คุยกับ ‘อธิบดีกรมสรรพากร’ หน่วยงานราชการที่เข้าใจการทำ ‘Digital Transformation’ | Techsauce

คุยกับ ‘อธิบดีกรมสรรพากร’ หน่วยงานราชการที่เข้าใจการทำ ‘Digital Transformation’


เมื่อพูดถึงการทำ Digital Transformation เรามักนึกภาพการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภาคธุรกิจมากกว่า แต่อันที่จริง ทุกภาคส่วนไม่มีใครหนี Digital Transformation ได้อีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน ทุกภาคส่วนนั้นก็รวมถึงผู้กำหนดนโยบายอย่างภาครัฐและหน่วยงานราชการซึ่งมีหลายหน่วยงานได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว

“กรมสรรพากร” เป็นหน่วยงานราชการที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวโดยตรง ทั้งความเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมประชาชนในปัจจุบันที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการยื่นภาษีแบบเดิม และการค้าขายบนโลกดิจิทัลที่ไร้พรมแดน ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของกรมฯ เสี่ยงต่อการไปไม่ถึงเป้าหมายซึ่งส่งผลเสียกับประเทศโดยรวมเช่นกัน

แต่ ดร.เอกนิติ นิติฑัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าวดี จึงเลือกศึกษาการทำ Digital Transformation อย่างจริงจัง และนำพากรมฯ จนเป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่เข้าใจกระบวนการนี้อย่างดี ผลลัพธ์ที่ประจักษ์ชัดนอกจากรูปแบบการยื่นภาษีที่สะดวกกว่าเดิมแล้ว ยังเป็นการเก็บภาษีได้มากกว่าเป้าโดยไม่ต้องออกมาตรการหรือเกณฑ์ใหม่แม้แต่น้อย ซึ่ง Techsauce ได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์ ดร.เอกนิติ นิติฑัณฑ์ประภาศ ถึงวิสัยทัศน์การบริหารกรมสรรพากรในยุคที่ทุกอย่างกำลังจะเป็นดิจิทัล

Digital Transformation ของกรมสรรพากรมีวิสัยทัศน์และวิธีดำเนินงานอย่างไร

ดร.เอกนิติ : เมื่อมารับตำแหน่งอธิบดี ก็คิดว่าเราจะขับเคลื่อนองค์กรและคนในประเทศได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการตั้งกลยุทธ์ชื่อว่า “D2RIVE” เพื่อให้ทุกคนในองค์กรใช้เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนกรมสรรพากร โดย “D2RIVE” นั้นย่อมาจาก

D: Digital Transformation เป็นการเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานขององค์กรให้เป็นดิจิทัลที่ช่วยทั้งประสิทธิภาพ ต้นทุน และความสะดวกแก่ผู้รับบริการ

D: Data Analytic เป็นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงรูปแบบการเก็บภาษีไปจนถึงเสนอบริการใหม่ๆ

R: Revenue Collection คือการคิดวิธีเก็บภาษีอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะกรมสรรพากรเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ

I: Innovation เป็นการสร้าง culture ทั้งหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Hackatax ที่เราวางแผนไว้และจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป

V: Value เป็นการสร้างแนวคิดขับเคลื่อนองค์กร โดยนำเรื่ององค์กรคุณธรรมมาขับเคลื่อน 

E: Efficiency ป็นเรื่องของประสิทธิภาพภายในองค์กร โดยเฉพาะเรื่อง Smart people และ Smart office

ในเรื่องแรก Digital Transformation ก็เป็นหัวใจหลักที่กรมสรรพากรเห็นว่ามัน Transform ในด้านกระบวนการ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดว่าเราต้องยึดลูกค้า (ผู้เสียภาษี) เป็นหลัก นั่นคือการคิดแบบ Customer Centric มีการทำ Customer Journey ดูว่า Touch Point ของเขาคืออะไร ตั้งแต่ต้นกระบวนการในการมาลงทะเบียน ยื่นแบบ จนถึงเสร็จกระบวนการ เราต้องยึด Customer Centric เป็นหลัก

Digital Transformation มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นดิจิทัล แต่มันคือการเปลี่ยนกระบวนการคิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การยื่นแบบเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เมื่อก่อนถ้ามายื่นแบบจะต้องมาเข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เราก็ใส่ทุกอย่างอยู่ในนั้น ต่อมาสรรพากรก็พัฒนาระบบการยื่นแบบเสียภาษีทางอินเทอร์เน็ตที่กรอกข้อมูลเพื่อยื่นได้เลย ซึ่งทำออกมาได้ดี แล้วทำไมเราต้องทำแบบเดิม

อย่างแรกคือ เรานำเรื่อง UX Design มาตอบโจทย์ ถ้าไปเข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็จะเห็นว่าตอนนี้เขาทำเรื่องอะไรบ้าง อย่างที่สองคือเรื่อง Process ทำไมเราต้องมานั่งพัฒนาการเขียนแบบเอง เพราะการทำระบบยื่นแบบอินเทอร์เน็ตต้องรองบประมาณ ซึ่งกระบวนการทำงบประมาณของไทย ต้องวางแผนก่อน 3 ปี คือเขียนของบประมาณในปีที่ 1 อนุมัติงบประมาณปีที่ 2 จัดซื้อจัดจ้างในปีที่ 3 เสร็จแล้วก็ทำ TOR ซึ่งแผนที่เคยทำใน TOR มันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ตอบโจทย์ลูกค้าอีกแล้ว ถ้าเรายังติดการทำงานภายใต้กรอบ เราไม่มีทางเป็นองค์กร 4.0 ได้แน่ๆ

กรมสรรพากรก็เปลี่ยนวิธีคิด เราก็มาดูว่าตอนนี้เอกชนเขาทำอะไร ด้วยความที่เราสนใจเทคโนโลยีก็ไปศึกษาเรื่อง Digital Transformation โชคดีที่เราได้มีโอกาสไปดูหลายๆ ที่ และไปเห็นที่ต่างประเทศ ซึ่งพอเราได้เห็นเราก็คิดได้ว่าต้องคิดมุมใหม่ เราเป็นคนกำหนดกติกา แทนที่เราจะมานั่งพัฒนาแบบฟอร์มยื่นแบบเอง เราก็ให้สตาร์ทอัพเข้ามา Plug In กับเรา แต่เราจะเป็นคนตรวจสอบว่าคุณมีคุณภาพ และทำตามกฎกติกา

เรากำหนดมาตรฐานเรียกว่า open API ซึ่งก็เป็นที่มาที่เราได้ Startup ที่ชื่อว่า iTax เข้ามา ตอนนี้เราก็เปิดให้กับทุกคนเพราะเรายังมีมาตรฐานตรงนี้อยู่ เราก็ได้ Feedback กลับมาว่าใช้งานขึ้น แบบฟอร์มดูง่ายขึ้น และอีกไม่นานตรงนี้ก็จะกลายเป็น Platform ที่ Startup และเอกชนจะมาช่วยกันพัฒนาต่อ

ถ้าเราออกแบบเอง เราก็อาจจะพัฒนาไม่ทันคนอื่นเขา แต่เมื่อ Startup เข้ามาแล้วจะช่วยให้บริการได้ดีขึ้น หรือต่อไปมีเอกชนเข้ามาเชื่อมต่ออีก ประชาชนก็ได้ประโยชน์ที่สุด สิ่งที่ได้คือกรมสรรพากรทำให้คนเสียภาษีง่ายขึ้น ฐานภาษีเราก็จะกว้างไปอีก นี่ก็เป็นตัวอย่างแบบเป็นรูปธรรมของ Digital Transformation

Digital Transformation มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นดิจิทัล แต่มันคือการเปลี่ยนกระบวนการคิด

นอกจากการทำ Digital Transformation ที่กระบวนการแล้ว เรายังเอา Talent ในสรรพากรมาเป็นหัวหน้าทีม Startup เพราะเรามองว่าเราต้อง Transform คนไปพร้อมกันด้วย ตอนนี้กำลังวางหลักสูตรอยู่ อีกเรื่องหนึ่งคือเรานำ Design Thinking มาใช้กับคนทั้งกรมฯ เป็นเครื่องมือให้คนทั้งกรมฯ มีแนวคิดเอาลูกค้าเป็นหลัก โดยหลักสูตร Design Thinking ใช้วิธีทำตั้งแต่ Top Down คือให้ระดับหัวหน้าอินกับเรา โชคดีที่เราได้บริษัทที่ปรึกษามาช่วย ก็เลยจัด Workshop สำหรับผู้บริหารกรมฯ ได้สำเร็จ ตั้งแต่รองอธิบดี ที่ปรึกษา ไปจนถึงสรรพากรภาค มานั่งทำ Design Thinking เพื่อให้เข้าใจมุมคิดใหม่ ตอนนี้เริ่มทำถึงระดับภาคแล้ว เมื่อระดับ Top เริ่มเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่เราให้เขาเพื่อใช้ขับเคลื่อน ปีต่อไปเราก็จะทำเรื่อง Agile ตอนนี้กำลังวางแผนอยู่ว่าจะทำอย่างไร เพราะราชการเป็นหน่วยงานที่ Silo เยอะมาก เราก็จะทำให้เกิด Culture ใหม่เพื่อให้เกิด People Transformation ไปพร้อมกัน

อีกเรื่องคือการทำให้คนเข้าใจเรื่องของ “นวัตกรรม” โดยเปิดให้คนที่สนใจนวัตกรรมสร้างทีมมาแข่งกัน มี 2 รอบ รอบแรกคือรอบ “Idea” ทุกคนภายในกรมฯ สมัครได้หมด โดยเชิญกรรมการที่มีประสบการณ์และเป็นคนรุ่นใหม่มาช่วยคัดเลือก จากนั้นจึงทำการ Incubate แต่ละทีมและคัดเหลือ 6 ทีม รอบที่สองคือรอบ “Ideal” เป็นการเสนอนวัตกรรมที่เขาคิดขึ้นมาเอง คนที่ชนะรอบนี้จะได้เงินรางวัลซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของผม ทั้งนี้เราก็เอานวัตกรรมมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมของกรม ถือเป็นการสร้าง People Transformation อีกทางหนึ่ง

ต่อมาคือเรื่องเทคโนโลยี ตอนนี้เราได้งบประมาณมาทำเทคโนโลยีที่ทำให้มันเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Cloud Technology และ Cyber Security สิ่งที่พยายามจะทำคือทำให้ระบบเทคโนโลยีของเรารองรับในการเป็น Platform โดยที่เรามุ่งหวังไว้ก็อยากจะให้เป็น Micro Service นั่นคือให้เขาเข้ามาพัฒนาและ Plug In เข้ากับระบบกลางได้ โดยทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การทำ Data Analytics เพราะกรมสรรพากรมี Data เยอะมากแต่ไม่ค่อย Utilize สักเท่าไร จึงเป็นที่มาของ D ที่สองคือ Data Analytics และที่พยายามทำคู่กันคือ Data Government เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ มาใช้ จุดประสงค์ที่ทำคือต้องการระหว่างคนดีกับคนไม่ดี เมื่อกรมสรรพากรไม่ได้นำข้อมูลมาใช้อย่างเป็นระบบ เราจะแยกคนตั้งใจโกงกับคนที่ไม่โกงยากมาก เช่นเวลาคืนภาษี เราแยกไม่ได้ว่าคนนี้โกงหรือไม่โกง เมื่อเวลาเราจะคืนเราก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดทุกคน ตอนนี้เรากำลังเริ่มทำระบบเรื่อง Data Analytic แยกระหว่างกลุ่มดี เราก็คืนเงิน กับอีกกลุ่มคือมีความเสี่ยงว่าจะโกง เราต้องใช้เวลาในการการตรวจสอบ ถ้าระบบพัฒนาเสร็จก็จะทำให้บริการเราจะดีขึ้น อีกอย่างก็คือความเป็นธรรมระหว่างคนดีกับคนไม่ดี

