เมื่อวันพุธ (27 กันยายน) ที่ผ่านมา ซุลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ประกาศห้ามการทำธุรกรรม e-Commerce ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อปกป้องพ่อค้าแม่ค้าปลีกออฟไลน์ และสร้างความยุติธรรมให้การแข่งขันทางธุรกิจในประเทศ ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้ในอินโดนีเซียจะไม่สามารถซื้อหรือขายสินค้าและบริการบน TikTok และ Facebook ได้อีกต่อไป
รัฐบาลอินโดฯ ยังให้เหตุผลว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย กำลังคุกคามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยการกำหนดราคาแบบเอาเปรียบ โดยกฎล่าสุดที่ออกมานั้นยังกำหนดให้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 100 ดอลลาร์สำหรับสินค้าบางรายการที่ซื้อโดยตรงจากต่างประเทศด้วย
“รัฐบาลอนุญาตให้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งเสริมการขายเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับการทำธุรกรรม” ข้อความตอนหนึ่งตามแถลงการณ์ของกระทรวง
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้มีกฎระเบียบเพื่อควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อ้างถึงผลกระทบของแพลตฟอร์มที่มีต่อธุรกิจในท้องถิ่น
แพลตฟอร์มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคงหนีไม่พ้น TikTok กับฟีเจอร์ TikTok Shop ที่กำลังเติบโตแบบพุ่งแรง โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้งาน TikTok 325 ล้านคนทุกเดือน โดย 125 ล้านคนอยู่ในอินโดนีเซีย
ด้าน Citi Bank คาด การขยับของรัฐบาลอินโดฯ ที่จัดการกับแพลตฟอร์ม Social commerce ครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันที่ดีให้กับผู้เล่นเจ้าอื่นในประเทศ ซึ่งรวมถึง Shopee
แน่นอนเราต้องจับตาดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดฯ หลังการประกาศนี้ ในยุคที่การค้าออนไลน์เฟื่องฟู อินโดฯ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับอานิสงส์ทางเศรษฐกิจ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่าของธุรกรรมดิจิทัลทุบสถิติเป็นประวัติการณ์ มีมูลค่าอยู่ที่ 160 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (10.3 พันล้านดอลลาร์) โดยมี TikTok เป็นผู้เล่นสำคัญ
อ้างอิง: cnbc
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด