ปตท. จับมือ NRF ร่วมทุน ลุยธุรกิจ Plant-Based Food | Techsauce

ปตท. จับมือ NRF ร่วมทุน ลุยธุรกิจ Plant-Based Food

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) มีมติเห็นชอบจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100%) และ บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด (บริษัทย่อยที่ NRF ถือหุ้น 100%) ในสัดส่วนการถือหุ้นที่เท่ากันบริษัทละ 50% เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชแบบครบวงจร ตั้งเป้าจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่แล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2564 ด้วยทุนจดทะเบียนประมาณ 300 ล้านบาท พร้อมจัดตั้งโรงงานผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนำเข้าชั้นสูงในไทย ด้วยกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี รวมไปถึงการพัฒนาร้านค้าต้นแบบ คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2565 

PTT x NRF

ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) ผลิตจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการแปรรูปสมัยใหม่มาพัฒนารสชาติ รูปลักษณ์ กลิ่น และผิวสัมผัสให้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า “โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งในเด็ก วัยทำงาน ผู้สูงวัย ตลอดจนผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพต้องการโปรตีนในรูปแบบและปริมาณที่เหมาะสมไม่เหมือนกัน การลงทุนในครั้งนี้จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการดูแลสุขภาพ และเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเข้าสู่ธุรกิจอาหารเพื่อโภชนาการ และโภชนเภสัช ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่อินโนบิก (เอเชีย) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ นอกเหนือจากการดูแลรักษาสุขภาพแล้วยังเป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนในธุรกิจใหม่ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) ของ ปตท.”

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) และประธานกรรมการบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า “การร่วมทุนในครั้งนี้ถือเป็นการรองรับโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของ NRF และถือเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมธุรกิจผลิตภัณฑ์ด้านอาหารโปรตีนจากพืช ปัจจุบัน NRF เตรียมขยายกำลังการผลิตเพื่อพร้อมรองรับการผลิตอาหารที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต ทำให้เกิดการประหยัดต่อหน่วย ลดต้นทุนการผลิตต่อชิ้น เพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น ทั้งนี้ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ด้านอาหารโปรตีนจากพืชในไทยมีโอกาสสร้างอัตรากำไรที่ดีขึ้นและมีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดจากเดิมที่ 2-10% ไปสู่ระดับ 10-35% และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะระดับ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ซึ่งเชื่อว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกในระดับโลก”

อินโนบิก (เอเซีย) และ โนฟ ฟู้ดส์ เชื่อมั่นว่าการร่วมทุนเพื่อรุกตลาดกระแสสุขภาพและความยั่งยืนด้านอาหารของโลกในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นไปสู่ความร่วมมือการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับโปรตีนชนิดใหม่ๆ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านอาหารในอนาคต  ซึ่งจะทดแทนการทำปศุสัตว์ โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำในการพัฒนาธุรกิจนี้ของภูมิภาคร่วมกัน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรกรรมของไทยโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนการสร้าง New S-Curve ของประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SIAM.AI ใช้โครงสร้างไอทีของ DELL ติดอาวุธคนไทยเก่งปัญญาประดิษฐ์ 30,000 คนในปีเดียว

บริษัท สยาม เอไอ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการ SIAM.AI Cloud ร่วมมือกับ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศไทย...

Responsive image

เมื่อบิ๊กเทคฯ รวมตัวในพิธี Trump ทรัพย์สินรวมกันทะลุ 44 ล้านล้านบาท

พิธีสาบานตนของ Donald Trump ไม่ได้เป็นแค่เหตุการณ์ทางการเมืองธรรมดา แต่ยังเป็นเวทีรวมตัวของผู้นำ Big Tech อย่าง Elon Musk, Jeff Bezos และ Mark Zuckerberg ที่สะท้อนบทบาทสำคัญของเทคโ...

Responsive image

เวียดนามเดินหน้าแผนลดภาษี หวังดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าตลาดหุ้น

เวียดนามเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มุ่งเน้นดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดหุ้น ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อเสริมสภาพคล่องและผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ...