ไทยไร้สินค้าดาวรุ่ง เสี่ยงล้าหลัง โลกลืม: บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในวันที่ส่งออกอ่อนแรง | Techsauce

ไทยไร้สินค้าดาวรุ่ง เสี่ยงล้าหลัง โลกลืม: บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในวันที่ส่งออกอ่อนแรง

ภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ด้านเศรษฐกิจ นำโดยภาคการลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ  ไปจนถึงนโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ภาคการส่งออกไทยดูจะ ‘อ่อนแรง’ และอาจทำให้ไทยเสียจุดยืนในตลาดโลก การหวังพึ่งภาคส่งออกเป็นหลักเหมือนอย่างที่ผ่านมาอาจเป็นเรื่องยาก

ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ส่งออกของเก่าที่โลกใหม่ต้องการน้อยลง ไทยอาจเป็นฐานการผลิตที่โลกลืม

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ไทยมี Winner Products หรือสินค้าส่งออกสำคัญทั้งหมด 17 อย่าง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล, คอมพิวเตอร์ / แลปท็อป, ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD), แผงวงจรไฟฟ้า (IC), รถยนต์ขนส่งสินค้า, ชิ้นส่วนยานยนต์, โทรศัพท์มือถือ, เครื่องปรับอากาศ, แผงโซล่าเซลล์ และข้าว 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขส่งออกสินค้ากลับคงที่ตลอด 10 ปีหลังที่ผ่านมา โดยเหตุผลมาจากการที่ตลาดส่งออกหลักของไทยกระจุกตัวอยู่แค่ 5 กลุ่มประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น, อาเซียน (ไม่รวมบรูไน) และยุโรป นอกจากนี้ Winner Products ของไทย กลับเป็นสินค้าที่ “โลกเก่า” ต้องการน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยการมาถึงของ “โลกใหม่” ยกตัวอย่างเช่น

  • รถยนต์สันดาป หรือชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ถูกตีตลาดอย่างหนักด้วยรถยนต์ไฟฟ้า

  • ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) และมีราคาใกล้เคียงมากขึ้น

  • ผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่มีความต้องการลดลงเพราะเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียวที่มาแรง

จะเห็นว่า ไทยยังไม่มี “สินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่” ที่กำลังเติบโต และเป็นที่ต้องการของตลาดตามเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สมาร์ทโฟน, แผงวงจรไฟฟ้า หรือ SSD ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งในตลาดนี้ลดลงตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คู่แข่งโดยตรงของไทยอย่าง เวียดนาม และมาเลเซีย กำลังกลายเป็น “ดาวรุ่ง” คนใหม่ในตลาดส่งออก 

คู่แข่งเร่งสปีด ในวันที่ไทยไร้สินค้าโลกใหม่

เวียดนาม เป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกที่แซงหน้าประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีสินค้าดาวรุ่งอย่างสมาร์ทโฟน แผงวงจรไฟฟ้า IC และแผง Solar cell ที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งยังมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมเบา เช่น รองเท้า สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ส่วนสินค้าโลกเก่าที่กำลังถูกทดแทนนั้น เวียดนาม มีการส่งออกในสัดส่วนที่ถือว่าน้อยมาก และไม่ได้ขยายส่วนแบ่งตลาดกลุ่มนี้มากนัก 

ขณะที่ มาเลเซีย แม้ว่าจะสินค้าส่งออกแค่ไม่กี่ประเภท แต่มุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์จากปิโตเลียม แผงวงจรไฟฟ้า IC รวมถึงสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสินค้าที่โลกใหม่ต้องการ และยังมีสินค้าดาวรุ่งอย่าง SSD ที่ขยายส่วนแบ่งการตลาดได้ดี 

เมื่อมองกลับมาที่ไทย แม้ว่าจะมีสินค้าที่ดูจะไปต่อ และพอแข่งขันในตลาดโลกได้ คือ กลุ่มการเกษตร และสินค้าที่ไม่ได้มีความซับซ้อนด้านการผลิต เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป หรือยางรถยนต์ แต่ตลาดโลกไม่ได้มีความต้องการเพิ่มขึ้น มูลค่าส่งออกไม่ได้สูงมากนัก 

แม้แต่ ‘ข้าว’ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ก็ต้องแย่งชิงตลาดจากคู่แข่งอย่าง เวียดนาม และอินเดีย

จีนตีตลาด ปัญหาใหญ่ของการผลิต และส่งออก

“การนำเข้าสินค้าจากจีน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ส่งผลต่อภาคการผลิต และการส่งออกไทยโดยตรง สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน ณ ปัจจุบันไม่ใช่แค่สินค้าเพื่อการผลิต แต่เริ่มเป็นสินค้าอุปโภคที่เข้ามาทดแทนสินค้าที่ผลิตในไทย และยิ่งการที่ไทยมีข้อตกลงการค้า Free Trade Agreement (FTA) ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจีนถูกมาก และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เร่งให้สินค้าจีนโดยเฉพาะ รถยนต์ไฟฟ้า เข้ามาตีตลาดไทยอย่างหนักหน่วง

นอกจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว สินค้าที่ถูกนำเข้ามาจากจีนทั้งในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ หรือยางรถยนต์ ก็ถูกจีนทุ่มตลาดอย่างหนัก ทำให้ไทยแข่งขันด้านราคาได้ยาก และยังส่งผลไปถึงถึงตัวเลขการผลิตที่หดตัวลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย

การทำ Re-routing ของผู้ประกอบการจีน เป็นสิ่งที่ลดมูลค่าการส่งออกของไทยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การส่งออกแผงโซล่าเซลล์ (Solar PV) ของไทยไปยังสหรัฐฯ ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากดูข้อมูลอย่างละเอียดจะพบว่า จำนวนแผงโซลาเซลล์ที่ไทยนำเข้าสะสมจากจีนตั้งแต่ต้นปี 2022 มีจำนวนใกล้เคียงกับตัวเลขที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การส่งออกสินค้าบางชนิดของไทยที่ถูก re-routing จากจีน อาจไม่ได้ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นแม้ว่าการส่งออกจะเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ไทยต้องก้าวไปทางไหนในเศรษฐกิจโลกใหม่ ?

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลาง นำไปสู่ความกังวลว่าไทยกำลังถูกโลกใหม่ไล่บดขยี้เพราะตามไม่ทันหรือเปล่า 

อันที่จริงไทยยังมีโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย “พลังงานสะอาด” 

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในระยะ 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเกิดกระแสการลงทุนในด้านไฟฟ้าสะอาดด้วยเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสะอาดที่มากกว่าเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยต้องเร่งเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด พร้อมกับสร้างพลังสะอาดที่เพียงพอ และมีราคาที่แข่งขันในระดับภูมิภาคได้ 

ขณะที่ KKP Research ระบุว่า ผลกระทบที่ไทยกำลังพบเจอ อาจไม่สามารถแก้ไขด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไทยต้องเร่งหานโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-side structural reform policy) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ทั้งจากภายใน และภายนอกประเทศ

รวมถึงการปฏิรูปให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ เพื่อลดการขาดแคลนแรงงานในสังคมผู้สูงวัย และดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทย ไปจนถึงการลดข้อกำจัด และกฏระเบียบด้านการทำธุรกิจ 

นโยบายเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว

อ้างอิง : KKP Research, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ททท. x TikTok หนุนครีเอเตอร์ ร่วมฝึกคน ททท. เล่าเรื่องเมืองไทย เพิ่มรายได้เข้าท้องถิ่น

เจาะความร่วมมือระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ TikTok ในด้านวิธีส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ทั้งการดึงครีเอเตอร์ทั้งไทยและเทศ มามีส่วนร่วมมากขึ้น, การพั...

Responsive image

True IDC จับมือ Siam AI Cloud ยกระดับ AI Ecosystem ไทยสู่ระดับโลก

ทรู ไอดีซี และ สยามเอไอคลาวด์ ร่วมมือพัฒนาระบบนิเวศ AI ของไทย ครอบคลุมดาต้าเซ็นเตอร์ AI โมเดล และบริการ AI-as-a-Service มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลาง AI ของภูมิภาคอย่างยั่งยืน...

Responsive image

OpenAI ปล่อย ChatGPT o1 ตัวเต็ม เจาะกลุ่ม STEM ใช้ได้บน ChatGPT Pro ราคาราว 6,800 บาท

OpenAI ฉลองเทศกาลคริสต์มาส 2024 ด้วยแคมเปญพิเศษ "12 Days of OpenAI" เปิดตัวโมเดล o1 และ ChatGPT Pro พร้อมอัปเดตความสามารถใหม่ รองรับการใช้งาน AI ขั้นสูงสุดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ...