เมื่อเกิดสถานการณ์การเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเหมือนเสาหลักด้านรายได้ของธุรกิจและประชากรของไทย เราจะเห็นว่าในหลายเดือนที่ผ่านมาผลกระทบดังกล่าวทำให้ร้านค้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องปิดตัวไป โดยเฉพาะในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลัก
หนึ่งในนั้นคือ ภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวของไทยที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามและมีความพร้อมในด้านการท่องเที่ยวจนได้รับความนิยมระดับโลก สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนจากทั้วโลกและอีกราว 4 ล้านคนในประเทศ สร้างรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท ในด้านการท่องเที่ยวภูเก็ตนั้นถูกจัดอยู่ในอันดับ3 ของประเทศ แต่นอกจากธุรกิจการท่องเที่ยวแล้ว ภูเก็ตยังมีโอกาสทางธุรกิจต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ Phuket GEMMSST (Gastronomy, Education, Medical&Wellness, Marina Hub, Sport&Events, Smart City, Tuna Hub) ที่เป็นจุดสนใจของนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนและสร้างพันธมิตรด้านธุรกิจ
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้หลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างมากในการหาทางออกของวิกฤตในครั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำรงอยู่ได้ หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย จึงได้ร่วมมือกับ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย และหอการค้าต่างประเทศ 13 หอการค้าจัด งานฟอรัมธุรกิจ Phuket SMART Link ในภูเก็ต ตลอด 2 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2563 เพื่อนำเสนอภูเก็ต ในฐานะที่เป็น “business leisure destination” แก่กลุ่มนักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทย ตลอดจนสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจต่างชาติและรวบรวมนักธุรกิจ Startup นักลงทุน บุคลากรจากทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มารวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิด และค้นหาแนวทางร่วมกันในฟื้นฟูธุรกิจและพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เติบโตต่อไป
ภายในงานฟอรัมธุรกิจ Phuket SMART Link มีรูปแบบการจัดงานที่ประกอบไปด้วย การจัดเยี่ยมชมสถานประกอบการในภูเก็ต, การจัด Start-up Business Pitching และ mini showcase, การจัด Business Networking, การจัด SMART Inspiration Talks, กิจกรรมท่องเที่ยวในภูเก็ต และการสังสรรค์รับประทานอาหารเย็น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยเน้นการถ่ายทอดเรื่องราวกิจกรรมต่างๆ ให้เห็นถึงความเป็นภูเก็ตผ่านคำว่า SMART ที่มาจาก Services, MICE, Arts&Culture, Revitalization, Tourism เเกนสำคัญในการสร้างโมเดลทางธุรกิจปรับโฉมภูเก็ตสู่พื้นที่การลงทุนในระดับนานาชาติที่มีครบทุกมิติและไม่ได้มีดีเเค่การท่องเที่ยวเท่านั้น
วันแรกของการเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นการร่วมกิจกรรมตลอดทั้งวันโดยเเบ่งออกเป็นช่วงเช้า ,ช่วงบ่าย และช่วงเย็น สิ่งที่น่าสนใจของ งานฟอรัมธุรกิจ Phuket SMART Link มีดังนี้
ช่วงเช้าผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสไปรับฟังการบรรยายจากทีมงานบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ที่ได้เข้ามาบรรยายถึงความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้ในการผลักดัน Phuket ให้กลายเป็น Smart City ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของเมืองผ่านโครงการ City Data Platform โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย อาทิเช่น ระบบน้ำ ความหนาแน่นของอาคาร ความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว ประเภทของโรงแรมในพื้นที่ ฯลฯ เพื่อเอาไปใช้วิเคราะห์และสนับสนุนหน่วยงานอื่นที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนา Smart City ต่อไป
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของกิจกรรมวันเเรกช่วงเช้า คือ การพาไปเยี่ยมชมโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ณ สะพานท่าเทียบเรืออ่าวปอที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการท่าเทียบเรือ ได้แก่ ระบบลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเล, ระบบจัดการผู้โดยสารท่าเรืออัจฉริยะ, ประตูอัตโนมัติ ณ จุดขึ้นลงเรือ พร้อม CCTV จับใบหน้า และตู้พร้อมอุปกรณ์ (Kiosk) ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเรือ
ในช่วงบ่ายผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสเข้าฟังการ Pitching จาก Startup 7 บริษัท เพื่อให้นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้เข้าร่วมได้มองหาโอกาสที่จะร่วมมือพัฒนาธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน โดย highlight ที่น่าสนใจคือ The Journee - แพลตฟอร์มมีเดียทางด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ เปรียบเสมือน “กระดานกลางดิจิตัล” ที่รวบรวมข้อมูล และคัดสรร เรื่องราว สถานที่ ประวัติศาสตร์ และของเด็ดจากท้องถิ่น ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เพื่อนำมายกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่ระดับสากลที่พรีเมี่ยมและพัฒนาเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ โดยการสร้างวิธีการเล่าแบบใหม่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ช่วยสร้างคุณภาพและเพิ่มช่องทางการขายของผู้ประกอบการและชุมชนในท้องถิ่น ให้เป็นการท่องเที่ยวที่ "ทำน้อยแต่ได้มาก" และยั่งยืนในยุค 4.0 และ ทีม FlowPay เป็นโครงการนำร่องระบบจัดการท่าเรืออัจฉริยะที่อ่าวปอ เพื่อติดตาม และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น Automatic Kiosk หรือ Smart Watch ซึ่งเขาว่ากันว่าความสะดวกสบาย ความแม่นยำ และความปลอดภัยเทียบเท่ากับระบบที่ใช้ในสนามบินเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ Phuket Smart Living เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อวางแนวทางในการสร้างเมืองน่าอยู่เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนไปด้วยกัน ผ่านการแชร์ Case Studies และผลงานที่ผ่านมาต่าง ๆ จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิเช่นตัวแทนจาก Loxley และ PKCD ที่นำเสนอโครงการ ภูเก็ต สมาร์ท บัส รถบัสอัจฉริยะที่สามารถ ชำระค่าบริการผ่านบัตร Rabbit x Phuket Smartcard มีระบบGPSติดตามรถ อินเตอร์เน็ตไร้สาย(wifi) ช่องเสียบยูเอสบีทุกที่นั่ง ลิฟต์สำหรับให้บริการผู้โดยสารที่ใช้ วีลแชร์ และการวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้อย่างสะดวกสบายผ่านระบบออนไลน์
กิจกรรมในช่วงเย็นของวันเเรกเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รู้จักกันและหาแนวทางในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคตเพื่อสร้างเครือข่าย (Business Matching) โดยมีนักธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งท้องถิ่นและที่มาจากจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมมากมาย
วันที่สองของการเข้าร่วมกิจกรรมไฮไลท์สำคัญของวันนี้คงต้องยกให้การเสวนา ทำความเข้าใจถึงภาพรวมธุรกิจ ปัญหา และโอกาสในแต่ละ Industry ที่เกี่ยวกับ SMART
ในช่วงเช้าได้มีการแบ่งห้องสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ อาทิเช่น Work from the Andaman, Hospitality & Wellness, Smart City / Mobility, Smart MICE โดยมีการเอา Case Studies ต่างๆ เข้ามาให้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างของบริษัท Startup ที่เข้ามาตั้งบริษัทอยู่ที่ Phuket ซึ่งได้รับความสะดวกสบายต่างๆ เพราะที่นี้ก็มีออฟฟิศของหน่วยงาน depa ตั้งอยู่ หรือกรณีศึกษาของการพัฒนาเมือง Smart City ของประเทศฝรั่งเศส ที่มีหลายๆ อย่างที่น่าจะนำมาใช้กับเมืองภูเก็ตได้
งานครั้งนี้นับได้ว่าเป็นนิมิตหมายสำคัญของการร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น และเป็นหนึ่งในตัวช่วงสำคัญในการฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจใน ภูเก็ต ให้กลับมาสร้างรายได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นผ่านการขยายความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจต่างชาติ ผู้ประกอบการท้องถิ่น สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด