AI จีนไปไกลแค่ไหน สู้สหรัฐฯ ได้ไหม ในวันที่ถูกบีบจนมุม | Techsauce

AI จีนไปไกลแค่ไหน สู้สหรัฐฯ ได้ไหม ในวันที่ถูกบีบจนมุม


ชัดเจนว่าบริษัทอเมริกันอย่าง OpenAI ก้าวกระโดดแซงหน้าทุกคนในด้าน AI ไปไกลแล้ว แต่จีนกำลังพยายามไล่ตาม ผมคิดว่าจีนน่าจะตามหลังรุ่นท็อปอยู่ประมาณ 2 ปี

Joseph Tsai ผู้ร่วมก่อตั้งเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba กล่าวถึงภาพรวมการพัฒนา AI ในจีน ที่กำลังเผชิญกับสงคราม Tech War ข้ามซีกโลก หลังสหรัฐฯ ได้ออกข้อจำกัดเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ส่งออก ‘ชิปประสิทธิภาพสูง’ ไปยังทุกบริษัทในจีน ส่งผลทำให้จีนเข้าสู่ภาวะขาดแคลนชิปอย่างหนัก ชิปที่สต็อกไว้อาจเพียงพอสำหรับใช้พัฒนา AI ได้อีก 1 ปี หรืออีก 18 เดือนข้างหน้าเท่านั้น

สงครามครั้งนี้เพิ่งเริ่ม และยังไม่มีทีท่าที่จะจบลงง่าย ๆ เพราะฝั่งจีนต้องการพัฒนา AI ให้ก้าวหน้าไม่เป็นสองรองใคร แต่ตอนนี้ AI จีนเป็นอย่างไรบ้าง ?

จีน ยืนอยู่ตรงไหนในโลก AI 

จากรายงาน AI Index Report 2024 เผยให้เห็นถึงความพยายามอย่างหนักหน่วงในด้าน AI ของจีน มีการยื่นขอสิทธิบัตรด้าน AI ในสัดส่วนที่สูงจนน่าตกใจเมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สิทธิบัตร AI ที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่กว่า 61% มาจากจีนกว่า ขณะที่สหรัฐฯ และคู่แข่งประเทศอื่น กลับมีสิทธิบัตรใหม่ลดลงเรื่อย ๆ

และหากย้อนไปดูตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนช่วงปี 2013 - 2023 จะพบว่า จีนลงทุนไปมากถึง 103.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทิ้งห่างสหราชอาณาจักรถึง 5 เท่า และแน่นอนว่าเงินลงทุนในจีนเป็นรองแค่เพียงแชมป์โลกอย่างสหรัฐฯ แค่ชาติเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า AI จีนเป็นเบอร์สองของโลก และกำลังวิ่งไล่ตามเบอร์หนึ่งเข้าไปทุกย่างก้าว

แต่สิ่งที่สำคัญตอนนี้ของจีนไม่ใช่เงินลงทุน แต่คือ ‘ชิป’ ที่เป็นหัวใจในการสำคัญเพื่อพัฒนา AI จีนจะรับมือกับ Tech War ครั้งนี้อย่างไร ?

ยิ่งแบน ยิ่งบีบให้จีนต้องเร่งทุกฝีก้าว

แม้จะเผชิญอุปสรรค แต่จีนก็ไม่ลดละความพยายาม มีรายงานจากไต้หวันว่า บริษัทจีนพยายามที่จะดึงวิศวกรชั้นดีจากไต้หวัน โดยเสนอเงินให้สูงที่รับในไต้หวันถึง 500% และยังมีการตั้งบริษัทนอมินี (Shell Company) ในไต้หวันเพื่อถ่ายโอนความวิทยาการกลับไปยังจีน ส่งผลให้ไต้หวันต้องออกกฎหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมชิป รวมถึงสั่งให้เว็บไซต์หางาน ลบประกาศรับสมัครงานประเภทนี้ทันที

ไต้หวัน ถือว่าเป็นเจ้าตลาดในอุตสาหกรรมชิป และเป็นผู้นำด้านวิทยาการชิป ครองส่วนแบ่งชิปขั้นสูงของโลกมากถึง 68% บริษัท TSMC ของไต้หวัน ผลิตชิปขั้นสูงเกือบ 90% ของโลกที่ใช้สำหรับ AI และคอมพิวเตอร์ควอนตัน มีการผลิตชิปประเภทต่าง ๆ ให้กับบริษัท Apple, Nividia, Qualcomm และอีกหลายบริษัท 

เอกสารประมูลหลายร้อยฉบับที่ Reuters ได้รับมา พบว่า หน่วยงานจีน 10 แห่ง เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์จีน ไปจนถึงศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศ ได้รับชิป Nvidia ขั้นสูงผ่านพ่อค้าคนกลาง 11 ราย ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าร้านค้าเหล่านี้ได้ชิปมาจากไหน แต่ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางปี 2023 มีการค้นพบตลาดมืดที่ขายชิป Nvidia ในจีน ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่สหรัฐฯ จะขยายข้อจำกัดด้านการส่งออก ก่อนที่พ่อค้าเหล่านั้นจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

แม้จะเป็นข้อมูลเพียงเล็กน้อย แต่ก็การที่จีนสามารถเข้าถึงชิป AI ขั้นสูงเหล่านี้ได้ แสดงให้เห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้จีนเร่งพัฒนาชิปของตัวเองให้มีประสิทธิภาพเทียบชั้นฝั่งตะวันตก

การเร่งขยับตัวของจีนเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ หลัง Jack Ma ผู้ก่อตั้งบิ๊กเทค Alibaba ที่วางมือจากตำแหน่งไปแล้ว ได้ส่งจดหมายภายในถึงพนักงานเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กร และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ พร้อมเน้นย้ำว่า

‘ยุคแห่ง AI เพิ่งเริ่มต้น ทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และ Alibaba กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม’


ฝั่งประธาน Alibaba คนปัจจุบันอย่าง Joseph Tsai ก็มองสงครามชิปครั้งนี้ว่า บริษัทเทคโนโลยีจะได้รับผลกระทบแค่ในระยะสั้น และในระยะกลาง แต่ในระยะยาวจีนจะสามารถพัฒนาชิปประสิทธิภาพสูงเหล่านี้ได้เอง แม้ยังไม่มีไทม์ไลน์ชัดเจนว่าชิป AI ประสิทธิภาพสูงที่ว่าจะออกมาเมื่อไหร่ แต่จีนนั้นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นด้านการพัฒนา Semiconducter เป็นอย่างมาก

Huawei คือหนึ่งในบริษัทที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของชิปในจีน เมื่อปลายปีที่แล้วได้เปิดตัว Mate 60 Pro สมาร์ทโฟนเรือธงที่ใช้ชิปเซ็ต Kirin 9000s ถูกพัฒนาบนสถาปัตยกรรมระดับ 7 นาโนเมตร และถือว่าเป็นชิปที่ก้าวหน้า และทันสมัยที่สุดของบริษัทผู้ผลิตชิปอันดับ 1 ในจีนอย่าง SMIC แม้ว่า Huawei จะเผชิญมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ มาโดตลอด

การผลิตชิปด้วเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าของจีน แม้จะถูกตั้งคำถามจากฝั่งสหรัฐฯ ว่ามีการละเมิดกฎเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือการพัฒนาหรือไม่ ?

AI จีนตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ?

รหัสพนักงาน : AI001 |  ชื่อจริง : Tongyi Lingma | บุคลิกภาพ : INTJ | ความสามารถ : เขียนโค้ด

นี่คือข้อมูล ‘พนักงาน AI คนแรก’ ของบริษัท Alibaba รับตำแหน่งผู้ช่วยเขียนโค้ด ปัญญาประดิษฐ์ Tongyi Lingma ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือโปรแกรมเมอร์ในหลายด้าน ทั้งการเขียนโค้ด แก้ไขจุดบกพร่อง และทดสอบโค้ด 

พนักงาน AI รายนี้มีความเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมมากกว่า 200 ภาษา มีจุดเด่นที่การวิเคราะห์ไฟล์โค้ด และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งทาง Alibaba ระบุว่า AI รายนี้จะเข้ามาช่วยเขียนโค้ด 20% ของโค้ดทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดงานพื้นฐานที่ซ้ำซากจำเจ ให้คนมีเวลามากขึ้นในการออกแบบ และพัฒนาธุรกิจหลัก

ผู้ช่วยเขียนโค้ด Tongyi Lingma เคยเปิดให้ทดลองใช้งานมาตั้งแต่ปี 2023 มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดีด้วยยอดดาวน์โหลดมากกว่า 2 ล้านครั้ง มีโปรแกรมเมอร์ใช้งานโค้ดที่สร้างด้วย AI ตัวนี้หลายล้านบรรทัดต่อวัน แถมติดอันดับ 5 ของผู้ช่วยเขียนโค้ดยอดนิยมในจีนด้วยสัดส่วน 12.9%

Credit : Baidu Research

บิ๊กเทคจีนอีกรายที่โดดเด่นด้าน AI คือ ‘Baidu’ ที่ได้เปิดตัวแชทบอท ‘Ernie Bot’ คู่แข่งโดยตรงของ ChatGPT สำหรับ Ernie Bot ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านคน หลังเปิดตัวได้เพียงแค่ 8 เดือน มีการเรียกใช้ AI ตัวนี้มากถึง 50 ล้านครั้งต่อวัน และในตอนนี้ก็มีลูกค้าองค์กรกว่า 85,000 รายนำ Ernie Bot ไปใช้งานแล้ว 

การที่บริษัทต่างประเทศบุกจีน ก็อาจเป็นหนึ่งในตัวเร่งที่ทำให้ AI จีนโตเร็วขึ้น ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า Samsung มีแผนที่จะนำ AI ของ Baidu มาติดตั้งในสมาร์ทโฟนเรือธง Galaxy S รุ่นใหม่สำหรับขายในจีน ฝั่ง Apple เองก็มีข่าวเคยหารือกับ Baidu เพื่อให้นำ Ernie Bot มาใช้ประมวลผลฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับ AI บน iPhone 16 เฉพาะรุ่นที่วางจำหน่ายในจีน

หรือจะเป็นกรณีล่าสุดของ Tesla ที่จำเป็นต้องจับมือกับ Baidu เพื่อผลักดันระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Full Self Driving : FSD) ให้เกิดในจีน เนื่องจากระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง ต้องผ่านเกณฑ์ที่เรียกว่า ‘คุณสมบัติการสำรวจแผนที่’ ซึ่งครอบคลุมซอฟต์แวร์หลายประเภทรวมถึง AI 

จีนอาจจะยังตามหลัง 2 ปีอย่างที่ Joseph Tsai กล่าวไว้ แต่จีนกำลังวางรากฐานสำหรับแข่งขันด้าน AI ในระยะยาว เพราะจีนกำลังขยายฐานนักวิจัยในประเทศ ตอนนี้สามารถผลิตนักวิจัย AI ได้มากกว่าสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งนักวิจัย AI ชั้นนำที่ทำงานในสถาบันของหรัฐฯ ก็มีสัดส่วนถึง 38% และหากพิจารณาจากเงินลงทุนที่เป็นรองเพียงสหรัฐฯ 

น่าจับตามองว่า Tech War ด้าน AI ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป


อ้างอิง : AI Index Report, Business Today, CNBC, IT Brew, Nikkei, Reuters (1) (2) (3), Sixth Tone, SCMP (1) (2)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...

Responsive image

ใครคือ SIAM AI CLOUD ? บริษัทเทคไทยที่ NVIDIA เลือก ด้วยอายุจดทะเบียนเพียง 10 เดือนกับ 19 วัน

บทความนี้จะพาไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของ SIAM AI CLOUD ทำไมไทยที่ก่อตั้งมาไม่ถึงปีถึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการเทคโนโลยีจนดึงตัวแม่ทัพใหญ่ของ NVIDIA มาไทยได้ !...

Responsive image

10 ไฮไลท์นวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพไต้หวัน ก้าวล้ำนำอนาคตในงาน Taiwan Expo 2024

10 นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไฮไลท์จาก Taiwan Healthcare Pavilion ที่จะมาปฏิวัติวงการแพทย์ในทุกมิติ จากงาน Taiwan Expo 2024...