ประกาศใช้กฎหมายควบคุม-เก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" ครอบคลุม ICO และ Cryptocurrency | Techsauce

ประกาศใช้กฎหมายควบคุม-เก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" ครอบคลุม ICO และ Cryptocurrency

มาแล้ว! ประกาศใช้กฎหมายควบคุมและเก็บภาษีจาก "สินทรัพย์ดิจิทัล" อย่างเป็นทางการ ครอบคลุมทั้ง Cryptocurrency, ICO และ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด

  • ก.ล.ต. เป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด
  • โทษหนักหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้รับอนุญาตลงทะเบียนกับ ก.ล.ต.
  • เก็บภาษี Cryptocurrency 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้
  • ระบุออกกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาฉ้อโกงประชาชน ปัญหาการฟอกเงิน และไม่ให้เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจ
Photo: CoinTelegraph

มาแล้ว! กฎหมายควบคุม-เก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" ครอบคลุมทั้ง Cryptocurrency, Digital Token, ICO และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด โดยมีการออกกฎหมายมาด้วยกัน 2 ฉบับ ได้แก่

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากการประชุมร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัลหรือ ICO (Initial Coin Offering) รวมทั้งเรื่องเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)  แหล่งข่าวของประชาชาติธุรกิจกล่าวว่า

เรื่องนี้จำเป็นเร่งด่วน เพราะมีบริษัทสนใจระดมทุนกันมาก ทำให้ต้องรีบดูแลนักลงทุนรายย่อย และเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ มีศัพท์ดิจิทัลใหม่ ๆ เกี่ยวข้องมาก จึงเห็นควรให้เสนอเป็น พ.ร.ก. เพราะสามารถใช้อำนาจรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารประกาศบังคับใช้ได้เลย ไม่ต้องผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 วาระ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 3-4 เดือนเป็นอย่างต่ำ

ใน พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ หรือวันที่ 14 พฤษภาคม 2561

ส่วน พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (13 พฤษภาคม 2561)

ซึ่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ประกาศใช้จะครอบคลุมการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในทุกเรื่อง ทั้ง ICO, Cryptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) และ Token (โทเคน) ต่าง ๆ รวมทั้งวางหลักเกณฑ์สำหรับผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ที่จะระดมทุน ICO ตัวกลางซื้อขาย ผู้จะจัดทำแพลตฟอร์มตลาดรอง และคุณสมบัติผู้ลงทุน

รายละเอียดมีดังนี้

นิยาม "สินทรัพย์ดิจิทัล"

พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัลในมาตรา 3 ดังนี้

  • ทรัพย์สินดิจิทัล หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency), โทเคนดิจิทัล (Digital Token)
  • คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
  • โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
    • กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ
    • กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

นอกจากนี้ มาตรา 5 ยังย้ำว่า หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ให้ถือเป็นคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลตาม พ.ร.ก. ดังกล่าวอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดนิยามของ "ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล" ว่าประกอบไปด้วย

  • ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดให้มีขึ้น เพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ
  • นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือ บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น
  • ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล คือ บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่า พร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
  • และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ให้ ก.ล.ต. คุมสินทรัพย์ดิจิทัล ICO และ Cryptocurrency

Photo: Pexels

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ จัดทำร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยที่ประชุม ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. นี้ โดย ก.ล.ต.จะต้องกำกับดูแลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด

มาตรา 10 ของ พ.ร.ก. ระบุว่า

เพื่อประโยชน์ในการกำกับและควบคุมการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีหน้าที่และอำนาจวางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับและควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้

นอกจากนี้ยังให้ หน้าที่และอำนาจอื่น ๆ แก่ ก.ล.ต. ได้แก่

  • ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
  • กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต การอนุญาต คำขอความเห็นชอบ การให้ความเห็นชอบ การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี การยื่นคำขอต่าง ๆ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบ
  • กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับ พ.ร.ก. นี้

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่เพียงรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ และมีอำนาจแค่ออกประกาศและแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.ก. นี้

นอกจากนี้กฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล จะต้องปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอีกด้วย

โทษหนักหากไม่ลงทะเบียนกับ ก.ล.ต.

พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้กำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งทางอาญาและทางแพ่งรวมแล้วมากกว่า 40 มาตรา เช่น

  • กรณีผู้เสนอขาย Token โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ทำผ่านตัวกลางที่ถูกกฎหมาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของราคาขาย Token ที่เสนอขาย โดยต้อง0jkpค่าปรับไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีให้ข้อมูลในไฟลิ่ง (Filling) เป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 2 เท่าของที่เสนอขายโทเคน (ต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท)
  • หากเสนอขาย Token ระหว่างที่ ก.ล.ต.ระงับการไฟลิ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่าที่เสนอขาย (ต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท และหากยังฝ่าฝืนปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท
  • ผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • เป็นต้น

กรณีที่มีบริษัทดำเนินการระดมทุน ICO (Initial Coin Offering) ไปก่อนหน้าที่ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ กฎหมายมีบทเฉพาะกาลให้ต้องมาขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต.ใน 90 วัน (ประมาณ 3 เดือน)

ไฟเขียวเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้นายณัฐพรยังระบุต่อว่าปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้น ครม. เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษี) โดยมีการเพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินอีก 2 ประเภทสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลใน ดังนี้

  • เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล
  • ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

โดยได้กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินอีกด้วย ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

สำหรับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายนั้นสามารถดำเนินการโดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว

เหตุผลในการประกาศให้กฎหมายสองฉบับนี้

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ใน พ.ร.ก. ระบุว่า ในปัจจุบันได้มีการนำคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล

แต่ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับหรือควบคุมการดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ดังนั้น เพื่อกำหนดให้มีการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ และป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

ส่วนเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ใน พ.ร.ก. ระบุว่า ในปัจจุบันได้มีการถือหรือครอบครอง โทเคนดิจิทัล หรือการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลซึ่งเงินได้จากกรณีดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี

แต่โดยที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเป็นการเฉพาะเป็นเหตุให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีกฎหมายลูกอื่น ๆ ที่จะออกมาจากกระทรวงการคลังประมาณ 10 ฉบับ และจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีก 5 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้จะมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ผู้ที่เป็นตัวกลางหรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, ผู้ที่เป็นนายหน้า (โบรกเกอร์) และผู้ที่เป็นผู้ค้า (ดีลเลอร์) เพื่อให้ทราบข้อมูลจำนวนของผู้ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว

ปรับปรุงข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย, คมชัดลึก, ประชาชาติธุรกิจ (1) และ ประชาชาติธุรกิจ (2)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...

Responsive image

ประกวดนางงาม Miss AI ครั้งแรกของโลก ที่ส่วนใหญ่สร้างตาม Beauty Standard

ตอนนี้มี Miss AI หรือนางงามปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาประชันความงามกันบนโลกดิจิทัลแล้ว ด้านผู้จัดการประกวดหวังช่วยผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี...