TMA เผยสิงคโปร์ครองแชมป์ประเทศที่มีขีดความสามารถที่สุดในโลกโดย IMD ไทยขยับขึ้นมาอันดับที่ 25 | Techsauce

TMA เผยสิงคโปร์ครองแชมป์ประเทศที่มีขีดความสามารถที่สุดในโลกโดย IMD ไทยขยับขึ้นมาอันดับที่ 25

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ (IMD – WCC) ประจำปี 2567 โดยในปีนี้ ประเทศไทยขยับขึ้น 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีการจัดอันดับ โดยในปีนี้ IMD – WCC ได้มีการเพิ่มเขตเศรษฐกิจที่จัดอันดับอีก 3 เขตเศรษฐกิจ คือ กาน่า ไนจีเรีย และเปอร์โตริโก้ รวมเป็น 67 เขตเศรษฐกิจ

การจัดอันดับโดย IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร  ณ ไตรมาสแรก ปี 2567 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2567 ซึ่งยังคงจัดอันดับโดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 

จับตาความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก 

ในภาพรวมปี 2567 พบว่าเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงได้ในอนาคต จะต้องมีศักยภาพในการคาดการณ์ และปรับตัวได้เร็วในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับสร้างมูลค่าและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งจะส่งผลให้เขตเศรษฐกิจสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนอย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักของโลกในปีนี้และอนาคต คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon) และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) การให้ความสำคัญและส่งเสริมความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ในเศรษฐกิจโลก รวมถึงการทำ Digital Transformation

ทั้งนี้ 3 แนวโน้มสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในปี 2567 จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร (Executive Opinion Survey – EOS) ได้แก่ การนำ AI มาใช้ (AI adoption) ร้อยละ 55.1 ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (The risk of a global economic slowdown) ร้อยละ 52 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical conflicts) ร้อยละ 36.1 แต่ความท้าทายขององค์กรปัจจุบัน คือ จะทำอย่างไรที่จะสามารถนำระบบ AI มาใช้อย่างถูกต้องในการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรได้ โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และผลผลิตขององค์กร ยิ่งไปกว่านั้น คือการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environment risks) ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน แต่ผลสำรวจกลับอยู่ในอันดับท้าย ๆ 

สิงคโปร์ครองแชมป์โลก ไทยติดอันดับสองในอาเซียน อินโดนีเซียรั้งอันดับ 3

ภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2567  ได้แก่ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และฮ่องกง โดยเขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุดของปี 2567 โดยสิงคโปร์ครองแชมป์ ด้วยความแข็งแกร่งของภาคเอกชนและภาครัฐ ในปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)

ในฝั่งอาเซียน สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถสูงสุด 1 ใน 5 ของการจัดอันดับของ IMD อีกทั้งเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนมาโดยตลอด และนับเป็นครั้งแรกที่ไทยและอินโดนีเซียได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของอาเซียน โดยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันในอันดับที่ 25 และ 27 ตามลำดับ ในขณะที่มาเลเชียมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ยังคงอยู่ในอันดับที่ 52 เช่นเดียวกับปี 2566 ซึ่งอินโดนีเซียนับเป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะที่ผ่านมา และดีขี้นถึง 7 อันดับในปี 2567 จากปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ละสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 8 6 และ 5 อันดับจากปี 2566 โดยประเด็นที่เป็นปัจจัยดึงดูด คือ พลวัตของเศรษฐกิจ (Dynamism of the economy) ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน (Cost Competitiveness) และความมั่นคงทางการเมือง (Policy Stability & Predictability)

แรงงานและผลิตภาพไทยน่าเป็นห่วง ภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานยังย่ำอยู่กับที่

2 ปัจจัยหลักที่ส่งให้ไทยมีอันดับที่ดีขึ้นในปีนี้ ได้แก่ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ดีขึ้นถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 5 และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ที่ดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 23 เป็นอันดับที่ 20 ในปีนี้ 

เครื่องจักรเศรษฐกิจได้อานิงส์มาจากการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ดีขึ้นถึง 23 อันดับมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีนี้ ขณะที่สัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP (Tourism receipts) และการส่งออกด้านบริการ (Export of commercial services) รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดมีอันดับที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่ด้านระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices)  ดีขึ้น 10 อันดับจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีอันดับดีขึ้นเล็กน้อย จากอันดับที่ 23 ในปี 2566 เป็นอันดับที่ 20 ในปี 2567 จากตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการ (Management Practices) ที่ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความกลัวความล้มเหลวของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial fear of failure) และกิจกรรมของผู้ประกอบการขั้นต้น (Total early-stage Entrepreneurial Activity) มีค่าและอันดับที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีถึงผลของความพยายามของทุกภาคส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงในด้านผลิตภาพในภาพรวมที่มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 38 เป็น 42 โดยเป็นผลจากอันดับที่ลดลงของผลิตภาพในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐาน ยังอยู่อันดับที่ 24 และ 43 เช่นเดิม โดยโครงสร้างพื้นฐานในบริบทนี้ยังครอบคลุมถึงด้านการศึกษา ยิ่งตอกย้ำว่าการทำงานของภาครัฐยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) กฎหมายด้านธุรกิจ (Business Legislation) และประเด็นด้านสังคม (Societal Framework) 

ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังอยู่ในอันดับต่ำมาตลอด แม้ว่าด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ (Basic Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (Technology Infrastructure) จะอยู่ในระดับปานกลาง แต่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้แก่ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ ยังคงอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ คือ อันดับที่ 55 54 และ 40 ตามลำดับ

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยนับว่าน่ายินดีที่อันดับในปี 2567 ดีขึ้นกว่าปีก่อนถึง 5 อันดับโดยกลับมาอยู่ที่อันดับ 25 ที่เทียบเท่ากับอันดับในปี 2562 และเป็นอันดับดีที่สุดที่ไทยเคยขึ้นถึง ซึ่งปัจจัยหลักคือภาพการฟื้นตัวของผลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มาจากการท่องเที่ยวและการขยายตัวของตลาดส่งออกหลังการยุติของโรคระบาด Covid-19 ขณะเดียวกันผมคิดว่าเป็นข้อท้าทายสำหรับเราว่าจะทำอย่างไรในการสร้างแรงขับเคลื่อนให้เราก้าวไปสู่อีกระดับได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนของไทยคือการขาดเม็ดเงินและทรัพยากรที่จำเป็นในการลงทุนเพื่อเสริมสร้างและแก้ปัญหาที่เรื้อรังในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่เกี่ยวข้องกับการขาดผลิตภาพของภาคธุรกิจและภาคการผลิตที่สำคัญ การขาดแคลนคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรมนุษย์ การขาดคุณภาพของการศึกษาและสุขภาพ และปัจจัยเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไทยยังอยู่ในอันดับต่ำ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนขีดความสามารถในด้านอื่น ๆ ของประเทศ

หากประเทศไทยจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแข่งกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันคิดและขับเคลื่อน ในฐานะผู้กำหนดและดำเนินนโยบาย ภาครัฐจะต้องนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนในการวางแผนและจัดทรัพยากรขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายและแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่ภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาคสังคม ต้องมุ่งเน้นการจัดสรรทรัพยากรไปในเป้าหมายเดียวกัน และที่สำคัญต้องพัฒนาศักยภาพของคนและองค์กรในทุกระดับให้สามารถจับสัญญาณแห่งอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความคล่องตัวในการปรับปรุงพัฒนา และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัลและ AI มาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วน”


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

'บ้านปู' ประกาศกลยุทธ์ใหม่ Energy Symphonics เตรียมมุ่งสู่ปี 2030 เปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ประกาศกลยุทธ์ใหม่ 'Energy Symphonics' หรือ “เอเนอร์จี ซิมโฟนิกส์” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ปี 2030 เน้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานอ...

Responsive image

Google เผยเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โตอันดับ 2 ใน SEA มูลค่า 1.61 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนด้วยอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2567 มูลค่ารวมของสินค้าดิจิทัลหรือ GMV จะเพิ่มขึ้นถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566...

Responsive image

AMD ประกาศลดพนักงาน ราว 1,000 คนทั่วโลก หวังเร่งเครื่องสู่ตลาดชิป AI

AMD ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ โดยจะปลดพนักงานประมาณ 1,000 คน หรือคิดเป็น 4% ของพนักงานทั้งหมด 26,000 คนตามข้อมูลที่บริษัทยื่นต่อสำนักง...