คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี แห่ง GULF แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย ปี 65 ถือหุ้นอันดับ 1 มูลค่า 2.19 แสนล้าน | Techsauce

คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี แห่ง GULF แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย ปี 65 ถือหุ้นอันดับ 1 มูลค่า 2.19 แสนล้าน

เปิดโผเศรษฐีหุ้นไทย ปี 2565 คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าสัวอาณาจักร GULF ขึ้นแท่นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ครองหุ้นอันดับ 1 สูงสุดมูลค่า 218,981.58 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 45,881.86 ล้านบาท หรือ 26.51% 

แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย ปี 65

วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 29 แล้ว โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศ ที่ถือหุ้นสูงสุด 10 อันดับแรก ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาด mai ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2565

สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ปรากฏว่าแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ยังคงเป็นของ สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 218,981.58 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 45,881.86 ล้านบาท หรือ 26.51% ซึ่ง สารัชถ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ในสัดส่วน 35.55%

หากย้อนรอยความมั่งคั่งของแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 4 สมัย สารัชถ์ก้าวเข้ามาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยครั้งแรกเมื่อปี 2562 โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปีที่ 2 ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 115,289.99 ล้านบาท และทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท ในปีนี้ความมั่งคั่งของสารัชถ์พุ่งทะลุไปถึง 218,981.58 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยคนแรกที่มีความมั่งคั่งในระดับ 2 แสนล้านบาท

ส่วนเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ในปีนี้ ได้แก่ ปณิชา ดาว ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ในสัดส่วน 80% รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 81,630.58 ล้านบาท

ซึ่ง PSG เดิมชื่อ บมจ.ที เอ็น จิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น หรือ T ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารโรงงาน คลังสินค้า อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า อาคารที่พักอาศัย โรงพยาบาล รวมถึงงานสาธารณูปโภค และงานติดตั้งเครื่องจักรต่าง ๆ มากว่า 40 ปี ต่อมาในวันที่ 12 ตุลาคม 2564 บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งใหญ่ โดยออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 54,044 ล้านหุ้น ขายนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ในราคาหุ้นละ 0.02 บาท

ซึ่งกลุ่มทุนจาก สปป.ลาว นำโดย ปณิชา ดาว ภรรยาของ เดวิด แวน ดาว ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท พีที จำกัด ผู้เดียว (PTS) ที่ถือหุ้นใน บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ที่ สปป.ลาว เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น หรือ PSG มี แวน ฮวง ดาว นั่งเป็นประธานกรรมการ และ เดวิด แวน ดาว เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือหมอเสริฐ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ตกจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 62,735.68 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 4,517.85 ล้านบาท หรือ 7.76% หุ้นที่หมอเสริฐถือครองประกอบด้วย บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ, สมิติเวช, บีเอ็นเอช, พญาไท, เปาโล ในสัดส่วน 12.77% และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 11.38%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ นิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา ลดจากอันดับ 3 เมื่อปีที่แล้ว โดยนิติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกใน 8 บริษัท รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 58,124.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,870.84 ล้านบาท หรือ 3.33%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลดจากอันดับ 4 เมื่อปีที่แล้ว โดยหุ้น EA ที่ถือครองในสัดส่วน 11.05% มีมูลค่ารวม 36,366.27 ล้านบาท รวยลดลง 16,660.08 ล้านบาท หรือ 31.42%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 ได้แก่ ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 1 บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ทายาทหมอเสริฐ กลับเข้ามาติดทำเนียบ TOP 10 เศรษฐีหุ้นไทย จากอันดับ 21 เมื่อปีที่แล้ว

นอกเหนือจากหุ้น BDMS ที่ถือในสัดส่วน 5.08% และ BA 6.49% แล้ว ปีนี้ปรมาภรณ์ยังถือหุ้น บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) หุ้นน้องใหม่ IPO ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เพิ่มขึ้นอีก โดยถือหุ้น ONEE สูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 40.04% ส่งผลให้ปีนี้ความมั่งคั่งของปรมาภรณ์มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 35,001.87 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 20,950.06 ล้านบาท หรือ 149.09%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 7 และอันดับ 8 ได้แก่ สองเศรษฐีหุ้นเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือเมืองไทยลิสซิ่ง โดย ชูชาติ เพ็ชรอำไพ อยู่ในอันดับ 7 ตกจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้น MTC ในสัดส่วน 33.49% และหุ้นของอีก 5 บริษัทรวมมูลค่าทั้งสิ้น 26,518.07 ล้านบาท ลดลง 15,133.90 ล้านบาท หรือ 36.30% ส่วน ดาวนภา เพ็ชรอำไพ ปีนี้อยู่ในอันดับ 8 จากอันดับ 5 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น MTC ในสัดส่วน 33.96% มูลค่า 26,100 ล้านบาท ลดลง 15,840.00 ล้านบาท หรือ 37.77%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ อนันต์ อัศวโภคิน บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่แบรนด์ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” โดยขยับขึ้นมาจากอันดับ 12 เมื่อปีที่แล้ว โดยอนันต์ถือหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ในสัดส่วน 23.93% มูลค่า 25,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,717 ล้านบาท หรือ 11.95%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) โดยหุ้นที่คีรีถือครองมีมูลค่ารวม 22,702.45 ล้านบาท ลดลง 1,929.78 ล้านบาท หรือ 7.83% ประกอบด้วย หุ้น BTS 20.23% กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) 2.14% และ บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ (NINE) 4.31%

สำหรับแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทย ปีนี้ ตระกูลรัตนาวะดี ก้าวขึ้นเป็นแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ด้วยการทำสถิติใหม่ มีความมั่งคั่งสูงถึง 218,981.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45,881.85 หรือ 26.51% จากการถือหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปีนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ตลาดลักชูจีนวิกฤติหนัก แบรนด์หรูต้องปรับตัวอย่างไร เพราะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากพิษเศรษฐกิจจีน

ตลาดสินค้าหรูในจีนกำลังเผชิญกับภาวะตกต่ำอย่างหนังแม้พ้นโควิด โดยผู้บริโภคชาวจีนลดการใช้จ่ายไปกับสินค้าหรูอย่างกระเป๋าแบรนด์เนมและนาฬิกา สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเป...

Responsive image

Anthropic จับมือ Palantir และ AWS เสริมศักยภาพ AI ให้กับหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ

Anthropic จับมือ Palantir และ AWS เสริมศักยภาพ AI ให้กับหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นไปที่การนำ Claude เข้าไปช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงความปลอดภัยสำหรับหน...

Responsive image

ตลาดชิปจีนส่อแววหดตัว เหตุลดนำเข้าอุปกรณ์ผลิตชิป หวังเดินหน้าพึ่งพาการผลิตให้เพียงพอในประเทศ

ตลาดอุปกรณ์ผลิตชิปของจีนมีแนวโน้มที่จะหดตัวในปีหน้า สืบเนื่องจากการเร่งสั่งซื้ออุปกรณ์ล่วงหน้าจำนวนมากในช่วงที่มีความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น...