ท่ามกลางกระแสเรียกร้องของประชาชนคนไทยในหัวข้อ “สมรสเท่าเทียม” ที่ต้องการให้ทุกเพศสภาพสามารถจดทะเบียนสมรสสร้างครอบครัวอย่างถูกต้อง รวมถึงได้รับสิทธิทางกฎหมายไม่ต่างไปจากคู่สมรสชาย-หญิง เช่น สิทธิรับมรดก สิทธิในการกู้ร่วม รวมถึงการปฏิบัติในด้านอื่น ๆ อันเป็นสิ่งสะท้อนถึงความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ในการสร้างความเสมอภาคและก้าวหน้าในสังคม
เรียลสมาร์ท (Real Smart) บริษัท Digital Super Agency รายแรกของไทย ได้ถ่ายทอดประเด็นสมรสเท่าเทียม โดยการใช้เครื่องมือฟังเสียงความเคลื่อนไหวและเสียงบนโลกออนไลน์ อย่าง Social Listening เรียบเรียงไทม์ไลน์เสียงมุมมอง ความคิดเห็น ความรู้สึก รวมถึงความสนใจของคนไทย ที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียทั้งหมด นับตั้งแต่คำว่า #สมรสเท่าเทียม ถูกเอ่ยจากจุดเริ่มต้นจนปัจจุบัน
ประเด็นสมรสเท่าเทียมเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากที่ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมในรัฐสภาฯ และทาง ครม. ได้ขอนำร่างไปศึกษาก่อนจะมีการลงมติในวาระการประชุมครั้งหน้า ทำให้บนโซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ (Twitter) มีการพูดถึงว่า
“สมรสเท่าเทียมนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ใครคนหนึ่งจะรักใครสักคนได้ กฎหมายที่มีอยู่นั้นล้าหลัง ต้องทำปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น เพื่อตอบรับความหลากหลายของมนุษย์”
ต่อมากราฟขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 บนทวิตเตอร์พูดถึงรูปถ่ายเกี่ยวกับคำพูดที่ว่า “ที่ไม่สมรสเท่าเทียม เพราะเห็นคนไม่เท่ากัน?” และได้รับความสนใจจนมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและรีทวิต (Retweets) เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นกราฟเริ่มค่อยลดลงเรื่อย ๆ ก่อนดีดตัวพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็วช่วงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ในวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก ที่คู่รักหลายคู่นิยมออกมาจดทะเบียนสมรสกันในวันนี้
ได้มี Facebook page ของสำนักข่าวดังอย่าง สำนักข่าวไทย PPTV HD และเพจอื่น ๆ โพสต์ถึงกิจกรรมของ สำนักงานเขตบางขุนเทียน ที่ได้เปิดจุดจดทะเบียนสมรสให้คู่รักชายหญิง รวมถึง LGBTQ+ ให้สามารถเข้ามาจดทะเบียนได้โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ เหมือนทะเบียนสมรส และกราฟเริ่มตกลงในวันเดียวกัน
เกิดประเด็นการพูดถึงอีกครั้งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มี Facebook page : Young Pride Club และสำนักข่าว Voice TV – Talking Thailand ได้โพสต์ถึงเหตุการณ์ที่มีนักเรียนของโรงเรียนชื่อดังในจังหวัดลำพูนออกมาทำแคมเปญ #โบกธงรุ้งทั่วลำพูน รณรงค์ความเท่าเทียมในการจดทะเบียนของคู่รักทุกเพศ แต่ได้มีรายงานว่านักเรียนกลุ่มนั้นได้ถูกคุกคามภายในโรงเรียน เนื่องจากทางผู้อำนวยการโรงเรียนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในสถานศึกษา รวมถึงการใส่ชุดนักเรียนในขณะการทำกิจกรรม จนทำเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดียพอสมควร
กระทั่ง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 กราฟยังคงลดลงอยู่ และได้มี Facebook page : The MATTER โพสต์วิดีโอ “สมรส(ไม่)เท่าเทียม เมื่อกฎหมายยังไม่ให้ทุกเพศเท่ากัน” สรุปประเด็นทั้งหมดให้ฟังใน 5 นาทีว่าการสมรสเท่าเทียมนั้นต้องรออีกนานแค่ไหน? แม้ชายหญิงแต่งงานจดทะเบียนได้ แต่ LGBTQ+ ยังไม่ได้สิทธินั้นสักที รวมถึงวิเคราะห์ปลายทางของกฎหมายสมรสเท่าเทียมคืออะไร
ภาพรวมความรู้สึก #สมรสเท่าเทียม ของคนไทยในโลกออนไลน์
ในภาพรวมของความรู้สึกของคนไทยที่รวบรวมเครื่องมือ Social Listening จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับความรู้สึกคือ Positive Sentiment (ความเห็นเชิงบวก) กลุ่มที่สนับสนุนการสมรสเท่าเทียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย, กลุ่ม Neutral Sentiment (ความเห็นเชิงทั่วไป) ที่พูดในทางสนับสนุนเรื่องสิทธิของทุกเพศ และอยากให้สังคมยอมรับมากขึ้น และกลุ่ม Negative Sentiment (ความเห็นเชิงลบ) ที่พูดถึงกิจกรรมจดทะเบียนสมรส แต่ไม่เห็นด้วยกับจดทะเบียนที่ไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งรายละเอียดเชิงลึกของทั้ง 3 กลุ่มคือ
กลุ่มของ Positive Sentiment (ความเห็นเชิงบวก) 34% ที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม สนับสนุนให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องและมีผลตามกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่การยอมรับ แต่หมายถึงการเปิดทางไปสู่ความเข้าใจของคนในสังคม
กลุ่ม Neutral Sentiment (ความเห็นเชิงทั่วไป) 50% บอกว่าอยากให้สังคมไทยยอมรับมากขึ้น ทุกคนมีสิทธิเสรีที่ทุกเพศรักกันได้หมด อยากให้ทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้ถูกกฎหมาย
และกลุ่ม Negative Sentiment (ความเห็นเชิงลบ) 16% มองว่าจัดงานจดทะเบียนสมรสแบบปลอม ๆ ที่ไม่มีผลทางกฎหมายนี้ไม่ควรจัดขึ้นมา เพราะ LGBTQ+ ไม่ใช่ตัวตลกของใคร และคนบางกลุ่มมองว่าสังคมไทยไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
เจาะลึกประเด็น สมรสเท่าเทียม ที่ได้รับความสนใจจากคนไทยบนโลกออนไลน์
ข้อมูลที่เรียลสมาร์ทได้รวบรวมมามีประเด็นหลักที่คนไทยในโซเชียลให้ความสนใจมากที่สุด นั่นก็คือเรื่อง “พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” และเมื่อดูจากข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นไปในเชิงสนับสนุนมากกว่า แต่ก็ยังคงมีคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน
พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
Positive Sentiment (ความเห็นเชิงบวก) 65% บอกว่าประชาชนเห็นด้วยและสนับสนุนให้มี พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมถูกต้องตามกฎหมายและสามารถใช้งานได้ทันที ส่วน Neutral Sentiment (ความเห็นเชิงทั่วไป) 19%เป็นไปในทิศทางบวก ซึ่งมีหลายคนติดตามร่างแก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ และมองว่าศาสนากับกฎหมายควรแยกออกจากกัน เพราะสมรสเท่าเทียมคือเรื่องของคนทุกคน ซึ่งมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เป็น Negative Sentiment (ความเห็นเชิงลบ) อยู่ 16%
Top 3 on Facebook Engagement
3 อันดับ Facebook page ที่มีกิจกรรม #สมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นมากที่สุด คือเพจ “ธนวัฒน์ วงค์ไชย - Tanawat Wongchai”, “ซีนิว วิวเว่อร์ 4K” และ “พรรคก้าวไกล - Move Forward Party” โดยทั้ง 3 อันดับนี้ สังเกตได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเป็นเพจที่มีฐานผู้ติดตามสูง
Top 3 on YouTube Engagement
แพลตฟอร์ม YouTube เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คนไทยนิยมใช้เพื่อติดตามข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งทั้ง 2 อันดับช่อง YouTube กิจกรรม #สมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นสูงนั้นเป็นของสำนักข่าวชื่อดังระดับประเทศอย่างช่อง “Thiarath” และ “Matichon tv” ส่วนอันดับที่ 3 อย่างช่อง “THE STANDARD” ก็เป็นอีกหนึ่งสำนักข่าวที่นิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่
Top Hashtag
Top #Hashtag หรือคำค้นหาหลักที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประเด็นสมรสเท่าเทียมมีอยู่มากมายหลากหลายหัวข้อ แต่ที่มีอยู่มากและเห็นได้ชัดเจนที่สุด จะเป็น #สมรสเท่าเทียม #LGBT #พรรคก้าวไกล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน
แม้ประเด็น #สมรสเท่าเทียม จะถูกพูดถึงอย่างมากมายในโลกออนไลน์ แต่กฎหมายที่จะตัดสินว่าทุกเพศสภาพจะสามารถจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องนั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไปหลังจากสภามีการเลื่อนพิจารณาออกไปอีกครั้ง ซึ่งหากประเด็น #สมรสเท่าเทียม ถูกจุดขึ้นอีกเมื่อไร เรียลสมาร์ทก็จะติดตามฟังทุกเสียงทุกมาพูดมาวิเคราะห์ให้เห็นความชัดเจนกันอีกครั้ง