เรื่องที่ 3 คือ Revenue Collection กรมสรรพากรถือเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ปีนี้ เราได้รับเป้าหมายให้จัดเก็บภาษีทั้งปี 2 ล้านล้านบาท ณ ตอนนี้ 11 เดือน (สัมภาษณ์ตอนเดือนสิงหาคม 2019) เราทำได้เกินเป้าไป 36,000 ล้านบาท แต่ในจำนวนนี้ไม่ได้มาจากการเพิ่มมาตรการใดๆ แต่เป็นจากระบบของเราที่สะดวกขึ้น ทำให้มีบุคคลธรรมยื่นใช้งานมากขึ้นจาก 10 ล้านคน เป็น 11 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากการทำ Open API

เรื่องที่ 4 คือ Innovation นอกจากการสร้าง Culture ที่บอกไปข้างต้นแล้ว เรายังเอาหลายๆ เรื่องเข้ามา ทั้งการ Pitching การทำ Business Canvas และการเข้าใจแนวคิด Design Thinking ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าผลมันจะออกมาอย่างน่าตื่นเต้นขนาดนี้ ตอนแรกแค่ตั้งใจอยากให้กรมสรรพากรทำงานแบบ Startup เพื่อตอบโจทย์ วิสัยทัศน์ของกรมฯ ก็ไม่ต้องยาวมาก เพียงแค่ขอให้ “ตรงเป้า ตรงกลุ่ม ตรงใจ” ตรงเป้าหมายถึงเก็บภาษีให้ตรงเป้าที่ตั้งไว้ ตรงกลุ่มคือทำนโยบายภาษีให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและเป็นทำ และตรงใจคือบริการให้ตรงใจผู้เสียภาษี

เรื่องที่ 5 คือ Value เราก็วางแผนว่าจะทำอย่างไรให้เป็นองค์กรคุณธรรม เรานำกระบวนการขององค์กรคุณธรรมมาค้นหากันว่าเราตั้งใจจะทำอะไร เราได้คุณธรรมหลักของกรมสรรพากรมา 3 ตัวคือ “ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มอบใจบริการ” ตอนนี้เราก็มานั่งคุยกันแล้วว่ามันมีกระบวนการทำองค์กรคุณธรรมที่ได้เห็นมาจากโรงพยาบาลชลบุรีที่นำกระบวนการนี้มาใช้มันก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น เราเอาก็เอาคำว่าซื่อสัตย์ที่เป็นนามธรรมมาเป็นรูปธรรมได้อย่างไร พี่ก็ให้เขาโหวตว่าพฤติกรรมของสรรพากรที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์คืออะไร แล้วเราก็นำผลนั้นมาประกาศเจตนารมณ์

เรื่องที่ 6 คือ Efficiency ซึ่งเราพยายามทำอยู่ 2 เรื่องคือ Smart people และ Smart office  เรื่องคนคือจะทำอย่างไรให้คน “เก่ง ดี มีความสุข” คิดง่ายๆ คนเก่งๆ จะเป็นวัยผู้สูงอายุที่จะเกษียณเยอะ เราก็ให้โจทย์ไปว่าทำ Online Course อย่างไรโดยให้คนที่เกษียณไปแล้วมาแนะนำ และกระบวนการต่างๆ ที่ให้เขามาเรียนรู้โลกยุคใหม่ อีกหน่อยก็หวังไว้ว่าอยากให้มีการสอนเรื่อง Coding ด้วย เป็นส่วนที่วางแผนไว้แต่ก็ต้องมีการปูพื้นให้แน่นก่อน เรื่องดี และมีความสุข ก็เป็นการทำเรื่ององค์กรคุณธรรม ส่วนเรื่อง Smart Office พยายามทำระบบภายในของเรา การจองห้องประชุม การลดความไม่มีประสิทธิภาพทั้งหลาย

กรมสรรพากรกำลังสนใจนำ Blockchain และเทคโนโลยีนี้จะช่วยได้อย่างไรบ้าง

ดร.เอกนิติ : Blockchain ที่เราเอามาช่วยในเรื่องลดความไม่มีประสิทธิภาพ ในตอนนี้ก็กำลังทำ Sandbox ในระบบคืนภาษีของนักท่องเที่ยว ฉะนั้น Blockchain มันเหมือนเป็นการจัดระบบข้อมูล เมื่อมี Smart Contract ขึ้นมาสามารถเขียนตรงนี้ได้ อย่างเช่น นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไร เราก็ไปประสานกับ ตม. ที่ร้านค้า ซึ่งจะมีใบ ภ.พ. 10  และมาที่กรมศุลกากร ซึ่งระบบทั้งหมดมันจะช่วยทำให้เราลดปัญหาในการคืนภาษีนักท่องเที่ยว และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ก็มี Sandbox ที่กำลังทำอยู่คือ Tax Invoice เกี่ยวกับภาษีซื้อ ภาษีขาย เป็นปัญหาของทั้งผู้เสียภาษีและกรมสรรพากรที่ต้องนำภาษีซื้อมายืนยันกับภาษีขาย ว่าเป็นผู้ซื้อ ผู้ขายจริง เราก็ศึกษาระบบ Blockchain ดูว่าจะเอามาช่วยส่วนนี้อย่างไร

เรื่องการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มีเทคโนโลยีหรือวิธีการใดที่จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าเข้าสู่ระบบโดยไม่หลบเลี่ยง

ดร.เอกนิติ : ต้องบอกก่อนว่ากรมสรรพากรไม่ได้มีเจตนาที่จะไปรีดภาษีจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์แตกต่างจากคนอื่น เราให้หลักว่า ระบบภาษีควรจะเป็นธรรม ไม่ว่าจะขายทางออฟไลน์หรือออนไลน์ ก็ต้องเสียภาษีเท่ากัน ถ้าคนที่ขายทางออฟไลน์โดนภาษีแต่ออนไลน์ไม่โดน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนที่โดนก็จะออกจากระบบ ฐานภาษีก็ลดลง เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ หน้าที่ของกรมสรรพากรคือทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม

สิ่งที่เราพยายามทำและเป็นโจทย์ในการไป Hack ว่าจะทำอย่างไรให้ง่ายขึ้น ทำอย่างไรให้กลุ่มรายยิบย่อยเข้ามาในระบบได้ง่ายขึ้น เราไม่ได้ตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรให้เขาจ่ายภาษี เพราะถ้าเทียบกับเม็ดเงินที่เขาต้องเสีย มันก็ไม่ได้มีจำนวนมากขนาดมหาศาล แต่ที่เราทำคือให้แม่ค้าออนไลน์เขาเข้าใจว่าระบบภาษีมันง่าย เขาทำให้ถูกต้องดีกว่า ดีกว่าถูกตรวจสอบ

เนื่องจากตอนนี้การค้าขายของโลกมันเปลี่ยนแปลงไป มันไม่มีกำแพงระหว่างประเทศ ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ทั้งหมด ฉะนั้นก็เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ เราจะเห็นว่าต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจข้ามชาติ เขาไม่ได้เสียภาษี ตอนนี้ก็เป็นปัญหากันอยู่ว่าแล้วจะเก็บภาษีกับเขาอย่างไรในเมื่อเขาไม่มีถิ่นที่ตั้งถาวร ดังนั้น OECD จะตั้งมาตรฐานขึ้นมาในปี 2020 แต่อย่างฝรั่งเศส เขาไม่อยากรอตรงนั้น ก็จะมี Digital Service Tax ขึ้นมา และก็มีอย่างอันที่หลายประเทศเริ่มเอามาใช้แ รวมถึงประเทศไทยก็เสนอกฎหมาย E-business Tax เป็นกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมระหว่างธุรกิจต่างชาติที่มาให้บริการในประเทศ คือให้บริษัทต่างชาติที่ให้บริการในประเทศไทยจะต้องยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำแนะนำสำหรับองค์กรที่กำลังทำ Transformation

ดร.เอกนิติ : ถ้าจากประสบการณ์ ผมคิดว่าหัวใจสำคัญของการทำ Digital Transformation สิ่งแรกคือ ผู้นำ ต้องทำจริงและทำต่อเนื่อง ต้องมีความมุ่งมั่นอย่างมาก แน่นอนว่าไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลง เขาเคยทำอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น ผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ผู้นำองค์กรอย่างเดียว เพราะฉะนั้นถึงพยายามเน้น People Transformation ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าใจก่อน 

อันที่สองคือให้คนทั้งองค์กรรู้และเริ่มทำ เหมือนกับพระราชดำรัสของในหลวงคือ ระเบิดจากข้างใน ที่เป็นตัวอย่างการทำ Pitching ที่ให้คนทั้งองค์กรเข้ามาร่วมทำ ทำให้เหมือนกับ Startup ทำ หรือระบบที่ Startup หรือ Incubator ทำ นี่ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เขาตระหนักรู้ และให้เขาเช้ามาร่วมสร้าง 

อันที่สามคือ ความแตกต่างระหว่างเอกชนและรัฐบาล เอกชนเขาอยากจะทำก็ก็ทำได้เลย แต่ราชการน่าเห็นใจเพราะยังติดในเรื่องกฎระเบียบ งบประมาณและการขออนุมัติต่างๆ อย่างที่บอกคือถ้าจะทำเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ก็ต้องทำก่อน 2-3 ปี ทำเสร็จก็เปลี่ยนยาก และมีโอกาสถูกตรวจสอบหาว่าไปเปลี่ยน TOR ฉะนั้นทุกคนก็ตัดปัญหาว่าไม่ทำดีกว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องมุ่งมั่นอย่างมาก อย่ายอมแพ้ ต้องบอกตรงๆ ว่า ระบบและสภาพแวดล้อมของราชการไม่เอื้อให้ทำเรื่อง Transformation เท่าไรนัก ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในองค์กรที่กล้าจะเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำผิดกฎ ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะไปรอเทคโนโลยีใหม่ๆ ขออีก 3 ปีข้างหน้าก็ทำไม่ทัน เราใช้ระบบ open API ที่เราเป็นคนกำหนดมาตรฐานให้เขาเข้ามา Access เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเราสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎด้วย


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB EIC เผยผลกระทบจาก Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความท้าทายด้านการค้า การผลิต และการลงทุน

ในปี 2568 โลกจะเริ่มเผชิญกับความท้าทายจากผลของนโยบายเศรษฐกิจภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกว่า “Trump 2.0” ซึ่งถือเป็นการกลับมาใหม่ในเวอร์ชันที่มีอำนาจบริหารที่แข...

Responsive image

“Betagro Ventures” ร่วมลงทุน “Plantible” รอบ Series B มุ่งสร้างระบบอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม Rubi Protein® ตอบโจทย์อาหารแห่งอนาคต

“BETAGRO Ventures” หน่วยงานด้านการลงทุนและพัฒนานวัตกรรม ภายใต้ “บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” หรือ “BTG” ประกาศความสำเร็จในการร่วมลงทุน “Plantible” รอบ Series B มูลค่า 30 ล้านเหรีย...

Responsive image

ยกเลิกแบน iPhone 16 ไม่ง่าย อินโดฯ ยังไม่พอใจข้อเสนอลงทุน Apple ชี้ยังไม่เป็นธรรมสำหรับประเทศ

เรื่องราวระหว่าง Apple และอินโดนีเซียดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแบน iPhone 16 ห้ามวางจำหน่ายในประเทศ ใครใช้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย...