PHILIPS เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ของปี 2023 | Techsauce

PHILIPS เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ของปี 2023

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น และความผันผวนทางเศรษฐกิจล้วนเป็นปัจจัยที่ท้าทายผู้ให้บริการทางสาธารณสุขทั่วโลกในการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานและคิดค้นรูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ยังตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ได้หันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ตลอดจนความจำเป็นในการลดก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมเพื่อการรักษาสุขภาพของโลกเช่นกัน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความท้าทายข้างต้น ฟิลิปส์จึงได้รวบรวม 10 เทรนด์เทคโนโลยีเฮลท์แคร์ที่คาดว่าจะมาแรงในปี ค.ศ. 2023 นี้

 

1. การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้วยระบบการทำงานอัตโนมัติ (Workflow Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

จากรายงาน Philips Future Health Index 2022 report เผยว่าปัญหาด้านบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ ของผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์  และหากไม่จัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ภาวะหมดไฟและการขาดแคลนบุคลากรจะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในด้านรังสีวิทยา มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า นักรังสีวิทยาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะขาดแคลนเจ้าหน้าที่พยาบาลถึง 13 ล้านคนภายในปีค.ศ. 2030 นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ยังต้องเผชิญกับงานค้างจากการรักษาปกติที่ถูกพักไว้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดยิ่งทำให้เกิดภาวะตึงเครียดมากกว่าปกติ ซึ่งจากปัญหานี้ จะเห็นว่าผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขได้นำระบบการทำงานอัตโนมัติที่มีเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์

ระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) เป็นเทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ที่สามารถช่วยลดภาระงานด้านเอกสารให้กับแพทย์ พยาบาล และนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์น้อยลงและมีเวลาอยู่กับผู้ป่วยมากขึ้น นั่นหมายถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานขั้นพื้นฐานที่ให้ผลลัพธ์สูง เช่น การเปิดใช้งานระบบส่งต่อข้อมูลตรวจติดตามผู้ป่วยเข้าสู่ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีและประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้

2. การเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ระบบการทำงานอัตโนมัติสามารถช่วยลดภาระงานที่มากเกินไปในแต่ละแผนกของโรงพยาบาลได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ยังจำเป็นต้องได้รับความรู้และการฝึกอบรมที่เหมาะสมเพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยพบว่า 1 ใน 5 ของบุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากสายงานนี้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฝึกอบรมบุคลากรใหม่ๆ อย่างเพียงพอจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อความต่อเนื่องในการทำงาน ความปลอดภัยและคุณภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วย และในอนาคต เราจะเห็นความต้องการ ‘บริการด้านการศึกษา’ เพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นด้านดิจิทัลในวงการเฮลท์แคร์

3. การปฏิบัติงานทางไกล (Remote Operations) ผ่านการทำงานร่วมกันออนไลน์ (Virtual Collaboration)

นี่เป็นหนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ที่ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจุบันได้กลายเป็นเทคโนโลยีหลักในวงการเฮลท์แคร์ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น

การทำงานร่วมกันแบบทางไกลยังมีประโยชน์ด้านการแพทย์อื่นๆ เช่น การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน อย่างระบบ Tele-ICU (เทเล-ไอซียู) ช่วยส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยวิกฤติถึงข้างเตียงผ่านการใช้เทคโนโลยีไม่ว่าสถานพยาบาลนั้นจะตั้งอยู่ที่ไหนก็ตาม โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางสามารถตรวจติดตามอาการของผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) แบบทางไกล ได้สูงสุดถึง 500 เตียงเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมบุคลากรในพื้นที่ โดยผสานเทคโนโลยีแสดงภาพและเสียง (Audio-visual technology), เทคโนโลยีการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive analytics) และการแสดงผลข้อมูล (Data visualization) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีเมื่อจำเป็น

4. โซลูชันด้านสารสนเทศ (Informatics solutions) ที่เป็นกลางและสามารถทำงานร่วมกับหลากหลายเครื่องมือหรือระบบได้

เนื่องจากระบบสาธารณสุขมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น ระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันจำเป็นต้องสามารถ 'เชื่อมต่อ' ถึงกันได้เพื่อสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ตามปกติ โรงพยาบาลจะจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์จากหลากหลายแบรนด์ ซึ่งมักส่งผลต่อการกระจัดกระจายของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ส่งผลต่อประสบการณ์ด้านสาธารณสุขที่ไม่เชื่อมต่อกัน แนวทางในการแก้ปัญหาคือ การนำโซลูชันด้านสารสนเทศที่เป็นกลางและสามารถทำงานร่วมกับหลากหลายเครื่องมือหรือระบบได้มาใช้มากขึ้นใน ปีค.ศ. 2023 และในอนาคต

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและในระยะฟื้นฟู แพลตฟอร์มเชื่อมต่อเครื่องมือแพทย์แบบเป็นกลาง สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเครือข่ายของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันเพื่อประมวลผลข้อมูลเชิงลึกและการแจ้งเตือนที่สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น และแพลตฟอร์มดังกล่าวยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) ของโรงพยาบาล รวมถึงเครื่องมือสื่อสารและความร่วมมือทางคลินิกได้อีกด้วย ส่งผลให้บุคลากรในโรงพยาบาลสามารถเห็นภาพรวมเกี่ยวกับอาการและปัจจัยด้านสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายได้ เมื่อการส่งต่อข้อมูลระหว่างระบบและอุปกรณ์ง่ายขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการดึงข้อมูลผู้ป่วยจากไซต์และแผนกต่าง ๆ อีกต่อไป

5. เฮลท์แคร์กำลังย้ายไปอยู่บนคลาวด์ (Cloud)

คลาวด์เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญในการเชื่อมต่อและบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานไอทีด้านเฮลท์แคร์ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต้องมีความปลอดภัยระดับสูงและสามารถรองรับข้อมูลปริมาณมากๆ ได้ เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล ก่อนหน้านี้การประยุกต์ใช้คลาวด์ในวงการเฮลท์แคร์ถือว่าล้าหลังมาก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การประยุกต์ใช้คลาวด์ในวงการเฮลท์แคร์เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับการยอมรับมากขึ้น และน่าจะได้เห็นการนำคลาวด์ไปใช้ทั่วทุกมุมโลกในปี 2023 นี้ และน่าจะได้เห็นการเพิ่มขึ้นของโซลูชัน software-as-a-service (SaaS) ที่ส่งผ่านระบบคลาวด์ตามมา

6. การติดตามอาการผู้ป่วยอย่างไร้รอยต่อทั้งในและนอกโรงพยาบาล

การใช้งานโซลูชันดิจิทัลบนคลาวด์ในวงการสาธารณสุขจะช่วยสนับสนุนการแชร์ข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นและสร้างรากฐานของระบบสาธารณสุขที่สามารถเชื่อมต่อจากโรงพยาบาลไปสู่บ้านผู้ป่วยและชุมชน จากรายงาน Philips Future Health Index 2022 report เผยว่า ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์เล็งเห็นว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ต้องหันมาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ รองจากความพึงพอใจและการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ในองค์กร การให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้กับผู้ป่วยได้

7. มุ่งเน้นที่การส่งมอบบริการทางสาธารณสุขที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันมากขึ้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านเฮลท์แคร์เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชนบท การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางบางกลุ่ม และทำให้ช่องว่างด้านสุขภาพทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุขทั้งภายในและระหว่างประเทศอาทิ อัตราการเจ็บป่วยที่สูงกว่าในบางเชื้อชาติและบางกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเป็นที่สนใจมากขึ้น ทำให้ทั่วโลกพยายามหาทางออกในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในระบบสาธารณสุข  จากการรายงาน Future Health Index 2022 report เผยว่าผู้นำในวงการเฮลท์แคร์ของสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญด้านความเท่าเทียมทางสาธารณสุขเป็นอันดับแรก

ต่อจากนี้ สังคมคาดหวังให้องค์กรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพและเป็นพันธมิตรทางด้านการเงินในการสร้างระบบสาธารณสุขที่เท่าเทียม แพลตฟอร์ม อย่าง Digital Connected Care Coalition สามารถเชื่อมต่อองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยผลักดันให้โครงการดิจิทัลเฮลท์ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับโซลูชันด้านเฮลท์แคร์เทคโนโลยีในอนาคต ต้องช่วยให้เกิดการส่งมอบด้านสาธารณสุขที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครหรืออาศัยอยู่ที่ใด เราต้องแน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งจำเป็นต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมและได้รับความร่วมมือในการให้ผู้คนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการทางนวัตกรรม และนั่นหมายถึงการรับฟังและทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางสาธารณสุขที่มีอยู่

8. การหมุนเวียน คือ กลยุทธ์ในการลดผลกระทบต่อสภาพอากาศของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข

การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและอุบัติการณ์ของโรคเรื้อรัง ทำให้โมเดลด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืนเป็นที่ต้องการอย่างมาก รวมถึงปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งอุตสาหกรรมด้านเฮลท์แคร์มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นร้อยละ 4  ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการบินหรือการขนส่งอีก และยังทำให้เกิดขยะจำนวนมากอีกด้วย ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน จึงมองหาเทคโนโลยีเฮลท์แคร์ที่สามารถช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนี้ได้

ในเทคโนโลยีเฮลท์แคร์  'การหมุนเวียน' เกี่ยวข้องกับกระบวนการเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์  แต่การประยุกต์ใช้เครื่องมือด้านสมาร์ทดิจิทัลก็ยังสามารถช่วยให้ระบบการดูแลสุขภาพสามารถลดการใช้ทรัพยากรการผลิต ' เพื่อส่งมอบประโยชน์สูงสุดโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ยกตัวอย่าง เช่น การสนับสนุนให้เปลี่ยนสิ่งอำนวยความสะดวกทางคลินิกที่ใช้ทรัพยากรมากไปสู่การใช้เครือข่ายที่เชื่อมต่อได้จากที่บ้านซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า และเทรนด์การใช้โซลูชั่นบนคลาวด์ โซลูชั่นบริการ และโซลูชั่นด้านซอฟต์แวร์นั้น จะช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรสำหรับเครื่องมือทางการแพทย์ และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่ยังเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น

9. ลดคาร์บอนในวงการเฮลท์แคร์ให้สอดคล้องกับการตั้งเป้าตามหลัก science-based

ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก และพยายามลงมือทำบางอย่างเพื่อรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว โดยบริษัทเครื่องมือแพทย์และบริษัทเทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์มีการตั้งเป้ากำหนดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามหลัก science-based

ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียได้ประกาศให้บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปต้องกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนภายในปีค.ศ. 2025 โดยมี Science Based Targets initiative (SBTi)เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนให้องค์กรต่างๆ กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซอย่างชัดเจนว่าจะสามารถลดผลกระทบได้มากและเร็วเท่าใดเพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในปีค.ศ. 2022 องค์กรมากกว่า 2,200 แห่ง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกได้ทำงานร่วมกับองค์กร SBTi

สำหรับองค์กรด้านเฮลท์แคร์ได้มีการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยการลดการใช้พลังงานทางตรงผ่านการนำเสนอเทคโนโลยีด้านด้านเฮลท์แคร์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น และทางอ้อม ด้วยการลดการปล่อยมลพิษผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

10. สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพของประชากร

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค Centers for Disease Control and Prevention (CDC) เผยว่าอุณหภูมิและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผลกระทบด้านสภาพอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพประชากรในด้านต่างๆ

บริษัทเครื่องมือแพทย์และบริษัทเทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน มลพิษ การบริโภค และการปล่อยก๊าซพิษ ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศที่ดีต่อสุขภาพของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะเห็นแนวโน้มการประยุกต์ใช้ในวงการเฮลท์แคร์ ด้านการ ‘ประเมินต้นทุนทางธรรมชาติ’ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรจากข้อมูลของ World Economic Forum พบว่าการป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติสามารถช่วยลดต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 37 ซึ่งจำเป็นภายในปีค.ศ. 2030 เพื่อรักษาภาวะโลกร้อนให้ลดลง 2 องศาเซลเซียสอีกทั้งยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...