SpaceX ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม Starlink จำนวน 20 ดวงขึ้นสู่วงโคจร เป็นการปูทางสู่การเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือโดยตรงจากทุกหนแห่งบนโลกใบนี้แม้อยุ่ในพื้นที่ห่างไกล ความสำเร็จนี้ถือเป็นการเติมเต็มชั้นวงโคจรแรกของโครงการ หลังจากที่ได้ปล่อยดาวเทียมชุดทดสอบ 6 ดวงแรกไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ดาวเทียมเหล่านี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Falcon 9 จากฐานทัพอากาศ Vandenberg Space Force Base ในแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนจะถูกนำไปประจำการในสู่วงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) โดย Elon Musk ผู้ก่อตั้ง SpaceX ได้กล่าวบน X (Twitter เดิม) ว่า“ความพยายามครั้งนี้จะช่วยให้โทรศัพท์มือถือแบบทั่วไปสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลได้”
คำกล่าวนี้นับว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ Musk เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนมกราคมเกี่ยวกับศักยภาพของบริการ Starlink ว่า “แม้ว่านี่จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับสถานที่ที่ไม่มีการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือภาคพื้นดินที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่” อย่างไรก็ตาม ความเร็ว 10 เมกะบิตในปัจจุบันถือว่าดีขึ้นจากความเร็ว 7 เมกะบิตที่ทดสอบได้ในช่วงต้นปี
ความพิเศษของโครงการใหม่นี้คือ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือแบบพิเศษ หรือแม้แต่แอปพลิเคชันเฉพาะใดๆ เพื่อเข้าถึงบริการได้จากทุกที่ในโลก Starlink ใช้โปรโตคอล LTE/4G มาตรฐานที่โทรศัพท์ส่วนใหญ่รองรับ ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่าง T-Mobile ในสหรัฐอเมริกา และ Rogers ในแคนาดา และได้พัฒนาระบบเพื่อให้บริการของตนทำงานได้อย่างราบรื่นกับโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้เมื่อโทรศัพท์เชื่อมต่อกับดาวเทียมที่อยู่ห่างจากพื้นโลก 340 ไมล์ (540 กม.)
SpaceX ระบุว่าได้ปรับปรุงแก้ไขข้อจำกัดด้านความหน่วงของสัญญาณ ความสูงและมุมเงยที่เหมาะสมสำหรับดาวเทียม รวมถึงพารามิเตอร์อื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้มั่นใจว่าการเชื่อมต่อจะมีความเสถียร ดาวเทียมแต่ละดวงมีโมเด็ม LTE ติดตั้งอยู่ภายใน และดาวเทียมเหล่านี้จะเชื่อมต่อกับกลุ่มดาวเทียม Starlink ที่มีอยู่เดิมจำนวน 6,799 ดวง
ซึ่งการเชื่อมต่อกับกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่นี้เกิดขึ้นผ่านระบบเลเซอร์ Backhaul ซึ่งเป็นการสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์เพื่อส่งข้อมูลระหว่างดาวเทียม วิธีนี้ใช้ประโยชน์จากเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการสื่อสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุแบบเดิม ทำให้สามารถส่งข้อมูลได้เร็วกว่าถึง 100 เท่า มีแบนด์วิดท์ที่เพิ่มขึ้น และมีความปลอดภัยที่มากขึ้
ปัจจุบัน บริการจะรองรับเพียงการส่งข้อความจนถึงสิ้นปี 2024 ส่วนการให้บริการเสียง (Voice) และข้อมูล (Data) คาดว่าจะพร้อมให้ใช้งานในปีหน้า รวมถึงการรองรับอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เช่น อุปกรณ์สมาร์ทโฮม ในส่วนของค่าใช้บริการ แม้บริษัทจะยังไม่ได้เปิดเผยราคาอย่างเป็นทางการ แต่หากอ้างอิงจากบริการบรอดแบนด์โรมมิ่งของ Starlink ที่ใช้กับรถยนต์และรถ RV จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนหรือราว 1700 บาท พร้อมแบนด์วิดท์จำกัดที่ 50 GB
แม้ SpaceX จะเป็นผู้บุกเบิก แต่ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่พัฒนาบริการคล้ายกัน เช่น Lynk ที่เริ่มให้บริการในประเทศปาเลาเมื่อปี 2023 และ AST SpaceMobile ที่มีพันธมิตรในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามการเปิดตัวดาวเทียม Starlink สำหรับการเชื่อมต่อมือถือโดยตรงนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่อาจปฏิวัติวิธีการที่เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในอนาคต การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง และอาจนำไปสู่อนาคตการเชื่อมต่อที่ไร้ขอบเขตได้จากทั่วมุมโลก
อ้างอิง: newatlas
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด