เข้าใจชัดเจน! กรมสรรพากรแจงกรณีเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก | Techsauce

เข้าใจชัดเจน! กรมสรรพากรแจงกรณีเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

  • กรมสรรพากรจับมือสมาคมธนาคารไทย ส่งข้อมูลรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก เอื้อผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี
  • ผู้ไม่ประสงค์จะยื่นข้อมูลต้องไปแจ้งกับทุกธนาคารที่มีบัญชีเงินฝาก แล้วนำรายได้จากดอกเบี้ยไปคำนวณกับรายได้ทั้งปีเพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนตามเกณฑ์

เป็นอีกประเด็นร้อนที่ทำให้ผู้มีบัญชีเงินฝากใจเต้นไปตามๆ กัน เมื่อกรมสรรพากรออกประกาศเกี่ยวกับการเก็บภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยธนาคารซึ่งว่าด้วยแนวทางปฏิบัติใหม่ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง 'กรมสรรพากร' ยันดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ​ 20,000 ยังยกเว้นภาษี แต่ต้องส่งข้อมูลเพื่อรักษาสิทธิ์ และ สรรพากรเริ่มถอยแล้ว เจ้าของบัญชีอาจไม่ต้องเซ็นยินยอมกับธนาคาร) ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมสรรพากรแถลงร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ทั้งแนวทางปฏิบัติและผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีบัญชีเงินฝาก โดยสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

  • กรมสรรพากรยืนยันจะเก็บภาษีในอัตรา 15 เปอร์เซ็นต์ กับผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และผลตอบแทนจากเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลาม "ทุกบัญชีจากทุกธนาคารรวมกัน" เกินกว่า 20,000 บาทขึ้นไป
  • แนวทางปฏิบัติคือ ธนาคารทุกแห่งจะเป็นผู้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ทางกรมสรรพากรเป็นผู้คำนวณและเก็บภาษี
  • หากเกินกว่าที่กำหนด กรมสรรพากรก็จะหักภาษีก่อนจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร 15 เปอร์เซ็นต์
  • หากไม่เกินที่กำหนด ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเต็มจำนวน
  • เจ้าของบัญชีมีสิทธิ์ "ไม่ให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก" แก่กรมสรรพากรได้ โดยดอกเบี้ยจากธนาคารจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ แต่นำรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากยื่นในแบบ ภ.ง.ด. 90 เพื่อขอรับภาษีคืนได้
  • ผู้ที่ประสงค์จะไม่ให้ธนาคารส่งข้อมูล ต้องแจ้งความประสงค์แก่ทุกธนาคารที่มีบัญชีเงินฝาก ภายในวันที่ 7-14 พฤษภาคม เพื่อให้ดำเนินการทันรอบจ่ายดอกเบี้ยครึ่งแรกของปี โดยแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอด จนกว่าเจ้าของบัญชีจะแจ้งเปลี่ยนแปลง

คุณเอกนติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า ประกาศนี้เป็นไปเพื่อปรับกระบวนการยื่นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากให้ใช้กรบวนการดิจิทัลทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ ได้ทำการหารือเพิ่มเติมกับสมาคมธนาคารเพื่อหาวิธีที่ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก จึงขอให้ธนาคารส่งข้อมูลทั้งหมดทันที ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์ส่งข้อมูลก็สามารถดำเนินการตามกรอบวันเวลาที่กำหนด

ในส่วนของข้อมูล อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรได้รับข้อมูลจากธนาคารมาตลอดอยู่แล้วในรูป ภ.ง.ด. 2 เพียงแต่อยู่กระบวนการจัดการข้อมูลยังคงใช้กระดาษและกระจายตามพื้นที่ ทำให้การดำเนินการตามสิทธิ์การยกเว้นภาษีตกหล่น จึงมีแนวคิดที่จะนำข้อมูลที่ได้อยู่แล้วนี้มาดำเนินบนดิจิทัลเพื่อลดความผิดพลาดและช่วยให้ผู้มีสิทธิ์ลดหย่อยได้ใช้สิทธิ์เต็มที่

แนวทางปฏิบัติที่ชี้แจงล่าสุดเป็นการแก้ไขประกาศฉบับเดิมซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน จึงถือว่ามีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่ไม่ประสงค์ให้กรมสรรพากรได้ข้อมูลดอกเบี้ยจากธนาคารจึงต้องรีบเตรียมดำเนินการโดยเร็ว

เนื้อหาจากข่าวประกาศโดยกรมสรรพากร

ตามที่กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ กรมสรรพากรได้หารือร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 เพื่อกำหนดแนวทางการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากร โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินมากที่สุด

คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรได้ชี้แจงการดำเนินการว่า “ที่ประชุมเห็นพ้องกันในการแก้ไขประกาศข้างต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยแก่กรมสรรพากร แต่หากผู้ฝากเงินไม่ประสงค์จะได้รับยกเว้นภาษีต้องแจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยไม่ให้นำส่งข้อมูล ซึ่งธนาคารจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในอัตราร้อยละ 15 ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว”

คุณปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การกำหนดให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อกรมสรรพากร จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว และไม่ต้องการให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยการแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป จนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ทั้งนี้ ลูกค้าที่มาแจ้งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBTG จับมือ 3 มหา’ลัยชั้นนำ สร้าง Co-Master's Degree ปั้น ป.โท เก่ง AI ออกสู่ตลาด

หลักสูตรการศึกษามาใหม่! ที่ KBTG จับมือ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) มหาวิทยาลัยมหิดล (MU) และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU)...

Responsive image

Apple ทุ่มลงทุน 336 ล้านบาท หวังปลดล็อคแบน iPhone 16 ในอินโดฯ

iPhone 16 ในอินโดจะยังได้ไปต่อไหม? เมื่อ Apple เสนอเงินลงทุนกว่า 336 ล้านบาทในอินโดนีเซีย หวังปลดล็อคการแบน iPhone รุ่นล่าสุด หลัง Apple ยังไม่บรรลุเป้าหมายการลงทุนในประเทศตามที่ต...

Responsive image

จีนท้าชนสหรัฐฯ เดินหน้าครองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลก ท่ามกลางแรงกดดัน

สหรัฐฯ ได้ใช้กลยุทธ์หลายอย่าง เช่นการควบคุมการส่งออกและการห้ามจำหน่ายอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของจีนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ชิป AI และเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไ...