รับ Pride Month เครือ CP จับมือ พันธมิตร ปลุกเสียงแห่งความเท่าเทียม 'Beyond Gender For A Better Tomorrow' ข้ามขีดจำกัดทางเพศ | Techsauce

รับ Pride Month เครือ CP จับมือ พันธมิตร ปลุกเสียงแห่งความเท่าเทียม 'Beyond Gender For A Better Tomorrow' ข้ามขีดจำกัดทางเพศ

เมื่อเริ่มต้นเดือน 'มิถุนายน' หลายคนคงจะนึกถึงระยะเวลาที่ล่วงเลยมาจนถึงครึ่งปี แต่ยังมีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งนั่นก็คือเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง 'Pride Month' หรือ เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่มองไปทางไหนก็จะเห็นสีรุ้งทุกแห่งหน สะท้อนถึง 'เสียงแห่งความเท่าเทียม' 

Pride Month

ทำไมต้อง 'สีรุ้ง'

โดย 'สีรุ้ง' (Rainbow) ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ Pride Month นั้น ก่อกำเนิดโดย กิลเบิร์ต เบเคอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ผู้ออกแบบธงสีรุ้งโดยมีแนวคิดว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศ ควรมีธงเป็นของตัวเอง และเหตุผลที่เลือกใช้สีรุ้งเพราะต้องการสะท้อนความหลากหลายของชุมชนคนหลากหลายทางเพศ ธงสีรุ้งถูกเปิดตัวในฐานะสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1978 โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

  • สีแดง หมายถึง การต่อสู้ หรือชีวิตของมนุษย์
  • สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
  • สีเหลือง หมายถึง พระอาทิตย์ที่ส่องแสงเจิดจ้า
  • สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติคือชีวิต
  • สีฟ้า หรือสีคราม หมายถึง ศิลปะ และความผสานกลมกลืน
  • สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณของชาว LGBTQ

ดังนั้นเรามักจะได้เห็นเทศกาลเฉลิมฉลอง และขบวนพาเหรดตามท้องถนนมากมายทั่วโลก เต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังมีความสุขกับการได้แสดงออกและเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ พร้อมกับธงสีรุ้งที่โบกสะบัดไปมาอย่างสง่างาม

เส้นทางการต่อสู้ของเหล่า LGBTQ+ เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในการเป็นตัวของตัวเอง

โดยจริง ๆ แล้ว กลุ่มความหลากหลายทางเพศมีมาทุกยุคทุกสมัยในสังคม เพียงแต่ถูก filter ไม่ให้มองเห็นพวกเขาเท่านั้นเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าขัดกับความเป็นชาย-หญิง ที่คนในสังคมกระแสหลักยึดถือกัน แต่ไม่ว่าสังคมจะกีดกันให้พวกเขากลายเป็นชายขอบมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถที่จะลบคำว่า LGBTQ+ ออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ได้ 

ซึ่งเส้นทางของบรรดา LGBTQ+ นั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องฟันฝ่ากับอุปสรรคทั้งการตีตราจากสังคมสมัยเก่า กฎหมายที่อาจยังไม่ได้รับการยอมรับซะทีเดียว รวมทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานที่ยังไม่เปิดกว้างเฉกเช่นเพศอื่น แต่ก็ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นกำแพงที่ไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะเห็นหลากหลายองค์กร และหลายภาคส่วนหันมาขับเคลื่อน 'ความเท่าเทียมทางเพศ' กันมากขึ้น 

CP ดัน 'Beyond Gender For A Better Tomorrow' ข้ามขีดจำกัดทางเพศ เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เช่นเดียวกันกับ เครือ CP ที่ได้ผนึก ตัวแทนประชาสังคม ศิลปินชื่อดัง ร่วมสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดเวที “CP เพื่อความยั่งยืน Beyond Gender For A Better Tomorrow ข้ามขีดจำกัดทางเพศ เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” โดยเป็นการสานต่อกิจกรรม Pride Month ปีที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ รวมถึงสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ขับเคลื่อนกิจกรรม Pride Month อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน 'World Pride' ให้ได้ภายในปี 2028 เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

สร้าง 'ความเท่าเทียม' จากทัศนคติก่อนเป็นอันดับแรก 

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพีในฐานะที่ดำเนินธุรกิจในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมครอบคลุม 22 ประเทศทั่วโลก มีผู้บริหารและพนักงานกว่า 4 แสนคน ทำให้มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอายุ เชื้อชาติ ศาสนา รวมไปถึงเพศสภาพ  ซึ่งเครือฯ ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศมาตลอดการดำเนินธุรกิจ  จึงได้มีการประกาศให้นโยบายด้าน “สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ” ไม่จำกัดเพศในที่ทำงาน ให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญของเครือซีพีสู่ปี 2030 

โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นการกิจกรรม Pride Month ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ถือเป็นจุดเริ่มต้น ในการสร้างความตระหนักรู้ สร้างทัศนคติที่ดีในการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 5 Gender Equality หรือความเท่าเทียมทางเพศ  

ดร.ธีระพล  กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือซีพีได้มีการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้าน Diversity and Inclusion (D&I) สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างในการอยู่ร่วมกันให้กับบริษัทในเครือฯ  ซึ่งองค์กรเน้นย้ำเรื่องการสนับสนุนการจ้างงานและการปฏิบัติงานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยมองถึงศักยภาพของพนักงานมากกว่าเรื่องเพศสภาพ  

Pride Month

#เท่าเทียมที่แท้ทรู

ในปีที่ผ่านมามีการเพิ่มสัดส่วนของผู้บริหารและพนักงานผู้หญิงมากขึ้น  รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเท่าเทียม ปลอดภัย และเปิดกว้างให้กับเพื่อนร่วมงาน LGBTQ+  อาทิ กลุ่มทรู  ได้มีการจัดทำแคมเปญ #เท่าเทียมที่แท้ทรู ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok นอกจากนี้ยังนำร่องจัดทำห้องน้ำเสมอภาคในแนวคิด Multi Gender Bathroom Universal Design ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาตึกทรู คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ เป็นต้น 

“เครือซีพีพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย เราต้องเริ่มต้นจากการสร้างทัศนคติที่ดี สร้างความเข้าใจให้คนในสังคม ซึ่งเครือซีพีไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ต้องได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นความความหลากหลายทางเพศตามหลักสิทธิมนุษยชนให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง กิจกรรม Pride Month ในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความตระหนักรู้ สร้างแรงกระเพื่อมในการร่วมผลักดันเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมทางเพศไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”

ด้าน คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีให้ความสำคัญในนโยบายสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในเครือมาโดยตลอด นอกเหนือจากการออกประกาศนโยบายที่ชัดเจนแล้ว ทางเครือซีพีได้มีการเปิดโอกาสให้พนักงานในกลุ่ม  LGBTQ+ รวมไปถึงทุกเพศสภาพ และกลุ่มผู้พิการได้นำความสามารถและศักยภาพมาใช้ในการทำงานเพื่อให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพ 

"เรามีการเปิดช่องทางรับฟังเสียงของพนักงานทุกกลุ่ม พร้อมเปิดกว้างให้มีการจัดตั้งชมรมกลุ่ม  LGBTQ+ จากพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจในการยอมรับความหลากหลาย ไปจนถึงการสร้างเกิดความเท่าเทียมในองค์กร การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เราทำได้ ซึ่งหวังว่าจะเป็นพลังที่จะทำให้ประเทศไทยไปสู่การเปิดพื้นที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น"

ทั้งนี้ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองของกลุ่ม LGBTQ+ ประเทศไทยในประเด็น “Beyond Gender For A Better Tomorrow ข้ามขีดจำกัดทางเพศ...เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า!”  ซึ่งมีการแชร์มุมมองที่หลากหลายในการแสดงออกและเรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ ของกลุ่ม LGBTQ+   

โลกของ LGBTQ+ ที่สดใสขึ้นกว่าเดิม

หนึ่งในนั้นคือ คุณวัชราวิทย์ วราภัทรนนญ์ ผู้จัดการฝ่ายสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมความเท่าเทียม สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า เมื่ออดีตการแสดงออกของกลุ่ม LGBTQ+ ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ ต่อมาจึงเกิดการออกมาเรียกร้อง รณรงค์ สร้างการรับรู้มากขึ้นถึงสิทธิการยอมรับในสังคม ทำให้ในปัจจุบันทิศทางของการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดทางด้านสิทธิและหน้าที่อยู่ในบางเรื่อง เช่น ข้อจำกัดในการสมัครงานในบางหน่วยงานยังไม่เปิดพื้นที่ เราพยายามต่อสู้และเรียกร้องให้มีกฎหมายรับรองสิทธิและหน้าที่ของกลุ่ม LGBTQ+ ใน 3 เรื่องหลักคือ 

1.พ.ร.บ ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ

2.กฎหมายรับรองเพศสภาพ 

3.กฎหมายสมรสเท่าเทียม 

ทั้งนี้การจัดกิจกรรมของเครือฯ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดโอกาสให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า กลุ่มเรามีพื้นที่มีสถานะที่เป็นคนเท่ากันเหมือนกับคนอื่นมากขึ้น ไม่ต้องเพียงแค่เป็นเทรนด์ของโลก แต่มีนโยบายยอมรับความแตกต่างและหลากหลายในองค์กรที่เห็นเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง หวังว่าทุกภาคส่วนจะมาร่วมผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคมไทย

อีกทั้ง เรามองว่าการที่เราจะขับเคลื่อนจะดูความสำเร็จเป็นปีไม่ได้ เราต้องดูว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือคนที่มีมาร่วมกับเราเข้าใจมากแค่ไหน และสร้างอิมแพคได้อย่างไร เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราไม่อยากเห็นว่าเป็นแค่เทรนด์ หรือ เทศกาล แต่อยากให้เห็นความต่อเนื่อง และเกิดการทำอย่างจริงจัง 

เราไม่อยากเห็นว่าเป็นแค่เทรนด์ หรือ เทศกาล แต่อยากให้เห็นความต่อเนื่อง และเกิดการทำอย่างจริงจัง

ขณะที่ คุณธนษิต จตุรภุช ศิลปินและตัวแทนกลุ่ม LGBTQ+  ได้ให้ความเห็นในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยว่า ในปัจจุบันสังคมไทยเปิดโอกาสและพื้นที่ให้กลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น แต่ถ้าจะดีกว่านี้ หากเราได้มีการรับรองร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับเช่นเดียวกับเพศชายและหญิง ทั้งเรื่องสิทธิและสวัสดิการ เข่น การมีสิทธิเซ็นยินยอมตอนผ่าตัดได้ การจัดการเรื่องมรดก การจัดงานกิจกรรมครั้งนี้ของเครือซีพี เป็นกิจกรรมที่ช่วยผลักดันให้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้และเกียรติยอมรับในความหลากหลายมากขึ้น 

"เรามองถึง Basic Human Life ซึ่งมันจะดีกว่านี้มาก ๆ ถ้ามีกฎหมายรองรับ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครในฐานะมนุษย์คนนึงเราควรจะได้สิทธิในการสมรส ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของ Emotion แต่เป็นเรื่องของสิทธิทางด้านกฎหมายที่เราพึงจะได้รับ ขณะที่ความเข้าใจ และมุมมองที่มีต่อ LGBTQ+ อยากให้มีความเข้าใจที่มากกว่านี้ อย่างเช่นในวงการบันเทิงอยากให้มอง LGBTQ+ ในมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น

นโยบายในเครือ CP มีการรองรับอย่างไรบ้าง ?

ด้าน คุณกฤษฎิ์ คงธนดารากร รองกรรมการผู้จัดการ ด้านสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรบุคคล และประธานชมรม LGBTQ+ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ในฐานะพนักงานของเครือซีพีมองว่า เครือซีพีได้ให้ความสำคัญ และเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เริ่มต้นการรับคนเข้าทำงาน เรามีนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่กีดกัน โดยให้โอกาสในทุกเพศ เพราะเรามองเรื่องศักยภาพและความสามารถเป็นหลัก  เป็นการให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม 

โดยเรามีการประเมินผลการทำงานของพนักงานทุกคนที่น่าเชื่อถือและโปร่งใส  นอกจากนี้เครือฯ ยังเปิดกว้างให้พนักงานได้มีการส่งเสริมความหลากหลายและความแตกต่างในองค์กรด้วยการเปิดชมรม  LGBTQ+ นี้ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้เรามีสมาชิกกว่า 210 คน โดยกลุ่มของเราจะพยายามสร้างความตระหนักรู้ในการส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียม ทั้งการสื่อสารให้ความรู้และการจัดกิจกรรมทุกเดือน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนสนับสนุนให้สังคมเปิดกว้างเข้าใจความหลากหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง

อีกการดำเนินงานคือ จุดเริ่มต้นเรามีเรื่องของลาคลอด ปัจจุบันให้คุณพ่อสามารถลาไปช่วยดูแลครอบครัวได้ อีกทั้ง ลาทำหมัน แปลงเพศ ลาแต่งงาน โดยไม่จำกัดเพศ ด้วยเช่นกัน

ส่วนข้อเสนอแนะต่อองค์กร / สังคม : เรื่องของการขับเคลื่อนสามารถแบ่งได้ 2 หัวข้อ คือ 1.นโยบายมีอะไรที่เราจะช่วยได้บ้าง ซึ่งตรงจุดนี้เราพยายามขับเคลื่อนอยู่ 2.การสร้าง awareness เพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้เข้าใจว่าการจะเป็น LGBTQ+ หรือมีความแตกต่างในสังคม เพราะเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้นในชมรมเราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเพื่อสร้างความหลากหลายในสังคมอย่างต่อเนื่อง 

เกล็ดข้อมูล คำว่า "LGBTQ" คือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งย่อมาจาก

L - Lesbian ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน
G - Gay ผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน
B - Bisexual หรือกลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
T - Transgender คือกลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย
Q - Queer คือ กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก
I - Intersex คือกล่าวถึงผู้ที่เกิดมาพร้อมคุณสมบัติทางกายภาพของฮอร์โมนหรือพันธุรกรรมมีอวัยวะทั้งเพศชายและหญิงรวมกัน หรือภาษาไทยให้ความหมายว่า “ภาวะเพศกำกวม”
A - Asexual คือ เพศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเพศ หรือไม่รู้สึกโรแมนติก
+ (plus) - เครื่องหมายบวก คือความหลากหลายที่อาจจะมีนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น

ตัวอย่างบทความที่เกี่ยวข้อง : Pride Month เส้นทางการต่อสู้ของเหล่า LGBTQ เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในการเป็นตัวของตัวเอง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

10 Tech Event ในเอเชีย ที่สายเทคฯ ธุรกิจ ไม่ควรพลาด ปี 2024

เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง องค์กรจึงต้องหมั่นอัปเดตเทรนด์ความรู้ใหม่ ๆ วันนี้ Techsauce คัดสรร 10 งานประชุมเทคโนโลยีระดับเอเชีย ที่สายเทคไม่ควรพลาดในปี 2024 รวมไว้ในบทความเดียวก...

Responsive image

SCBX ไตรมาส 1 ปี 67 กำไร 11,281 ล้านบาท เตรียมลุย 'Virtual Bank' พร้อมก้าวสู่องค์กร AI-First Organization

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน...

Responsive image

เปิดตัว Meta AI ใหม่ ถามได้ทุกเรื่อง สร้างภาพได้ทุกอย่าง ใช้ได้ทุกแอปฯ​ โซเชียลของ Meta

สำหรับ Meta AI เป็นแชทบอทที่เคยเปิดตัวให้เห็นครั้งแรกในงาน Connect 2023 ขับเคลื่อนด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) อย่าง Llama 2 แต่ล่าสุดได้มีการอัปเกรดไปใช้โมเดลภาษาใหม่ Llama 3...