คืนชีพการบินไทย แผนฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จ เตรียมเข้าตลาดหุ้นไตรมาส 2 ปี 68 | Techsauce

คืนชีพการบินไทย แผนฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จ เตรียมเข้าตลาดหุ้นไตรมาส 2 ปี 68

เรียกได้ว่าฝ่าฟันพายุเศรษฐกิจมาได้ถึงช่วงสุดท้ายแล้วสำหรับการบินไทย โดยในวันพุธที่ 27 พฤศจิกายนนี้ การบินไทยได้แถลงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ และรายละเอียดการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างทุนและพนักงานการบินไทย 

นำโดยผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการและผู้บริหารของการบินไทย พร้อมที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายหลักทรัพย์ อาทิ

  • ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  • คุณพรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
  • คุณชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • คุณเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี
  • คุณตรัยรักษ์ เต็งไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจบรรษัทและวานิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

Recap แผนการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา

เริ่มต้นที่ ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้เผยถึงความสำเร็จในการแปลงหนี้เป็นทุน โดยขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ช่วยให้การบินไทยฟื้นตัวได้ตามแผน อาทิ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) ได้รับการแปลงหนี้เป็นทุนเต็มจำนวน 100% สะท้อนถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในการฟื้นฟูการบินไทย

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, 6 (สถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้นกู้) ได้รับการแปลงหนี้เป็นทุนในสัดส่วน 24.50% ส่วนที่เหลืออาจมีการปรับโครงสร้างหนี้หรือเงื่อนไขการชำระหนี้ในรูปแบบอื่น รวมถึงการที่เจ้าหนี้สนใจแปลงหนี้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 3 เท่า แสดงถึงความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ที่มีต่อศักยภาพในการฟื้นตัวของการบินไทย

โดยที่ผ่านมาการบินไทยได้ปรับโครงสร้างองค์กร ลดต้นทุน ปรับฝูงบินและเส้นทางบินเพื่อเพิ่มรายได้ มุ่งสู่การเป็นบริษัทเอกชนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การแปลงหนี้เป็นทุนแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50
  2. การใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) ซึ่งในระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท 
  3. การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

รวมมูลค่าการแปลงหนี้ทั้งสิ้นกว่า 53,453.2 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยเป็นบวก บรรลุเงื่อนไขสำคัญในการออกจากแผนฟื้นฟู และเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน การบินไทยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงาน ในราคาหุ้นละ 4.48 บาท เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 หากมีหุ้นเหลือจะนำไปเสนอขายให้แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ต่อไป

การกำหนดราคาหุ้นที่ 4.48 บาท พิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การประเมินมูลค่ายุติธรรม โครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟูฯ ความเสี่ยงของนักลงทุน และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยมุ่งหวังให้การบินไทยระดมทุนได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

บทบาทคลังสำคัญ ช่วยการบินไทยฟื้นตัว สู่บริษัทเอกชนเต็มตัว

ด้านคุณพรชัย ฐีระเวช ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนฟื้นฟู โดยยืนยันว่าการบินไทยผ่านเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อแล้ว และส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกแล้วในทางพฤตินัย รอเพียงการยืนยันอย่างเป็นทางการจากผู้สอบบัญชี ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับการบินไทย และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของแผนฟื้นฟู

สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากส่วนของผู้ถือหุ้นได้รับการยืนยันว่าเป็นบวกอย่างเป็นทางการแล้ว การบินไทยจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ และจัดการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างการบริหารงานแบบบริษัทเอกชน

คุณพรชัย ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของกระทรวงการคลังในการสนับสนุนแผนฟื้นฟู โดยกระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้รายเดียวที่ตัดสินใจแปลงหนี้เป็นทุน 100% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการช่วยเหลือการบินไทยให้ฟื้นตัว

ส่วนแนวทางการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในอนาคต คุณพรชัยระบุว่ากระทรวงการคลังจะพยายามรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25% แต่ไม่เกิน 50% เพื่อให้การบินไทยสามารถดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทเอกชนได้อย่างเต็มที่ แต่ยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในระดับที่เหมาะสม

นอกจากนี้ คุณพรชัยยังได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ทำให้การบินไทยสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ประกอบด้วย

  1. พนักงานและผู้บริหาร: ความทุ่มเทและความสามารถของพนักงานและผู้บริหารเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร
  2. ระบบ: การปรับปรุงระบบการทำงาน และระบบการควบคุมภายใน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินงาน
  3. คณะกรรมการ: คณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแล จะเป็นส่วนสำคัญในการนำพาการบินไทยไปสู่ความสำเร็จ

สุดท้าย คุณพรชัยได้แสดงความเชื่อมั่นในทีมผู้บริหาร และระบบการควบคุมภายในของการบินไทย ว่าจะสามารถนำพาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

การบินไทยเล็งเข้าตลาดหุ้นไตรมาส 2 ของปี 68 หลังโตแกร่ง

ชาย เอี่ยมศิริ ซีอีโอ การบินไทย เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 19.2% สะท้อนความสำเร็จของแผนฟื้นฟูที่เรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้ากลับคืนมา

แม้กำไรจากการดำเนินงาน 9 เดือนจะอยู่ที่ 24,191 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 29,330 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท ลดลงจาก 37,590 ล้านบาท แต่นายชาย อธิบายว่าเป็นผลมาจากการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินใหม่ ค่าบริการการบินที่เพิ่มขึ้นตามเที่ยวบิน และค่าการตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต

สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นสามารถตรวจสอบสิทธิผ่าน 

  • หนังสือแจ้งสิทธิเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นเดิม โดยคาดว่าจะส่งออกโดยบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ผ่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่บนสมุดทะเบียน
  • ช่องทางเว็บไซต์การบินไทย (https://ir.thaiairways.com/

สามารถจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้ระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2567 ผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด ได้แก่ 

  1. สำนักงานใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) หรือจองซื้อผ่านโทรศัพท์บันทึกเทป (เฉพาะนิติบุคคล หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน หรือ ลูกค้าที่มีบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทรเท่านั้น) 
  2. สำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) ระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai บน Krungthai NEXT Application (สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยจะต้องมีบัญชีธนาคารผ่านระบบ Krungthai NEXT)

สำหรับพนักงานของการบินไทยที่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามารถจองซื้อหุ้นในวันและเวลาเดียวกันกับผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน โดยมีช่องทางการจองซื้อหุ้นอีกหนึ่งช่องทางคือ 

  1. สำนักงานใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) (เฉพาะ ลูกค้าที่มีบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทรเท่านั้น) 
  2. สำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) ระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai บน Krungthai NEXT Application (สำหรับลูกค้าที่มีบัญชีธนาคารผ่านระบบ Krungthai NEXT เท่านั้น)
  3. ระบบออนไลน์ผ่าน Application DIME! (เฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีบัญชีหลักทรัพย์ไทยกับ DIME! เท่านั้น)

การบินไทยตั้งเป้ากลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 โดยกระบวนการปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากนั้น การบินไทยจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการ และยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จัก Gen Beta ผู้ไม่รู้จัก ‘โลกในยุคไร้ AI’ เจนเนอเรชั่นกำเนิดใหม่ของปี 2025

เจเนอเรชัน Beta (Gen Beta) กำลังจะเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดในปี 2025-2039 พวกเขาเติบโตในโลกที่ AI และเทคโนโลยีเชื่อมโยงชีวิตอย่างสมบูรณ์ พร้อมรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเน้นความยั่งย...

Responsive image

EU เริ่มกฎบังคับใช้พอร์ตชาร์จ USB-C ตั้งเป้าลดขยะอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากที่สหภาพยุโรป หรือ EU ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้านการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการเคลื่อนไหวด้านกฎบังคับให้ใช้พอร์ตชาร์จเดียวกันสำหรับทุกอุปกรณ์มาตั้งแต่ปี 2022 ล่าสุดกฎหมายดังกล่าว...

Responsive image

อนาคตที่ปรึกษาทางการเงิน จะเป็นอย่างไร ? เมื่อ AI คือผู้ช่วยคนสำคัญ

ที่ปรึกษาการเงินหลายท่านกำลังเผชิญกับภาวะ "งานเอกสารท่วมตัว" จนแทบไม่มีเวลาดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับงานที่ไม่สร้างรายได้ ทำให้การสร้างความสัมพันธ...