สมรภูมิ Chip War ยังคงดุเดือด หลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการกีดกันการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปและเทคโนโลยีชั้นสูงไปยังจีน ขณะเดียวกัน จีนก็ไม่ยอมแพ้ พยายามดิ้นรนหาทางรอดด้วยการสนับสนุนบริษัทชิปชั้นนำในประเทศอย่าง SMIC และ CXMT ซึ่งอยู่ในบัญชีดำการค้าของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยการหาซัพพลายเออร์ท้องถิ่นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ
จีนยังเดินหน้าสร้างพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งกลับมาหารือกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 หลังห่างหายไปนานถึง 4 ปี แสดงถึงความมุ่งมั่นของจีนในการฟื้นฟูและเสริมความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมชิป
อย่างไรก็ตาม การเล่นนอกกฎกติกาก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ Bloomberg รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ตำรวจเกาหลีใต้ได้จับกุมอดีตเจ้าหน้าที่บริษัท Samsung Electronics จำนวน 2 รายในข้อกล่าวหา “ขโมยเทคโนโลยีมูลค่ากว่า 4.3 ล้านล้านวอน (1.07 แสนล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปที่เลียนแบบเกาหลีใต้ในจีน”
สำนักงานตำรวจนครบาลโซล เปิดเผยว่า อดีตพนักงานของ Samsung สองรายได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จีนเพื่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศจีน
โดยหนึ่งในผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นชายชาวเกาหลีใต้อายุ 66 ปี นามสกุลชเว อดีตหัวหน้าโครงการพัฒนาชิปของ Samsung ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านชิปจากเกาหลีใต้นามสกุลโอเป็นผู้ออกแบบโรงงาน นำข้อมูลเทคโนโลยีลับของ Samsung ไปให้บริษัทจีน ด้าน Bloomberg รายงานว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องมีที่ชื่อว่า Chengdu Gaozhen เป็นบริษัทร่วมทุนของจีน
ตำรวจไม่ได้เปิดเผยช่วงเวลาหรือสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ระบุว่ามีความคล้ายคลึงกับกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2023 ซึ่งอดีตผู้บริหารของ Samsung ถูกจับกุมในข้อหาขโมยพิมพ์เขียวเพื่อพยายามสร้างโรงงานผลิตชิปแบบเดียวกันในจีน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตชิป
เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนายชเวและนายโอได้ร่วมงานกับเจ้าหน้าที่จีนในการผลิตชิป DRAM 20 นาโนเมตรขั้นสูง (เป็นเทคโนโลยีที่ Samsung พัฒนาขึ้นมา ) ตำรวจกล่าวว่าเหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อ Samsung เท่านั้น แต่ยังทำให้ความสามารถของเกาหลีใต้ในการแข่งขันในอุตสาหกรรมชิประดับโลกอ่อนแอลงด้วย
ตำรวจระบุว่าการสืบสวนของพวกเขาสามารถหยุดการดำเนินงานของบริษัทจีนได้สำเร็จ แต่ยังคงตรวจสอบว่ามีการรั่วไหลของเทคโนโลยีจาก Samsung เพิ่มเติมหรือไม่ ขณะที่ตัวแทนจาก Samsung ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จีนใช้จ่ายเงิน 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8.4 แสนล้านบาท) ทำลายสถิติเดิม ซึ่งมากกว่าเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐฯ รวมกัน และคาดว่าจีนจะใช้จ่ายเงินประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) ในปีนี้สำหรับการสร้างโรงงานชิปใหม่และซื้ออุปกรณ์ การลงทุนครั้งใหญ่ครั้งนี้มาจากทั้งผู้ผลิตชิปรายใหญ่และรายย่อยของจีน
การลงทุนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าจีนลงทุนอย่างหนักในการผลิตชิปเอง และการหาไส้ศึกในสนามรบ Chip War ของจีนในครั้งนี้ก็ไม่ใช่การเล่นนอกกติกาครั้งแรกของจีน
นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ เริ่มจำกัดการเข้าถึงชิป บริษัทต่างๆ ของจีนก็ได้หาวิธีอื่นๆ เพื่อให้ได้ชิปเหล่านั้นมา แทนที่จะซื้อโดยตรง พวกเขาซื้อผ่านผู้ขายรายย่อยหรือเช่าเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่นๆ ที่ใช้ชิป Nvidia เซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ให้บริการโดยบริษัทใหญ่ๆ เช่น Google และ Microsoft ทำให้บริษัทต่างๆ ของจีนสามารถหลีกเลี่ยงข้อจำกัดได้โดยไม่ต้องฝ่าฝืนกฎโดยตรง
ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้มีรายงานจาก Reuters ว่า หน่วยงานขั้นสูงของจีนสามารถเข้าถึงชิป Nvidia ผ่านพ่อค้าคนคลาง และมีการสร้างตลาดมืดเพื่อขายชิป Nvidia ในประเทศจีน ก่อนที่ตลาดเหล่านี้จะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หรือแม้แต่ในไต้หวันที่นับว่าเป็นเจ้าตลาดในอุตสาหกรรมชิป ก็เคยมีรายงานว่า บริษัทจีนพยายามดึงวิศวกรชั้นดีโดยเสนอเงินมากกว่าเดิมถึง 500% เพื่อหวังถ่ายโอนความรู้กลับไปยังประเทศจีน
ตัวอย่างเหล่านี้น่าจะแสดงภาพให้เห็นว่า จีนพยายามทุกวิธีทางเพื่อแข่งขันในสงครามชิปครั้งนี้
ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้ปัจจุบันเวียดนามกำลังใช้ประโยชน์จากปัญหานี้ ดึงดูดบริษัทชิป โดยเวียดนามเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อทำให้เวียดนามเป็นสถานที่ที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุน อาทิ
แต่เวียดนามก็เผชิญกับความท้าทายจากสหรัฐฯ ที่ยังมีข้อจำกัดในการส่งออกชิป Nvidia บางส่วนไปยังเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกังวลว่าชิปเหล่านี้อาจถูกส่งไปยังจีนในที่สุด
จีนหันมาใช้ชิป AI จาก Huawei หลังสหรัฐหยุดส่งออกชิปชั้นนำ หลังจากที่สหรัฐฯ หยุดส่งออกชิป AI ระดับสูงไปยังจีน บริษัทเทคโนโลยีจีนอย่าง Baidu, Tencent และ iFlytek เริ่มหันมาใช้ชิปทางเลือกจาก Huawei อย่างไรก็ตาม ชิปของ Huawei ประสบปัญหาเนื่องจากแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ Cann ของพวกเขายังไม่ทำงานได้ดีเท่าที่ควร
ก่อนหน้านี้ชิป AI ของ Nvidia ได้รับความนิยมเนื่องจากซอฟต์แวร์ Cuda ที่ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ แต่ด้านผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะต้องใช้เวลานานก่อนที่ชิปของ Huawei จะสามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วของ Nvidia ได้
ปัจจุบันเทคโนโลยีชิปของจีนตามหลังบริษัทชั้นนำอย่าง TSMC ประมาณ 3 ปี คาดว่าการลงทุนในภาคส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 20% ในปีหน้า สงครามชิปครั้งนี้จึงยังคงเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน โดยทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็พยายามที่จะเพิ่มอิทธิพลของตนเองในอุตสาหกรรมชิป และการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ยังคงส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง: bloomberg, asia.nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด