NIA เปิดรายงานการพัฒนาระบบนิเวศ Startup ไทย ปี 2564 เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนไทยสู่ ‘ประเทศแห่ง Startup’ | Techsauce

NIA เปิดรายงานการพัฒนาระบบนิเวศ Startup ไทย ปี 2564 เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนไทยสู่ ‘ประเทศแห่ง Startup’

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมแหล่งความรู้ ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลให้แก่กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ สำหรับใช้เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้า ซึ่งล่าสุด NIA ได้ริเริ่มและจัดทำ ‘รายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564’ ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลภาพรวมภูมิทัศน์ของระบบนิเวศสตาร์ทอัพในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ให้มีความสามารถในการประกอบธุรกิจรวมถึงแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น เพื่อเร่งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “รายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564 เป็นรายงานฉบับที่ 4 ที่ได้จัดทำต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2557 โดยได้รับความร่วมมือจากประชาคมกว่า 300 ราย ทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพไทยและต่างชาติ นักลงทุน ภาคการศึกษา ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การสร้างนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในเร็ววัน นอกจากนี้ NIA ยังเปิดโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม การสนับสนุนงานวิจัย การอบรมพัฒนาด้านทักษะหลากหลายด้าน รวมถึงการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้สตาร์ทอัพไทยอย่างยั่งยืน”


สำหรับรายงานฉบับนี้ ได้สรุปข้อมูลที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมข้อแนะแนะ 4 ด้าน ประกอบด้วย 

1. ความพร้อมของกำลังคน (Manpower Readiness)

โดยผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ขาดทักษะในการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยียังมีจำนวนไม่เพียพอ อีกทั้งสตาร์ทอัพเองไม่สามารถจ้างแรงงานที่มีฝีมือด้านเทคโนโลยีที่มีฐานเงินเดือนสูงได้ จึงเสนอแนะให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม พร้อมสร้างแพลตฟอร์มชุมชนออนไลน์เพื่อเข้าถึงแรงงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะฝีมือด้านเทคโนโลยี  พัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการได้รับเงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงานบางส่วนจากรัฐบาลเพื่อช่วยแบ่งเบาต้นทุนของสตาร์ทอัพ

2. แหล่งเงินทุน (Source of Funding)

สตาร์ทอัพยังไม่มีแผนการเงินและแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าบริษัทในระยะยาว อีกทั้งนักลงทุนส่วนใหญ่สนใจลงทุนเฉพาะบางธุรกิจเท่านั้น ทำให้บางธุรกิจที่ไม่ได้รับความนิยม หาแหล่งเงินทุนได้ยาก สตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นไม่ได้รับการส่งเสริมที่มากพอ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงวงเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาต่อยอดการทำธุรกิจได้ จึงมีข้อเสนอให้สนับสนุนสตาร์ทอัพให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานคู่มือการระดมทุนเพื่อกำหนดทิศทางทั้งระบบนิเวศ สร้างแพลตฟอร์มรวบรวมและประชาสัมพันธ์ข่าวสารการระดมทุนจากในประเทศและต่างประเทศ

3. การหากลุ่มลูกค้าและการขยายธุรกิจ (Growth & Scalability)

สตาร์ทอัพยังขาดประสบการณ์ในการติดต่อกับกลุ่มลูกค้าระดับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการตลาดและการทำธุรกิจในต่างประเทศ ขาดการวางแผนการเงิน เพื่อหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีข้อเสนอแนะให้จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค สนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ พร้อมทั้งผลักดันสตาร์ทอัพไทยเข้าสู่ระบบการค้นหาในตลาดโลกเพื่อให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลก

4. การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ (Support from Government & Partners) 

พบว่าภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเป็นผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง อีกทั้งควรสนับสนุนด้านเงินทุน รวมถึงการสร้างเกณฑ์คุณสมบัติในการรับทุนที่เอื้อต่อทุกธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้น จึงมีข้อเสนอแนะให้เกิดการเชื่อมโยงโครงการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนและผลักดันสตาร์ทอัพสู่การเป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย สร้างฐานความรู้งานวิจัย ส่งเสริมการพัฒนาเขตพื้นที่นำร่องย่านนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่รัฐดิจิทัล (Digital Government) และพัฒนาหลักเกณฑ์หรือระเบียบทางราชการให้มีความคล่องตัว โดยอาศัยการเข้าถึงบริการจากภาครัฐด้วยเทคโนโลยี (Gov Tech) เป็นตัวเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการทำงานแทนที่การติดต่อและเข้าถึงภาครัฐแบบเดิม ควบคู่ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีพลเมือง (Civic Tech) นำเทคโนโลยีมาเชื่อมความสัมพันธ์กับภาครัฐ ให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายของรัฐบาลหรือปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้เข้าถึงผลประโยชน์ของประชาชนได้

นอกจากนั้นจากรายงานฉบับนี้ยังได้วางแนวทางให้สตาร์ทอัพในด้านการใช้ความสามารถในการประกอบธุรกิจและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกด้าน เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพจะถูกนำไปใช้ประกอบการการวางแผนส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย โดยคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติในอนาคตภายใต้ 4 แนวทาง คือ

1. Build up awareness – การสร้างความตระหนักรู้ และการรับรู้เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เติบโตขึ้น ทั้งการสร้างศูนย์กลางแห่งการประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนสื่อสาธารณะให้รับรู้และเข้าใจธุรกิจสตาร์ทอัพ

2. Ease of Doing Business - การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสตาร์ทอัพ ทั้งเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว การรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติสำหรับสตาร์ทอัพเพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาย่านนวัตกรรมเพื่อรองรับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ

3. Strengthen Ecosystem – การส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเริ่มตั้งแต่การปฎิรูประบบการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในเด็กรุ่นใหม่ การวางแนวทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีสำหรับอนาคต ไปจนถึงการสร้างสถาบันสนับสนุนผู้ประกอบการ

4. Incentives & Supports – การออกมาตรการสนับสนุนโดยภาครัฐทั้งด้านการเงิน/การคลังแก่สตาร์ทอัพ การวางแนวทางผ่อนปรนสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้เหมาะสมกับการพัฒนาและการเติบโตของสตาร์ทอัพ และการวางแนวทางสนับสนุนการจัดเรตติ้งเทคโนโลยี และการค้ำประกันสินเชื่อเทคโนโลยี

ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน “ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย” ก้าวสู่ปีแห่งความท้าทายจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบให้ทุกส่วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ก็เป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพได้ปรับบริการและเพิ่มธุรกิจใหม่ที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น E-Commerce และ Online Service อย่าง Food Delivery ที่เติบโตขึ้นอย่างมาก รวมถึง Online Education Platform และ Digital Content ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของ TECHSAUCE STARTUP DIRECTORY ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขการระดมทุนในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 369 ล้านดอลล่าสหรัฐ จากการลงทุน 36 ครั้ง นับว่าเป็นปีที่การระดมทุนมีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย

สำหรับในปี 2564 นี้ มูลค่าการลงทุนมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้น จากข้อมูลการลงทุนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 289 ล้านดอลล่าสหรัฐ จากการลงทุน 37 ครั้ง โดยการระดมทุนใน Series D+ ของ Flash Express ยังคงมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 150 ล้านดอลล่าสหรัฐ ตามมาด้วย Zipmax ที่ได้ระดมทุนใน Series A ที่ 55.98 ล้านดอลล่าสหรัฐ และอันดับที่ 3  คือการระดมทุนของ Sunday Insurance ใน Series ที่ 45 ล้านดอลล่าสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในระบบนิเวศสตาร์ทอัพต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยที่ยังสามารถก้าวไปสู่ระดับ Regional Player ได้อย่างแน่นอน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564 ได้ที่เว็ปไซต์ www.startupthailand.org

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

'บ้านปู' ประกาศกลยุทธ์ใหม่ Energy Symphonics เตรียมมุ่งสู่ปี 2030 เปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ประกาศกลยุทธ์ใหม่ 'Energy Symphonics' หรือ “เอเนอร์จี ซิมโฟนิกส์” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ปี 2030 เน้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานอ...

Responsive image

Google เผยเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โตอันดับ 2 ใน SEA มูลค่า 1.61 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนด้วยอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2567 มูลค่ารวมของสินค้าดิจิทัลหรือ GMV จะเพิ่มขึ้นถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566...

Responsive image

AMD ประกาศลดพนักงาน ราว 1,000 คนทั่วโลก หวังเร่งเครื่องสู่ตลาดชิป AI

AMD ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ โดยจะปลดพนักงานประมาณ 1,000 คน หรือคิดเป็น 4% ของพนักงานทั้งหมด 26,000 คนตามข้อมูลที่บริษัทยื่นต่อสำนักง...