ภากร ปีตธวัชชัย นำทีมผู้บริหาร SET กางแผนส่งเสริมตลาดทุนไทย ดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ภายใน 3 ปี | Techsauce

ภากร ปีตธวัชชัย นำทีมผู้บริหาร SET กางแผนส่งเสริมตลาดทุนไทย ดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ภายใน 3 ปี

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) นำโดย นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และทีมผู้บริหารจากทุกภาคส่วน ที่ผนึกกำลังในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลาง เป็นทางเชื่อมระบบนิเวศการลงทุนในตลาดทุนปัจจุบันกับการลงทุนแห่งอนาคต โดยมุ่งทำให้ตลาดทุนเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่าง ครอบคลุมตั้งแต่เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด และเดินหน้าเชิงรุกดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ (new economy) 

นายภากรเปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งใน 3 ปีข้างหน้านี้ (2566-2568) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1: ทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย
(Make fundraising & investment simple) 

  • เพิ่มโอกาสการระดมทุน โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่กระบวนการให้ข้อมูลและเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ และจะมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ จะพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัลทั้ง investment token และ utility token ในไตรมาส 3/2566 
  • เพิ่มโอกาสการลงทุน มุ่งเพิ่มความหลากหลายด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากสำหรับผู้ลงทุนรายเล็ก รวมทั้งศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environment-linked) และการขยายเวลาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการลงทุน  เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเปิดบัญชีลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดทุนที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มของ Settrade เพื่อเป็น “Capital Market Super App” ในการเชื่อมต่อโอกาสการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

SET มุ่งขยายการเติบโตไปพร้อมกัน ทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมตลาดทุน สังคม และประเทศ เพื่อสร้างโอกาสที่มากกว่าเพื่อทุกคน (Growth for Business, Industry, Society) 

ด้านที่ 2: ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม 
(Move industry & ecosystem with standard) 

โดยพัฒนาระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ พร้อมยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปและยังจัดทำระบบซื้อขายใหม่

ด้านที่ 3: ร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด 
(Match partners for synergy) พัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace 

ด้วยการเพิ่มข้อมูลและฟังก์ชันที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยแบบ Thematic และ Issue-based เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาตลาดทุนด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น  ขณะเดียวกัน จะมีการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนมาไว้บน ESG Data Platform โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลได้ในไตรมาส 2/2566 นอกจากนี้ จะพัฒนาการจัดทำ ESG Ratings เพื่อสนับสนุนการออกสินค้า ESG-Linked

ด้านที่ 4: ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน 
(Merge ESG with substance) 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำมิติด้าน ESG ขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งกระบวนการภายใน และภายนอกองค์กรโดยทำงานร่วมกับพันธมิตร นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

  • ด้าน E หรือ Environmental 
    พัฒนาบุคลากรด้าน ESG ในตลาดทุนและสถาบันการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มี ESG Champion ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่าน ESG Academy และพัฒนา Climate Care Platform ให้ครอบคลุมฟังก์ชันการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมต่อพันธมิตร นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้ Cloud และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของ Data Center (Green Data Center)
  • ด้าน S หรือ Social 
    ส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่วัยเกษียณและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จัดให้มีการวัดระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยเพื่อพัฒนาเนื้อหาและช่องทางที่ตอบโจทย์ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโดยจะมุ่งเน้นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ผ่าน LiVE Platform และกระบวนการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) รวมทั้งร่วมกับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน จะมีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขับเคลื่อนตลาดทุนสู่อนาคต
  • ด้าน G หรือ Governance 
    เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพให้สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมทั้งประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนี้ จะขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังองค์กรต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว ทั้งนี้ ด้านกระบวนการภายใน ดำเนินการเตรียมพร้อมยกระดับการบริหารความเสี่ยงองค์กร พร้อมนำเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงวิเคราะห์มาพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งหวังว่าการดำเนินกลยุทธ์ 4 ด้านดังกล่าวจะมีส่วนในการสร้างโอกาสที่มากกว่าสำหรับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายโอกาสการระดมทุนและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมตลาดทุน และดูแลสังคม ควบคู่กับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่สมดุล และยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งธุรกิจ ตลาดทุน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ

นอกจากนี้ SET ยังสนับสนุนการระดมทุนผ่านการออกโทเคนดิจิทัล และออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนน้อย ไปจนถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม (environment-linked) ควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านการเงินของคนไทย นอกจากนี้ ยังมุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกองค์กรผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้ตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืน  

สรุปพัฒนาการสำคัญตามแผนงานปี 2565

ด้านการเชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน

  • หุ้น IPO มีมูลค่าเสนอขายที่ 127,836 ล้านบาท สูงสุดในอาเซียนและเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย โดยมี 9 บริษัทจดทะเบียนอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy ช่วยเสริมสร้างความหลากหลายและน่าสนใจให้กับตลาดทุน
  • ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2565 มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 76,773 ล้านบาทต่อวัน 
  • TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 565,627 สัญญาต่อวัน (อันดับ 2 ในอาเซียน ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ณ เดือน พ.ย. 2565)
  • ออก 2 ผลิตภัณฑ์ DRx ได้แก่ AAPL80X ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ และ TSLA80X ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ บริษัท เทสล่า อิงค์ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนจำนวนน้อยให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะรายเล็กและยังเพิ่มโอกาสในการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ
  • 3 หลักทรัพย์แรกเข้าจดทะเบียนใน LiVE Exchange (LiVEx) ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS22) บมจ. สิทรอน เพาเวอร์ (SITRON22) และ บมจ. สตอเรจ เอเชีย (ISTORE22)
  • จัดทำแนวทางปรับปรุงกระบวนการและกลไกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์  ทั้งการพิจารณาลูกค้า พัฒนาศูนย์ข้อมูลลูกค้า รวมถึงการรับหลักทรัพย์ กฎเกณฑ์การซื้อขาย ตรวจสอบข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการดำเนินงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน 

ด้านการพัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ

  • TDX ได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ และมีระบบพร้อมให้บริการ โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ICO Portal 3 ราย
  • FundConnext มีธุรกรรมซื้อขายกองทุนรวม 31,400 รายการต่อวัน และมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 11 ราย (selling agent และบลจ. รวม 78 ราย คิดเป็น 73% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม 
  • FinNet ครอบคลุมการชำระเงินตลาดหุ้นประมาณ 25% ของทั้งอุตสาหกรรม และปัจจุบันได้เพิ่มบริการ Interbank, Intrabank, QR Code, Direct Debit Registration (DDR) ไปยังธุรกรรมอื่น ๆ ในตลาดทุน เพื่อให้ครอบคลุมธุรกรรมกองทุน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง
  • พัฒนา e-Meeting ระบบการจัดประชุมผู้ถือหุ้นแบบ end-to-end เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (New normal) โดยให้บริการแก่บริษัทจดทะเบียน 80 บริษัท ในปี 2565 
  • SMART Marketplace เพิ่มข้อมูล ESG และข้อมูล บจ. โดยให้บริการข้อมูลผ่าน API แก่ผู้ใช้งานกว่า 50 บริษัท และเดินหน้าขยายบริการต่อเนื่อง
  • เปิดตัว ESG Data Platform ฐานข้อมูลด้าน ESG เชื่อมโยงความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน สู่ผู้ลงทุน และสังคม 

ด้านการส่งเสริมความยั่งยืน

  • สร้างการเรียนรู้ทางการเงินสำหรับคนไทย ผ่านสื่อในแคมเปญ Happy Money รู้สู้หนี้ จำนวน 4.5 ล้านวิว และ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม LiVE Platform จำนวน 180,632 ราย
  • เสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม โดยมี 62 business co-creation ระหว่าง บจ. และ SE
  • 26 บจ. อยู่ในดัชนี DJSI มากที่สุดในอาเซียนเป็นปีที่ 9 โดย S&P Global  
  • กว่า 400 บจ. ไทยร่วมลดโลกร้อนผ่าน Climate Care Collaboration และนำเสนอโครงการ Care the Bear แก่นานาชาติในการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

WHA Group ผนึก ’Green Mobility‘ กลุ่มธุรกิจที่ 5 ตั้งธง 5 ปี รายได้ 1.5 แสนล้าน

WHA Group เปิดเผยว่า ปี 2568 มุ่งเน้นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งใน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ครอบคลุมธุรกิจล่าสุดอย่าง Mobility โดยพัฒนาเป็นโซลูชันกรีนโลจิสติกส์ครบวงจรรายแรกในประเทศไทย ภายใต้...

Responsive image

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek จากอดีตเฮดจ์ฟันด์ สู่ผู้ท้าทายยักษ์ใหญ่ AI โลก

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง ผู้อยู่เบื้องหลังของ DeepSeek จากอดีตผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ สู่ CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek ที่พกความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งส...

Responsive image

‘HoriXon T8' ธุรกิจใหม่ใต้ปีก TIPH x BE8 สู่ฮับ AI-Powered Insurance ภูมิภาค

TIPH จับมือ BE8 เปิดตัว HoriXon T8 หรือ 'T8' บริษัท ฮอไรซอน ที 8 จำกัด เพื่อปฏิวัติ Insurance Ecosystem ให้อุตสาหกรรมประกันภัย ด้วย AI-Powered Digital Transformation...