TMA เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดย IMD ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 33 | Techsauce

TMA เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดย IMD ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 33

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2565 โดยผลกระทบสะสมจากโควิด-19 ได้ส่งผลให้ปีนี้ไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ โดยมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด ทั้งนี้ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด

จากปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการจัดอันดับรวม 4 ด้าน พบว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับลดลงถึง 13 อันดับ อันเนื่องมาจากประเด็นการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) มีอันดับลดลง 11 อันดับจากอันดับที่ 20 ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 31 ในปี 2565 เนื่องจากประเด็นด้านการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ซึ่งลดลง 15 และ 8 อันดับตามลำดับ ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ก็มีอันดับที่ลดลงเช่นกัน จากอันดับที่ 21 มาอยู่ที่อันดับ 30 โดยประเด็นด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพยังคงเป็นปัญหาหลักและมีอันดับลดลงถึง 7 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 47 ในปีนี้ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีอันดับลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 43 มาอยู่ที่อันดับ 44 


ในระดับอาเซียน IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจ โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำโดยมีอันดับดีขึ้น 2 อันดับจากอันดับที่ 5 ใน 2564 มาเป็นอันดับที่ 3 ปีนี้ ในขณะที่มาเลเซียมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 25 มาเป็นอันดับที่ 32 ในปีนี้ และอินโดนีเซีย มีอันดับที่ลดลงจากอันดับที่ 37 เป็นอันดับที่ 44 ส่วนฟิลิปปินส์มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 52 เป็นอันดับที่ 48 ในปีนี้   

เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2565  ได้แก่ อันดับ 1 เดนมาร์ก อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 สวีเดน และอันดับ 5 ฮ่องกง โดยIMD พบว่าเขตเศรษฐกิจที่อยู่อันดับต้น ๆ ของโลกในปีนี้เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller economies) ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Advanced digital technologies) มีนโยบายสนับสนุนที่ดี (Good policies) มีความชัดเจนในการส่งเสริมด้านความยั่งยืน (Sustainability) 

มีภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการปรับตัวสูง (Agile companies) รวมถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government efficiency) ที่แข็งแกร่ง ทำให้เขตเศรษฐกิจเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัวในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทั้งจากผลกระทบของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) และการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบาง มีการพึ่งพิงปัจจัยภายนอกและต่างประเทศมากเกินไป รวมถึงผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของประเทศอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ขาดความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่ นอกจากนั้นอันดับด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ที่ลดลง 11 อันดับ 

ยังสะท้อนถึงการลดลงของความเชื่อมั่นในนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงความสามารถในการปรับบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้สนับสนุนภาคประชาชนและภาคเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัว (Agility & Resiliency) เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคต่อจากนี้ที่ทุกอย่างมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาทั้งในระดับองค์กรให้มีโครงสร้างและกลไกการทำงานที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ง่ายและในระดับบุคลากรที่เปิดกว้างพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่และมีวิธีคิดที่ก้าวทันโลก 

ในขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักของประเทศ และการมีกฎระเบียบนโยบายที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่และสนับสนุนให้ภาคเศรษฐกิจต่างๆ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ทั้งนี้ ในปี 2565 IMD World Competitiveness Center ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรถึงแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ (IMD Executive Opinion Survey 2022) ผลการสำรวจพบว่า แนวโน้มสำคัญ 4 อันดับแรก ที่ผู้บริหารองค์กรเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุด ได้แก่  

  • อันดับ 1 ความกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อ (Inflationary pressures) (ร้อยละ 50) 
  • อันดับ 2 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical conflicts) (ร้อยละ 49)
  • อันดับ 3 การขาดแคลนอุปทาน (Supply chain bottlenecks) (ร้อยละ 48)
  • อันดับ 4 สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ยังคงมีอยู่ (The prospect of a prolonged presence of COVID-19) (ร้อยละ 43)

ทั้งนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคลากรในด้านการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความสามารถในการติดตามและคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและตั้งเป้าหมายเชิงรุกผ่านกิจกรรมต่างๆ ของ TMA 

และในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 จะมีการจัดสัมมนาประจำปี Thailand Competitiveness Conference 2022 “Thailand: Fit for the Future” ที่จะมีวิทยากรจาก IMD มานำเสนอถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมของโลกที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างเจาะลึกในการสัมมนาดังกล่าว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

CHANGAN Automobile เปิดตัว NEVO E07 : SUV พร้อมฟังก์ชันกระบะเปิดท้ายในงาน “ปักกิ่ง ออโต้ โชว์ 2024”

CHANGAN เปิดตัว NEVO E07 ในงานแสดงรถยนต์นานาชาติปักกิ่งครั้งที่ 18 ซึ่งเป็นยานพาหนะแปลงโฉมคันแรกของโลก ที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก NEVO E07 เป็นรถยนต์รุ่นใหม่คันแรกของบริษัทในโฉม SUV ...

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...