Tebra บริษัทวิจัยด้านสุขภาพ ได้ทำการวิเคราะห์วิดีโอบนแพลตฟอร์ม TikTok กว่า 5,000 รายการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคำแนะนำทางการแพทย์ เพื่อทำการประเมินความถูกต้องของ ซึ่งผลลัพธ์แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่มีความผิดพลาดจนน่าตกใจ ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการตัดสินใจด้านการดูแลสุขภาพ
ผลสำรวจของ Tebra พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคำแนะนำทางการแพทย์กว่า 45% บน TikTok เป็นข้อมูลเท็จ หรือเป็นเรื่องที่นำไปสู่การเข้าใจผิด โดยช่อง TikTok เล็กๆ ที่มีผู้ติดตามไม่ถึง 100,000 คน มักมีแนวโน้มที่จะโพสต์คำแนะนำที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดมากกว่าช่อง TikTok ที่มีผู้ติดตามสูง
Tebra ยังค้นพบว่า วิดีโอ TikTok ทางการแพทย์ที่มีส่วนร่วมในคลิปวิดีโอต่ำ มีแนวโน้มที่จะมีคำแนะนำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากกว่าวิดีโอที่มีส่วนร่วมสูงถึง 21% ที่สำคัญวิดีโอ TikTok ที่เป็นไวรัล (ยอดดูมากกว่า 5 ล้านครั้ง) มีแนวโน้มที่จะมีคำแนะนำที่ทำให้เข้าใจผิดมากกว่าวิดีโอที่ไม่ใช่ไวรัล (ยอดดูน้อยกว่า 1 ล้านครั้ง) ถึง 14%
เวลาที่ดูคำแนะนำสุขภาพใน TikTok สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ความถูกต้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึง "น้ำเสียง" หรือ "ทัศนคติ" ที่สื่อออกมาด้วย ถ้าเนื้อหาพูดในแง่บวก ก็อาจช่วยให้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่ถ้าเนื้อหาเป็นลบหรือให้ข้อมูลผิดๆ ก็อาจทำให้สุขภาพของคนดูแย่ลงได้
จากการวิจัยของ Tebra พบว่า ส่วนใหญ่แล้วคำแนะนำสุขภาพใน TikTok มักจะพูดในแง่ดี โดยเฉพาะวิดีโอเกี่ยวกับ "การกินและโภชนาการ" จะพูดในแง่ดีมากที่สุด (87%) เน้นให้คนกินอาหารที่มีประโยชน์และดูแลตัวเอง
แต่ที่น่าห่วงคือ วิดีโอเกี่ยวกับ "โรคคิดว่าตัวเองน่าเกลียด (Body Dysmorphia)" มักจะพูดในแง่ลบ (38%) ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคนดู โดยเฉพาะวัยรุ่น เพราะมีการวิจัยบอกว่า วัยรุ่น Gen Z ถึง 1 ใน 4 คน เชื่อ TikTok มากกว่าหมอ
Tebra เน้นย้ำว่า แม้ว่า TikTok และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับหัวข้อด้านสุขภาพ แต่สิ่งสำคัญคือต้องใช้วิวิจารณญาณในการคัดกรองเนื้อหา เนื่องจากเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้สร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และข้อมูลที่ผิดแพร่กระจายได้ง่าย
อ้างอิง : Tebra
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด