10 ปัจจัยหนุนประเทศในภูมิภาคอาเซียน รับมือกับความผันผวนของตลาดในอนาคต | Techsauce

10 ปัจจัยหนุนประเทศในภูมิภาคอาเซียน รับมือกับความผันผวนของตลาดในอนาคต

รายงาน Quarterly Global Outlook ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของธนาคารยูโอบี เผย 10 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศในอาเซียนสามารถรับมือความผันผวนของตลาดในอนาคต

 ปี 2565 ถูกรุมเร้าด้วยผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 ความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน การหยุดชะงักของอุปทานในกลุ่มพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราเงินเฟ้อสูงในรอบหลายทศวรรษทั่วโลก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเฟดและธนาคารกลางอื่นๆ และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถต้านทานความผันผวนของตลาดการเงินในปี 2565ไว้ได้ 

รายงานของยูโอบี ได้สรุป 10 ปัจจัยสำคัญที่สะท้อนความยืดหยุ่นของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับความผันผวนของตลาดตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการรับมือกับความผันผวนของตลาดในอนาคตด้วยเช่นกัน 

  1. เศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 2-3 ของปี 2565 จากการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมาเลเซียมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนในไตรมาส 3 ปี 2565

  2. ผลผลิตของประเทศในอาเซียน (ยกเว้นประเทศไทย) กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิดแล้ว จากอุปสงค์การส่งออกและการเปิดเศรษฐกิจใหม่ที่กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ

  3. การค้าในอาเซียนยังแข็งแกร่ง โดยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ผู้ส่งออกและภาคการผลิตในอาเซียนเป็นผู้ได้ประโยชน์หลัก แต่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอุปสงค์ทั่วโลกคาดว่าจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและกิจกรรมทางธุรกิจ

  4. การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ในอาเซียนอีกครั้งตั้งแต่กลางปี 2565 ทำให้อาเซียนฟื้นตัวเร็วขึ้นจากกระแสนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและตลาดภาคบริการที่ดีดตัวขึ้น ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะเป็นเสาหลักสำหรับเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2566 และเมื่อจีนผ่อนคลายนโยบายปลอดโควิดและเปิดพรมแดนอีกครั้งจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้การท่องเที่ยวในอาเซียนฟื้นตัว

  5. อัตราเงินเฟ้อในอาเซียนโดยทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วในปี 2565 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

  6. การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จากอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามเพิ่มขึ้น ในขณะที่การนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีนลดลงหลังจากปี 2559 ซึ่งโดยรวมจะส่งผลดีต่ออาเซียนในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการส่งออก

  7. จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานส่งผลให้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอาเซียนเพิ่มขึ้น 44% ในปี 2564 ทำสถิติสูงสุดที่ 175.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอาเซียนมี FDI ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน

  8. ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สะสมเพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ทำให้มีเกราะป้องกันมากขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงิน

  9. ความสามารถในการชำระค่านำเข้าเป็นอีกปัจจัยที่สะท้อนความแข็งแกร่ง โดยประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีเงินสำรองเพียงพอสำหรับการชำระค่านำเข้า 3 เดือน

  10. ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเงินสำรอง 

เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตช้าลงในปี 2566

คุณเอ็นริโก้ ทานูวิดฮาฮา นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ เผยว่า “แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นช่วยให้ตลาดอาเซียนสามารถต้านทานความผันผวนของตลาดการเงินในปี 2565 ได้ แต่คาดว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ท้าทายและมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ภาวะการเงินที่ตึงตัว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ตึงเครียดมากขึ้น 

และความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงปัจจัยเสริมอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของอาเซียนมุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลักตลอดจนเป็นแหล่งรองรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เราจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้”

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงเหล่านี้อาจถูกลดทอนลงบ้างจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมภายในประเทศ การผ่อนคลายข้อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม การเดินทาง ที่พัก และอื่นๆ ภายในประเทศ และเมื่อจีนเปิดพรมแดนอีกครั้งจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

“โดยรวมแล้วเราคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลกจะลดลงในปี 2566 โดยตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอังกฤษ มีอัตราการเติบโตที่ลดลงทั้งปี ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักในอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม) คาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงต่ำกว่า 5% ในปี 2566 จากที่สูงกว่า 6% ในปี 2565” 

อ่านรายงาน Quarterly Global Outlook ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของธนาคารยูโอบีฉบับเต็ม ได้ที่ https://www.uobgroup.com/web-resources/uobgroup/pdf/research/QGO-1Q2023.pdf

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...