ปตท.สผ. ทุ่ม 2,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติ ประเทศโอมาน ต่อยอดโอกาสการลงทุนในตะวันออกกลาง | Techsauce

ปตท.สผ. ทุ่ม 2,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติ ประเทศโอมาน ต่อยอดโอกาสการลงทุนในตะวันออกกลาง


บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เข้าร่วมทุนร้อยละ 20 ในแปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน สามารถเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมได้ทันทีและสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับบริษัท รวมทั้ง ยังเป็นการต่อยอดโอกาสการลงทุนในอนาคตของ PTTEP ในตะวันออกกลาง 

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า บริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย (Share Purchase Agreement หรือ SPA) เพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 20 ในแปลง 61 ในประเทศโอมาน จากบริษัท บีพี เอ็กซ์พลอเรชั่น (เอปซิลอน) จำกัด (BP Exploration (Epsilon) Limited หรือ บีพี) เป็นมูลค่า 2,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) โดยจะมีการปรับมูลค่าและเงินทุนหมุนเวียนตามเงื่อนไขใน SPA ทั้งนี้ มูลค่าดังกล่าว ยังไม่รวมมูลค่าเพิ่มเติมอีก 140 ล้านดอลลาร์ สรอ. หากบริษัทบีพีสามารถบรรลุการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขาย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2564 โดย ปตท.สผ. จะใช้เงินสดที่มีอยู่ (Cash on Hand) ในการซื้อสัดส่วนการลงทุนครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะมีผลสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลโอมาน 

PTTEP ต่อยอดการลงทุนในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ แปลง 61 เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่ที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติถึงประมาณร้อยละ 35 ของประเทศ นับเป็นแหล่งก๊าซฯ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับตลาดก๊าซฯ ของโอมาน  ซึ่งการเข้าร่วมทุนครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและเพิ่มปริมาณการขายให้กับบริษัทได้ทันที รวมทั้งเปิดโอกาสให้ ปตท.สผ. ได้มีส่วนร่วมพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพในประเทศโอมานร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันระดับโลก 

“ก่อนหน้านี้ ในปี 2562 ปตท.สผ. ได้เข้าไปลงทุนในโครงการพีดีโอ (แปลง 6) ซึ่งเป็นโครงการผลิตน้ำมันดิบบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโอมาน และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแอลเอ็นจี ซึ่งการเข้าไปลงทุนในแปลง 61 นี้ ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ ก็ถูกป้อนเข้าสู่โครงการโอมาน แอลเอ็นจี ที่ ปตท.สผ.ได้ร่วมทุนอยู่ สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพ อีกทั้ง ยังเป็นการต่อยอดการลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซ (Gas Value Chain) ของบริษัท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว และที่สำคัญยังเป็นการเสริมสร้างฐานการลงทุนและโอกาสการลงทุนของ ปตท.สผ. ในอนาคตในภูมิภาคตะวันออกกลางได้เป็นอย่างดี” นายพงศธร กล่าวเพิ่มเติม        

สำหรับ แปลง 61 ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศโอมาน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,950 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งคาห์ซซาน (Khazzan) ซึ่งเริ่มผลิตในปี 2560 และแหล่งกาห์เซียร์ (Ghazeer) เริ่มผลิตในเดือนตุลาคม 2563 โดยมีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกัน ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) และคอนเดนเสท มากกว่า 65,000  บาร์เรลต่อวัน ซึ่งแปลงดังกล่าวสามารถพัฒนาแหล่งก๊าซรวมโดยได้ถึง 10.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (TCF) 

หากการดำเนินการซื้อขายเสร็จสิ้น บีพี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ จะมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 40 บริษัท โอคิว (OQ) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติโอมาน ร้อยละ 30, พีทีทีอีพี มีนา ร้อยละ 20 และบริษัท พีซี โอมาน เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปิโตรนาส (PETRONAS) ร้อยละ 10 

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนในประเทศโอมาน ทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) และธุรกิจขั้นกลาง (Midstream) ได้แก่ โครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการมุคไคซนา (แปลง 53) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ โครงการโอมาน ออนชอร์ แปลง 12 และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในโอมาน 




















ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

YouTube Shorts ยกระดับวิดีโอสั้น เพิ่มความยาววิดีโอสูงสุดเป็น 3 นาที พร้อมฟีเจอร์ใหม่ เริ่ม 15 ตุลาคมนี้

YouTube Shorts กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสร้างคอนเทนต์วิดีโอสั้น โดยเตรียมเพิ่มความยาวสูงสุดของวิดีโอจาก 60 วินาที เป็น 3 นาที นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้...

Responsive image

โดรนบุก! Silicon Valley เปิดตัวขนส่งสุดล้ำ ส่งตรงถึงบ้านด้วยระบบอัตโนมัติ

Matternet ผู้นำด้านเทคโนโลยีโดรน สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ด้วยการเปิดตัวบริการส่งของด้วยโดรนในซิลิคอนวัลเลย์ใครจะเชื่อว่าภาพยนตร์ไซไฟที่เราเคยดูจะกลายเป็นจริง เมื่อโดรนเริ่มส่งของถึงบ้า...

Responsive image

เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” นำร่อง จุฬาฯ - มจพ. - สจล. เริ่มเรียนปีการศึกษา 2568

เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย โดยจะเริ่มเรียนในปีการศึกษา 2568 นี้ มีสถาบันนำร่องถึง 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาฯ, มจพ. และ สจล....