Meta ทุ่ม 3.45 แสนล้านสร้างสายเคเบิลใต้ทะเล ที่มีระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร | Techsauce

Meta ทุ่ม 3.45 แสนล้านสร้างสายเคเบิลใต้ทะเล ที่มีระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร

Meta กำลังวางแผนสร้างสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ทะเลขนาดใหญ่ที่มีระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.45 แสนล้านบาท 

ด้าน TechCrunch ยืนยันว่า Meta ตั้งงบประมาณเริ่มต้นที่ 2,000 ล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเมื่อโครงการพัฒนาในระยะยาว โดย Sunil Tagare ผู้เชี่ยวชาญด้านสายเคเบิลใต้ทะเลและผู้ก่อตั้ง Flag Telecom กล่าวว่าโครงการนี้อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ และงบประมาณมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์

แต่สิ่งสำคัญคือ Meta จะเป็นเจ้าของและผู้ใช้สายเคเบิลใต้น้ำเพียงรายเดียว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของบริษัท และถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับความพยายามด้านโครงสร้างพื้นฐานของบริษัท

โครงการสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ทะเลจาก Meta

การดำเนินโครงการครั้งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของทีมโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของ Meta นำโดย Santosh Janardhan หัวหน้าฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานของบริษัท โดยยังไม่มีการลงมือก่อสร้างใดๆ และคาดว่า Meta จะประกาศข้อมูลเพิ่มเติมในต้นปี 2025 

หากโครงการสำเร็จ สายเคเบิลดังกล่าวจะมีเส้นทางเป็นรูปตัว "W" เชื่อมต่อจากชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ไปยังอินเดียผ่านแอฟริกาใต้ และจากอินเดียไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ผ่านออสเตรเลีย ซึ่งจะช่วยให้ Meta มีระบบการส่งข้อมูลทั่วโลกที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ

Meta กำลังเปลี่ยนโฉมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโลกดิจิทัล

สายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ทะเลเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารมานานกว่า 40 ปี แต่สิ่งที่น่าสนใจในครั้งนี้คือ ใครเป็นผู้ลงทุนสร้างและเป็นเจ้าของโครงการ รวมถึง เป้าหมายของการใช้งาน

แผนการของ Meta สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในอุตสาหกรรมเครือข่ายใต้ทะเล ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม แต่ในปัจจุบันยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะนักลงทุนและเจ้าของโครงการ

แม้ Meta จะไม่ใช่หน้าใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ โดยข้อมูลจาก Telegeography ระบุว่า Meta เป็นผู้ถือหุ้นร่วมในเครือข่ายสายเคเบิลใต้ทะเล 16 เครือข่าย รวมถึงโครงการล่าสุดอย่างสายเคเบิล 2Africa ที่ล้อมรอบทวีปแอฟริกา (ซึ่งมีพันธมิตรร่วมโครงการ เช่น Orange, Vodafone, China Mobile และ Bayobab/MTN)

อย่างไรก็ตาม โครงการสายเคเบิลใหม่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ Meta เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

โครงการนี้จะทำให้ Meta ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับ Google ซึ่งมีส่วนร่วมในเส้นทางสายเคเบิลใต้ทะเลถึง 33 เส้น รวมถึงบางเส้นที่ Google เป็นเจ้าของทั้งหมด ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ อย่าง Amazon และ Microsoft มีบทบาทเป็นเพียงผู้ถือหุ้นบางส่วนหรือผู้ซื้อความจุเครือข่ายเท่านั้น โดยยังไม่มีเส้นทางใดที่เป็นเจ้าของทั้งหมดเหมือน Meta และ Google

5 เหตุผลที่ Meta ต้องสร้างสายเคเบิลใต้ทะเลของตัวเอง

  1. สามารถควบคุมได้เต็มที่: ถ้า Meta เป็นเจ้าของสายเคเบิลเอง จะสามารถใช้ความจุของสายเคเบิลได้ก่อนใคร ช่วยให้การส่งข้อมูลเร็วและมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบเดิมที่อาจมีข้อจำกัด
  2. ลดความเสี่ยงจากปัญหาสงคราม: ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีสายเคเบิลใต้ทะเลหลายเส้นได้รับความเสียหายจากความขัดแย้ง เช่น กลุ่มติดอาวุธในทะเลแดง หรือสงครามในยุโรป Meta จึงออกแบบเส้นทางสายเคเบิลใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง
  3. เพิ่มโอกาสในตลาดอินเดีย: อินเดียเป็นตลาดใหญ่ของ Meta โดยมีผู้ใช้งาน Facebook, Instagram และ WhatsApp รวมกันหลายร้อยล้านคน ซึ่งมากที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันอินเดียยังเป็นประเทศที่ต้นทุนการประมวลผลข้อมูลถูกกว่าในสหรัฐฯ Meta อาจใช้โอกาสนี้สร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อพัฒนา AI ในประเทศ ซึ่งอาจสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานนี้
  4. ลดการพึ่งพา: การเป็นเจ้าของสายเคเบิลเองช่วยให้ Meta ไม่ต้องพึ่งคนอื่น และสามารถจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย นอกจากนี้ Meta ยังอาจใช้สายเคเบิลนี้ในอนาคตเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI หรือขายความจุให้กับบริษัทอื่น

อ้างอิง: techcrunch 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สยาม เอไอฯ ได้รับ NVIDIA DGX Blackwell B200 รายแรกในอาเซียน

NVIDIA DGX Blackwell B200 เป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของ Siam.AI Cloud ทำให้สามารถรองรับการประมว...

Responsive image

Infineon เสริมแกร่งและกระจายฐานการผลิต ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในประเทศไทย

Infineon Technologies AG ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (Backend Production) แห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ การลงทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพื่อเพิ่มประ...

Responsive image

Techsauce จับมือ KUMPUL เสริมแกร่งสตาร์ทอัพไทย-อินโดฯ สู่เวทีโลก

Techsauce และ KUMPUL ได้ร่วมลงนาม MOU อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพข้ามพรมแดนและนวัตกรรมระดับโลก ผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศท...