่ๆ สามารถเลือกเจ้านายของตัวเองได้ เพราะเชื่อว่าวิธีการแบบนี้จะช่วยสนับสนุนให้ทั้งหัวหน้าและพนักงานสามารถใช้จุดแข็งของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Sakura Kozo บริษัทญี่ปุ่นด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวในซัปโปโร จึงได้หยิบเอา ‘ระบบเลือกหัวหน้า’ มาใช้ เนื่องจากบริษัทมีอัตราการลาออกของพนักงานรุ่นใหม่สูงถึง 11% ปรากฎว่าหลังจากที่บริษัทเริ่มใช้ระบบนี้ อัตราการลาออกก็ลดลงเหลือเพียง 0.9% 

พนักงานที่ทำงานครบ 1 ปีเท่านั้น จะมีสิทธิ์เลือกหัวหน้างานได้ (เลือกจาก 1 ใน 7) และสามารถเลือกได้ปีละครั้ง ซึ่งเกณฑ์ในการเลือกก็จะพิจารณาจากรายงานการประเมินแบบละเอียดที่บริษัททำขึ้นมา

โดยจะมีข้อมูลอยู่ 14 ข้อที่ระบุเกี่ยวกับการทำงานของหัวหน้าแต่ละคน เช่น หัวหน้าแต่ละคนเชี่ยวชาญในด้านไหน ยังมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง เข้าใจปัญหาและความกังวลของทีมได้ดีแค่ไหน และช่วยลูกทีมในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ดีเพียงใด เป็นต้น 

ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในรายงานก็มาจากการประเมินที่จะให้ หัวหน้าให้คะแนนตนเองก่อน > พนักงานให้คะแนนหัวหน้า > ประธานบริษัทให้คะแนนเป็นคนสุดท้าย และพนักงานก็จะพิจารณาเลือกหัวหน้าจากข้อมูลในรายงานเหล่านี้ 

องค์กรจะได้ประโยชน์จากระบบนี้อย่างไร ?

1. อุดรอยรั่วภายในทีม

การเลือกหัวหน้าโดยพิจารณาจากจุดแข็งและจุดอ่อนจะช่วยให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีการที่หัวหน้าและลูกน้องมาอุดรอยรั่วของกันและกัน ตัวอย่างเช่น Kadota Tabito พนักงานที่ทำงานที่บริษัทมากว่า 7 ปี เลือก Yamamoto Kensuke เป็นหัวหน้า

เนื่องจาก Yamamoto มักคอยการสนับสนุนและสร้างความมั่นใจให้แก่ Kadota แต่ในขณะเดียวกัน Yamamoto ก็มีข้อบกพร่องคือเขาบริหารจัดการตารางงานไม่เก่ง  

เมื่อทั้งคู่มาทำงานร่วมกัน Kadota ก็ต้องเข้ามาช่วย Yamamoto บริหารจัดการตารางงาน ซึ่งช่วยให้ Kadota เติบโตและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ในทางกลับกันด้านหัวหน้าอย่าง Yamamoto ก็สามารถโฟกัสแค่สิ่งที่เขาทำได้ดี และฝากงานบางอย่างไว้ให้ Kadota ช่วยจัดการได้

2. ได้พนักงานที่ตรงใจ

นอกจากระบบนี้จะใช้กันภายในองค์กรได้แล้ว ในการรับสมัครพนักงานก็นำไปใช้ได้เช่นเดียวกัน ที่ Nyle บริษัทด้านการตลาดในโตเกียวได้นำระบบนี้ไปปรับใช้ในการจ้างงาน โดยผู้สมัครงานจะสามารถเลือกผู้สัมภาษณ์ที่ตนเองรู้สึกสบายใจจะพูดคุยด้วยได้จากกลุ่มพนักงานจำนวน 20 คน

บริษัทเชื่อว่ามันจะช่วยทำให้บรรยากาศการสัมภาษณ์งานตึงเครียดน้อยลง ผู้สมัครสบายใจมากขึ้น และบริษัทก็จะได้รู้จักตัวตนของผู้สมัครงานแต่ละคนจริงๆ

3. Win-Win ทั้งบริษัทและพนักงาน

ไม่ว่าใครๆ ก็อยากทำงานกับคนที่เข้าขากันได้ดีและบริษัทเองก็ต้องอยากได้พนักงานเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านรูปแบบการทำงานคนหนึ่งของญี่ปุ่นชี้ว่า การปล่อยให้พนักงานเลือกเจ้านายหรือผู้สัมภาษณ์จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทและพนักงาน 

พนักงานก็จะมีอิสระในการเลือกทำงานกับคนที่เข้าขากันได้ ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในการทำงานสนุกและผลลัพธ์ก็มีโอกาสที่จะออกมาดีกว่า ส่วนบริษัทนอกจากจะได้ประโยชน์จากการที่พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังสามารถดึงดูดผู้สมัครดีๆ เข้ามายังองค์กรได้อีกด้วย

อ้างอิง: 3.nhk.or.jp

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

LINE เผยโร้ดแมปเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจ ตั้งรับยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ในงาน THAILAND NOW AND NEXT

LINE เผยโร้ดแมปเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจ ตั้งรับยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ในงาน THAILAND NOW AND NEXT...

Responsive image

Delta Electronics ลุยตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในไทย เตรียมรับการลงทุนบิ๊กเทคฯ

Delta Electronics ซัพพลายเออร์ของ Nvidia วางแผนสร้างโรงไฟพลังงานสะอาดในอินเดียและไทย...

Responsive image

2024 ท่องเที่ยวญี่ปุ่นโตแรง กวาดเงินนักท่องเที่ยวกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายในญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 5.86 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงกว่ายอดการใช้จ่ายทั้งหมดของปี 2023...