แรงกดดันจากโควิด-19 ในระยะนี้เริ่มลดลง หลายกิจการกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มที่ รวมถึงการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่สิ่งที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในปีนี้คือ เรื่องของตลาดหุ้นต่างประเทศที่ยังผันผวน สงครามยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น แม้ว่าในภาพรวมจะยังไม่มีแนวโน้มถึงขนาดเศรษฐกิจถดถอย เพราะว่ายังมีการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเหลือเพียงความกังวลเรื่องของเงินเฟ้อ แม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยและปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของเงินเฟ้อภายในประเทศ แต่บริบทไทยยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ และในความจริงก็ยังไม่มีสัญญาณการลดค่าเงินเฟ้อจากทางสหรัฐฯ ด้วย
ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมไทยถึงไม่สามารถปรับนโยบายการเงินได้นั้นมีสาเหตุหลักมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยและความจำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจก่อน
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า อัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90.1 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนการก่อหนี้ที่สูง อีกทั้งยังไม่นับรวมกับหนี้นอกระบบที่ไม่แสดงตัวเลขแต่คาดการณ์ว่าจะสูงกว่าในระบบ อัตราหนี้ครัวเรือนนี้ยังสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วที่คิดเป็น 89.3% ต่อ GDP เมื่อเทียบกับรายได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบ ลูกหนี้ประสบปัญหา รายได้ลดลง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีได้แบบสหรัฐ ดังนั้นค่า MRR จึงไม่สามารถปรับขึ้นได้
ซึ่ง MRR (Minimum Retail Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ ถ้าดูจากอัตราหนี้ครัวเรือนไทยตอนนี้หากมีการปรับขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยแม้จะเป็นการแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็จริงแต่ด้วยสภาพของไทยจึงไม่สามารถเพิ่มได้ เพราะจะยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดหนี้เสียขึ้น
ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้จริง ซึ่งเกิดได้ยากมากในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ทั้งจากปัญหาค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย และในไตรมาสที่สามยังต้องจับตามองสถานการณ์สงครามยูเครนหากลากยาวจนถึงช่วงสิ้นปีจะกดดันราคาพลังงานและยิ่งทำให้มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นถ้าไม่คลี่คลายในช่วงไตรมาสที่สามนี้ และแม้จะคลี่คลายแต่ราคาพลังงานจะยังคงไม่ปรับตัวลดลงมากเท่าแต่ก่อน
นอกจากนี้ยังมีตัวแปรด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่เป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ของไทยเนื่องจากนโยบายปิดเมืองกับปัจจัยด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมไปถึงยุโรปที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศยิ่งมีความท้าทายมากขึ้น
ในด้านการเปิดประเทศหากมีการเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติก็จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวรวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับขึ้นมาได้ ก่อนสิ้นปี
หากกล่าวถึง Startup และการระดมทุนนั้น อาจจะได้รับผลดี เพราะยังไม่ต้องรับภาระจากดอกเบี้ยที่เพิ่มไปพร้อมกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การลงทุนในเทคโนโลยีและ Digital currency แม้จะเป็นทางเลือกที่ดีแต่ความผันผวนและการไม่เข้าใจถึงวิธีการทำงานก็ยิ่งทำให้เสี่ยงและส่งผลต่อการลงทุนในอนาคตได้ เช่นที่เคยเกิดกับกรณีเหรียญ Luna ดังนั้น การเปลี่ยนไปลงทุนในกลุ่ม Digital currency ก็มีความเสี่ยงที่จะฟองสบู่แตกได้และส่งผลกระทบกลับมาที่เศรษฐกิจได้เช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงสร้างพื้นฐานและอีโคซิสเตมของไทยยังไม่พร้อมกับการใช้งานคริปโตเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตามจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ไม่ว่าอย่างไรการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะอยู่ที่ไม่เกิน 3-4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าค่าเงินเฟ้อในประเทศที่คาดการณ์ว่าจะสูงถึง 4.9% (ธปท.) หมายความว่าแม้จะมีการเติบโตแต่ก็ยังน้อยกว่าราคาของที่ปรับตัวแพงขึ้น และยังไม่รวมถึงการกระจายรายได้ที่ทุกภาคส่วนต้องแบกรับต้นทุนราคาที่เพิ่มขึ้น ความหวังของประเทศจึงอยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวที่จะนำเงินเข้ามาในประเทศและสร้างการจ้างงานระยะยาวได้ รวมถึงการคลี่คลายจากสถานการณ์สงครามยูเครนในไตรมาสที่สี่นี้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด