นวัตกรรมเพื่อมองเห็นอนาคตและเข้าถึงสังคม: TIJ ร่วมกับ Thailand Policy Lab ส่งต่อความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับผู้สอนในมหาวิทยาลัย | Techsauce

นวัตกรรมเพื่อมองเห็นอนาคตและเข้าถึงสังคม: TIJ ร่วมกับ Thailand Policy Lab ส่งต่อความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับผู้สอนในมหาวิทยาลัย

ในยุคโควิด-19 ที่โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ‘นวัตกรรม’ ได้ถูกหลายภาคส่วนดึงมาใช้เพื่อคิดและมองไปยังอนาคต และค้นคิดวิธีการแก้ปัญหาหรือนโยบายที่ตอบโจทย์ ครอบคลุม และเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

‘นวัตกรรม’ ไม่ใช่แค่เพียงเทคโนโลยี แต่นวัตกรรมคือไอเดีย กรอบความคิด จนถึงวิธีการและเครื่องมือใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทำให้เราแก้ปัญหา หรือก้าวผ่านความท้าทายได้ดีขึ้น

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice) ร่วมกับ Thailand Policy Lab ความริเริ่มด้านห้องปฏิบัติการด้านนโยบาย ซึ่งก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดกิจกรรม “ส่งต่อความรู้ด้านนวัตกรรม: การฝึกอบรมเครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายและความยุติธรรมสำหรับผู้สอน” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านนวัตกรรม จนถึงแนวคิดและวิธีการสอนระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้อาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยส่งต่อความรู้และทักษะไปยังนักศึกษา และส่งผลให้เกิดสังคมแห่งนวัตกรขึ้นในประเทศไทย

ภายในกิจกรรม คุณสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาประจำสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ถ่ายทอดมุมมองในฐานะคนที่ทำงานด้านนโยบายมาหลายปีว่ากระบวนการออกแบบและสร้างนโยบายจำเป็นมีส่วนร่วมจากสาธารณชน เพื่อให้ได้นโยบายที่เข้าใจผู้ที่ประสบปัญหาอย่างแท้จริง 

ขณะที่คุณเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ตอกย้ำให้ประเทศไทยต้องเข้าใจว่านโยบายอะไรที่ประเทศต้องการ และจะสร้างนโยบายให้แก้ไขปัญหาที่เยาวชนเผชิญได้อย่างไร เช่นเดียวกับคุณอณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการประจำสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ที่เน้นย้ำการเข้าใจบริบทของสังคม เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนโยบายและด้านยุติธรรมสามารถปรับตัวทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป 

‘นวัตกรรมกับด้านความยุติธรรมและนโยบาย เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น’ 

ในกิจกรรมส่งต่อความรู้ครั้งนี้ สถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทยและ Thailand Policy Lab ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมจากหลากหลายสาขามาแบ่งปันความรู้  

ในด้านของความยุติธรรมและนโยบาย คุณปริชา ดวงทวีทรัพย์ อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้นำนวัตกรรมอย่างกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการคิดเชิงอนาคต (Future Thinking) มาใช้กับการมองเรื่องความยุติธรรมให้เข้าใจบริบทของปัญหาอย่างลึกซึ้งขึ้น และให้ผู้ออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาไม่นำตัวเองเป็นศูนย์กลางของปัญหา ไปจนถึงการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้คนที่ทำงานด้านยุติธรรมหรือด้านที่เกี่ยวข้องสามารถปรับตัวได้ทัน 

ขณะที่ด้านของการออกแบบนโยบาย ซึ่งเป็นงานหลักของ Thailand Policy Lab ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการคิดเชิงระบบ (System Thinking) มาปรับใช้ให้นักศึกษาหรือผู้ออกแบบนโยบายสามารถถอดความเข้าใจของปัญหาได้ในเชิงระบบ ก่อนจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายได้อย่างครอบคลุม เช่นเดียวกับผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุศบงก์ รองผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มองว่าในโลกปัจจุบัน ทุกคนสามารถเป็นผู้ออกแบบนโยบายได้ (Policy Designer) อีกทั้งนำเสนอว่า การออกแบบนโยบายควรเป็นมากกว่าแค่การระบุปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา แต่ต้องเป็นนโยบายที่จุดประกายความหวังและต่อสู้กับความกลัวได้ 

ซึ่งการนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับความยุติธรรมและการออกแบบนโยบาย นอกจากจะช่วยให้เข้าใจปัญหาได้อย่างครอบคลุมแล้ว ยังช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบายและผู้ทำงานด้านความยุติธรรมสามารถออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างเข้าอกเข้าใจผู้ที่ประสบปัญหาอยู่ได้อย่างลึกซึ้ง 

 ‘การคิดและมองเห็นอนาคต เพื่อรับมือกับปัญหาอย่างเท่าทัน’ 

ในกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่ถูกนำมาแลกเปลี่ยนแล้ว การคาดการณ์อนาคต (Foresight) เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในหลากหลายสาขาวิชา ตั้งแต่การการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ จนถึงการออกแบบและพัฒนาเมือง 

ในสาขาวิชาการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ผศ.ดร.สิพิมพ์ ศรบัลลังก์ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และคุณวศิน ปั้นทอง อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเครื่องมืออย่างการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศออกมาเป็นหลายๆ สถานการณ์ เพื่อให้นักศึกษาที่ต่อไปอาจเป็นผู้ทำงานในสายนี้สามารถออกแบบนโยบายที่เท่าทันอนาคต 

ขณะที่ในด้านการออกแบบและพัฒนาเมืองคุณว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาใช้ควบคู่กับการจำลองบุคลิกลักษณะ (Persona) ของผู้ใช้นโยบาย หรือคนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในเมือง เพื่อให้เข้าใจพลวัตของเมืองมากขึ้นว่าคนแต่กลุ่มมีความคาดหวัง หรือเผชิญกับปัญหาแตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะออกแบบและพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ 

 ‘ธุรกิจในยุค New Normal ต้องมีแผนระยะยาว’ 

นอกจากภาคสังคมและนโยบายแล้ว ผศ.ดร.กุลเชษฐ์ มงคล อาจารย์คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ได้พูดถึงความจำเป็นของการการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ในภาคธุรกิจว่า ผู้บริหารยุคใหม่ไม่สามารถวางแผนธุรกิจแค่เพียง 2-3 ปีได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องมีแผนระยะสั้น กลาง และยาว และต้องมองไกลกว่าแค่เรื่องของบริษัทตัวเอง แต่จำเป็นต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อมีแผนธุรกิจที่รัดกุมและรอบคอบ โดยผู้บริหารสามารถวางแผนธุรกิจที่ตั้งอยู่บนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) ซึ่งผศ.ดร.กุลเชษฐ์ ได้นำเสนอ 5 มิติที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นฐานในการมองความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ 1.สังคมและวัฒนธรรม 2.เทคโนโลยี  3.เศรษฐกิจ 4.สิ่งแวดล้อม และ 5.การเมืองและกฎหมาย 

 ‘ไอเดียที่ดี คือไอเดียที่ทำ เพราะการทดลองคือสิ่งสำคัญ’ 

เมื่อนวัตกรรมคือไอเดีย กรอบความคิด หรือวิธีการใหม่ๆ ดังนั้นนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งที่อาจไม่มีใครเคยนำมาใช้ ความผิดพลาดในการนำนวัตกรรมมาใช้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่คุณญัฐพล ราธี Head of Experimentation ของ Accelerator Lab ประจำโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประเทศไทย (UNDP Thailand) ได้เสนอมุมมองในกิจกรรมส่งต่อความรู้ว่า ในการลองทำสิ่งใหม่ๆ นั้น การทดลองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้เรารู้โดยเร็วที่สุดว่าไอเดียของเราใช้ได้จริงหรือไม่ ดังนั้นนวัตกรไม่ควรกลัวผิดในการลองใช้ไอเดียใหม่ๆ เพราะสิ่งที่สำคัญคือกระบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับไอเดียใหม่ๆ ให้ใช้ได้จริง 

คุณณัฐพลมองว่า การทดลองยังสำคัญกับคนทำธุรกิจ Start-Up เพราะว่าธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมักมีแผนการที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องดำเนินธุรกิจอย่างไร แต่คนทำ Start-Up ที่ตั้งใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการทดลองไอเดียเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด 

นอกจากนี้คุณณัฐพลยังพูดถึงในมิติการทำนโยบายหรือการคิดค้นแนวทางการแก้ปัญหาว่า บางครั้งแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีอาจไม่ได้มาจากหน่วยงานที่กำหนดนโยบายเท่านั้น แต่หลายๆ ครั้งคนในชุมชนเองมีแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ใช้กันอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่านวัตกรรมจากรากหญ้า (Grassroots Innovation) ที่คนออกแบบนโยบายจำเป็นต้องเข้าไปสำรวจและทำความเข้าใจนวัตกรรมในพื้นที่ด้วย 

สถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และ Thailand Policy Lab ต้องการจะจัดกิจกรรมส่งต่อความรู้ด้านนวัตกรรมอีกเรื่อยๆ เพื่อทำให้เกิดสังคมแห่งนวัตกรขึ้นในประเทศไทย หากสถาบัน องค์กร หรือท่านใดสนใจความรู้เกี่ยวกับด้านนวัตกรรมและนโยบาย สามารถติดต่อ Thailand Policy Lab ได้ทาง [email protected] 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...