รวมผลกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของแต่ละธนาคารในปี 2019 | Techsauce

รวมผลกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของแต่ละธนาคารในปี 2019

ผ่านมาแล้ว 9 เดือนสำหรับปี 2019 Techsauce ชวนมาดูภาพรวมผลกำไรสุทธิของธนาคารไทยรายใหญ่ทั้ง 7 รายว่าเป็นอย่างไรบ้าง   

ธนาคารกรุงเทพ 

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารในไตรมาส 3 ปี 2019 จำนวน 9,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากไตรมาส 3 ปีก่อน ส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เป็นผลจากการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม ตามเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.7 ตามการลดลงของสินเชื่อ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.35 โดยมีผลกำไรสุทธิของ 9 เดือนอยู่ที่ 27,814 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.14 

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.5 จากไตรมาส 3 ปีก่อน สะท้อนถึงวินัยการบริหารค่าใช้จ่ายของธนาคาร และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 41.9 

ธนาคารกรุงไทย

ผลประกอบการธนาคารกรุงไทยไตรมาส 3 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,355 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีรายการพิเศษเกิดขึ้นจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานในไตรมาสนี้ หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และสำหรับช่วง 9 เดือน ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 21,825 ล้านบาท โดยมีรายการพิเศษเกี่ยวกับสำรองการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 และค่าใช้จ่ายสำรองผลประโยชน์พนักงาน แม้ว่ามีรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองในไตรมาส 1/2019  หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิ 9 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 NIM ที่ไม่รวมรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองในไตรมาส 1/2019 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 Coverage Ratio ของงบการเงินรวม ณ 30 กันยายน 2019  เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 128.07 จากสิ้นปี 2018

ธนาคารกรุงศรี

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งสำหรับงวดเก้าเดือนแรกของปี 2562 โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 26.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2018 โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการขยายตัวของสินเชื่อที่แข็งแกร่งที่ 6.4% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2018 การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ: เพิ่มขึ้น 6.4% หรือจำนวน 106.5 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2018 โดยการเติบโตของสินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ โดยสินเชื่อเพื่อรายย่อยยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักโดยเพิ่มขึ้นจำนวน 54.5 พันล้านบาท หรือ 6.9% ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้นจำนวน 31.0 พันล้านบาท หรือ 5.0% และ 21.0 พันล้านบาท หรือ 8.4% ตามลำดับ การเติบโตของเงินรับฝาก: เพิ่มขึ้น 4.8% หรือจำนวน 68.7 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2018  รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย: เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 40.0% หรือจำนวน 10.2 พันล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2018

ธนาคารกสิกรไทย

ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2019 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2018  ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 29,924 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,502 ล้านบาท หรือ 4.78% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,051 ล้านบาท หรือ 5.54% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.34% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,753 ล้านบาท หรือ 6.20% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง และการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 2,684 ล้านบาท หรือ 5.49% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.41% ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง 

ธนาคารทหารไทย

ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการ ไตรมาส 3 ปี 2019 โดยคุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึง ภาพรวมผลการดำเนินงานว่า “ผลการดำเนินงานมีโมเมนตัมดีขึ้นทุกไตรมาส โดยในไตรมาส 3 นี้ ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 5,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยหนุนหลักมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ซึ่งทีเอ็มบีพยายามอย่างต่อเนื่องในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้า และในไตรมาส 3 ได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันรูปแบบใหม่ ทีเอ็มบี เวลธ์ตี้ ทรี เจนส์ ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์ปรับตัวดีขึ้น ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ยังคงให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ โดยดำเนินการปรับลดสินเชื่อที่มีปัญหาเพื่อเตรียมความพร้อมรับ IFRS9 และเพื่อเสริมฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับดีลการรวมกิจการ จึงทำให้ยังคงเห็นการตั้งสำรองฯ ในเกณฑ์สูง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถลดสัดส่วนหนี้เสียลงเหลือ 2.52% และคงสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียในระดับสูงที่ 140% ได้ตามเป้า หลังจากหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ ดังกล่าว และภาษี กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อนหน้า” โดยมีผลกำไรสุทธิ 9 เดือนอยู่ที่ 5,600 ล้านบาท 

ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิของไตรมาส 3 ปี 2019 จำนวน 14,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 10,484 ล้านบาทและกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตจำนวน 11,644 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสนี้ ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก 9,100 ล้านบาทจากสำรองปกติที่จำนวน 6,173 ล้านบาท รวมเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น 15,273 ล้านบาท สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2019 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 34,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2019 สินเชื่อโดยรวมมีการขยายตัวในระดับปานกลางที่ 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2019 เพิ่มขึ้น 7.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 26,191 ล้านบาท จากกลยุทธ์ของธนาคารในการบริหารความเสี่ยงและการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง

ธนาคารธนชาต

ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2019 จำนวน 4,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 12.86% และเป็นกำไรสุทธิที่สูงเป็นสถิตินิวไฮ  สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2019 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 11,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.40% จากงวดเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการการเติบโตของฐานรายได้รวม และการลดลงของค่าใช้จ่ายหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ ถึงแม้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธนาคารได้หมดไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2018 แต่ผลการดำเนินงานก่อนภาษีของธนาคารและบริษัทย่อยยังเติบโตได้สูงถึง 11.40% 



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

10 Tech Event ในเอเชีย ที่สายเทคฯ ธุรกิจ ไม่ควรพลาด ปี 2024

เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง องค์กรจึงต้องหมั่นอัปเดตเทรนด์ความรู้ใหม่ ๆ วันนี้ Techsauce คัดสรร 10 งานประชุมเทคโนโลยีระดับเอเชีย ที่สายเทคไม่ควรพลาดในปี 2024 รวมไว้ในบทความเดียวก...

Responsive image

SCBX ไตรมาส 1 ปี 67 กำไร 11,281 ล้านบาท เตรียมลุย 'Virtual Bank' พร้อมก้าวสู่องค์กร AI-First Organization

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน...

Responsive image

เปิดตัว Meta AI ใหม่ ถามได้ทุกเรื่อง สร้างภาพได้ทุกอย่าง ใช้ได้ทุกแอปฯ​ โซเชียลของ Meta

สำหรับ Meta AI เป็นแชทบอทที่เคยเปิดตัวให้เห็นครั้งแรกในงาน Connect 2023 ขับเคลื่อนด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) อย่าง Llama 2 แต่ล่าสุดได้มีการอัปเกรดไปใช้โมเดลภาษาใหม่ Llama 3...