5G จะขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมได้อย่างไร | Techsauce

5G จะขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมได้อย่างไร

True 5G จัดสัมมนา 5G พลิกโฉมประเทศไทย True 5G Tech Talk ครั้งที่ 4 หัวข้อ Agriculture หรือการเกษตร เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยร่วมกับ Huawei ASEAN Academy และ Techsauce  เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการเกษตร ได้แก่ คุณเดวิด ฟาร์คูร์ฮาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  Intelligent Growth Solutions Limited,  ดร. มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HG Robotics, คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด และคุณอริญชย์ พฤกษานุศักดิ์ หัวหน้าธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด 

มาร่วมพูดคุยถึงอนาคตของภาคการเกษตร ทั้งในบริบทภาพรวมของทั้งโลกและภายในประเทศไทย ในยุคที่เทคโนโลยี 5G จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกรและยกระดับประสิทธิภาพงานเกษตรด้วยเทคโนโลยี

ในช่วงแรกของการเสวนา คุณเดวิด ฟาร์คูร์ฮาร์ ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มขึ้นของประชากร ที่ทำให้ภาคการเกษตรต้องเร่งหาวิธีใหม่ๆ มาปรับใช้และพัฒนาเพื่อรองรับปัญหาในระยะยาว ที่อาจส่งผลต่อทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภคผลิตผลทางการเกษตรทั่วโลก

Vertical Farm เทรนด์แห่งอนาคตของอุตสาหกรรมการเกษตร


Vertical Farm หรือ ‘การทำการเกษตรแบบแนวตั้ง’ คือ การปลูกพืชภายในโรงเรือน ในลักษณะที่เป็นชั้นซ้อนๆ กันในแนวตั้ง ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องปลูกลงแปลงดินที่มีเนื้อที่จำกัดเหมือนแต่ก่อน ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในผลผลิตได้ โดยจะเน้นเรื่องของการนำนวัตกรรม IoT เข้ามาช่วยในการทำการเกษตรด้วย เพื่อให้สามารถควบคุมปัจจัยหลักอย่างสภาพอากาศได้อย่างแม่นยำและเหมาะสมกับชนิดของพืช สามารถปลูกพืชได้โดยไม่มีข้อจำกัดของเรื่องฤดูกาลและภูมิภาค

ในการเสวนา คุณเดวิด วิทยากรผู้มีประสบการณ์จาก IGS แพลตฟอร์มผู้สร้างนวัตกรรมควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อใช้ในภาคการเกษตร อธิบายการทำการเกษตรแบบแนวตั้งให้เห็นภาพ ด้วยการเปรียบเทียบกับกล่องปิดสนิท ที่เราสามารถควบคุมสภาพแวดล้อม อุณหภูมิและปริมาณแสงภายในนั้นได้จากทางไกล ด้วยโทรศัพท์มือถือและการเชื่อมต่อในระบบคลาวด์ 

การเกษตรไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องสภาพอากาศเพียงอย่างเดียว

การทำการเกษตรต้องอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเป็นสำคัญ เพราะจะส่งผลกับคุณภาพของผลผลิตโดยตรง ทาง IGS มองเห็นประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G และ IoT จึงนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาประยุกต์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ในการเพาะปลูกได้ดีขึ้น

ปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ: ลม ฝน และแสงแดด

คุณเดวิด อธิบายว่า ในเบื้องต้นสภาพแวดล้อมจะประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ลม ฝน และแสงแดด แต่ปัญหาคือการควบคุมปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเหล่านี้ให้เหมาะสมต่อการเติบโตของพืชทุกชนิดภายในพื้นที่เดียวไม่สามารถทำได้หากเป็นการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม เพราะแต่ละภูมิภาคมีอากาศและธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน ส่วนฤดูกาลก็มีความหลากหลายมาก

ปัจจัยเพิ่มเติมที่ 4 : เวลา

ปัจจัยเพิ่มเติมที่ต้องให้ความสนใจคือเวลา เกษตรกรต้องทำความเข้าใจวงจรของพืชผลแต่ละชนิด และควรควบคุมปัจจัยหลักสามอย่างคือ ลม ฝน และแสงแดด ให้ตรงกับความต้องการของพืชเมื่อเข้าสู่วงจรในแต่ละช่วงการเติบโต เช่น ในช่วงเพาะเมล็ด สภาพแวดล้อมในการปลูกควรจะมีความชื้นและมืด แต่ก่อนเก็บเกี่ยวควรได้รับแสงแดด ก็ควรปรับสภาพแวดล้อมให้ตรงตามธรรมชาติการเติบโตของพืชให้ได้

ปัจจัยเพิ่มเติมที่ 5 : พื้นที่

สำหรับปัจจัยสำคัญสุดท้ายคือพื้นที่ โดยเสนอว่าการทำการเกษตรแนวตั้งจะสร้างความยืดหยุ่นให้กับภาคการเกษตรได้มากขึ้น สร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นกับผลผลิตได้ อธิบายได้ว่าในหนึ่งฟาร์ม เมื่อเราปรับไปใช้การทำการเกษตรแนวตั้งแล้ว จะทำให้มีพื้นที่ในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าจากพื้นที่ปกติ เมื่อเกิดการบริหารพื้นที่ประกอบกับเกษตรกรควบคุมสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้นแล้ว เราอาจปลูกพืชชนิดที่ต่างกันได้ในพื้นที่เดียวกัน หรือบางฟาร์มอาจสามารถผสมการปลูกพืชสวนและพืชไร่ไว้ด้วยกันได้ในพื้นที่เดียว

การผสมผสานกันของทั้ง 5 ปัจจัย เป็นกุญแจสำคัญเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเกษตรจาก IGS และด้วยนวัตกรรมเหล่านี้ คุณเดวิด มองว่าจะช่วยลดข้อจำกัด ทำให้เราสามารถปลูกพืชได้ทุกชนิดและปลูกได้จากทุกที่ทั่วโลก

การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตรทั่วโลก

คุณเดวิด เสนอว่าการนำ Vertical Farm มาใช้กับการเกษตร จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้หลัก ๆ สามประการ 

1.ประหยัดพลังงานได้ประมาณ 30%  สามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้มากขึ้น ทั้งในการจัดการแสงสว่าง การระบายอากาศและน้ำ ซึ่งทำให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ

2.สามารถลดปริมาณการใช้แรงงานคนได้ 80% เมื่อก่อนการปลูกพืชต้องใช้แรงงานคนในการเฝ้าติดตามการเติบโตของผลผลิต แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เจ้าของฟาร์มสามารถดูแลพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ด้วยตัวคนเดียว  คุณเดวิดเสริมว่า ในการดูแลฟาร์มไม่ควรมีคนเยอะอยู่แล้ว เพราะคนจะทำให้การปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่ปิดสนิททำได้ยากขึ้น ประกอบกับต้นทุนแรงงานในบางประเทศค่อนข้างสูง และคนทำงานผิดพลาดได้มากกว่าการใช้เครื่องจักร 

3.ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เท่า เมื่อมีเทคโนโลยีมาช่วยจะทำให้ต้นทุนที่ใช้ในการดูแลรักษาพืชผลถูกลง โดยมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหญ่ในระดับโลก คือการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมไม่ได้ก่อให้เกิดความยั่งยืนเท่าไรนัก จากการวิจัยพบว่า  การเกษตรถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณของเหลือทิ้ง สารพิษตกค้างในธรรมชาติและการขนส่งผลผลิตข้ามทวีป อันเนื่องมาจากความต้องการและความสามารถในการผลิตของแต่ละภูมิภาคไม่สมดุลกัน ดังนั้นแล้ว การนำคอนเซ็ปต์การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี 5G มาใช้เพื่อพัฒนาด้านการเพาะปลูกจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ด้วย

 Success Case : ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีจากทาง IGS มาช่วยปลูกมันฝรั่ง

ในช่วงท้าย คุณเดวิด ได้ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการปลูกมันฝรั่ง ว่าบางครั้งการใช้เทคโนโลยีอาจส่งผลให้พืชสามารถเติบโตได้เต็มที่และรวดเร็วมากขึ้น สำหรับมันฝรั่งแล้วปกติต้องใช้เวลาเพาะ 6 เดือน นำไปปลูกลงดินต่ออีก 12 เดือน ใช้เวลารวม 18 เดือน จึงจะได้ผลิตผลที่พร้อมเก็บเกี่ยว แต่การนำเอานวัตกรรมเข้าไปใช้จะช่วยร่นระยะเวลาในการเพาะปลูกพืชชนิดนี้เหลือเพียง 75 วันเท่านั้น 

ในช่วงที่สองของการเสวนา องค์กรและสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญในวงการเกษตรของไทย3 ท่าน ได้แก่ ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HG Robotics, คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด และคุณอริญชย์ พฤกษานุศักดิ์ หัวหน้าธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด  มาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำเกษตร และบทบาทของเทคโนโลยี 5G กับการยกระดับวงการอุตสาหกรรมการเกษตรประเทศไทย เพื่อสร้างแนวทางและแรงบันดาลใจให้กับวงการเกษตรไทย

ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย ด้วยเทคโนโลยี

ดร. มหิศร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  HG Robotics ผู้วิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ เจ้าของผลงาน ‘Tiger Drone’ โดรนฉีดพ่นทางการเกษตร กล่าวว่า ในมุมของสตาร์ทอัพที่ทำด้านหุ่นยนต์ เริ่มจากการมองว่าตลาดสำคัญที่ผลิตภัณฑ์ของเราจะตอบโจทย์คืออะไร พบว่าเกษตรกรไทยต้องจ่ายเงินจ้างแรงงานฉีดพ่นเป็นประจำอยู่แล้ว และงานฉีดพ่นทางการเกษตร เป็นงานแบบ 3D คือ Dirty (สกปรก) Demanding (ต้องทำงานหนัก) และ Dangerous (อันตราย) ซึ่ง Smart Drone จึงเป็นโซลูชันที่เข้าไปตอบโจทย์ปัญหาตรงนี้ได้อย่างพอดี

วิสัยทัศน์ของรีคัลท์ สตาร์ทอัพที่นำดิจิทัลทางการเงินมาช่วยเกษตรกรให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน

ด้านของ คุณอุกฤษ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารรีคัลท์ สตาร์ทอัพที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรด้านการเงิน ได้แบ่งปันถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องการนำเอาดิจิทัลทางการเงินมาช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากกับดักความยากจนว่า 

“กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในประเทศส่วนมากจะอยู่ในแวดวงการเกษตร จึงเป็นที่มาให้ทำแอป Ricult เพื่อช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจและวางแผนการทำกิจกรรมทางเกษตร หรือการขายสินค้าของเขาให้ได้กำไรมากขึ้น มีต้นทุนถูกลง” 

โดย คุณอุกฤษ คิดว่า นี่คือโอกาสในยุคนี้ เพราะสมาร์ทโฟนเริ่มมีราคาถูกลงและเข้าถึงง่ายขึ้น สัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ทั่วถึง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ Digital Transformation เกิดขึ้นกับวงการการเกษตรในบ้านเรา นอกจากนั้น ปัจจัยด้านเงินทุน ซึ่งเป็นอีกสิ่งสำคัญสำหรับเกษตรกร แต่การกู้เงินหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินสำหรับเกษตรกรกลับกลายเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ได้มีการบันทึกรายได้หรือสินทรัพย์ที่เป็นทางการ จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ทางรีคัลท์ ต้องการแก้ไขให้กับภาคการเกษตรในไทย

“ถ้าผมเป็นมนุษย์เงินเดือนที่อยากกู้เงินซื้อคอนโด สิ่งที่ธนาคารอยากดูมากที่สุดคือความเสี่ยงของผม สิ่งที่ธนาคารจะถามอย่างแรกคือขอดูสลิปเงินเดือนหน่อยได้ไหม แต่สำหรับเกษตรกรหรือชาวบ้าน เขาไม่มี record อะไรเลย ว่าเขามีรายได้เท่าไหร่ เขาปลูกอะไรบ้าง ความเสี่ยงเป็นยังไง นี่เป็นคำตอบว่าทำไมธนาคารถึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร เพราะเขาไม่รู้ความเสี่ยงของเกษตรกรคนนั้นเลย”

โดยแอปพลิเคชันของ Ricult สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการทำเกษตร เช่น  ข้อมูลดาวเทียม, ข้อมูลพยากรณ์อากาศ, ข้อมูลประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติ เป็นต้น ซึ่งนอกจากทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้แล้ว ยังเป็นข้อมูลสำคัญที่สถาบันทางการเงินสามารถนำไปพิจารณาเพื่อปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรได้

5G กับการสร้างโอกาสในวงการเกษตรไทย

คุณ อริญชย์ หัวหน้าธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้อธิบายถึงประสิทธิภาพของเครือข่าย 5G ว่า เป็นสัญญาณที่มีประสิทธิภาพสูง  สามารถเพิ่มจำนวนการเชื่อมต่อต่อพื้นที่ได้มากกว่าเดิม มี Bandwidth (ความเร็วในการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต) มากกว่า  และ Latency (ความหน่วง) ต่ำ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำเกษตร ช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“วันหนึ่งเราอาจจะปักเซนเซอร์ได้จำนวนมากขึ้น มีโครงสร้างมารองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ เมื่อถึงเวลานั้นเราอาจจะใช้กล้องไปตรวจจับศัตรูพืชในแปลง หรือใช้โดรนในการนับผลผลิตรายวัน ก็จะช่วยเพิ่มทั้งข้อมูลให้มีมากขึ้น และลดจำนวนแรงงานในพื้นที่ให้น้อยลง นอกจากนี้การที่ Latency ต่ำก็ช่วยเรื่อง Remote monitoring ได้อีกด้วย” 

“ในส่วนของการทำปศุสัตว์ Bandwidth ที่สูงขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ ที่ Broadband เข้าไม่ถึง ซึ่งการเข้ามาของ 5G จะลดช่องโหว่ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยเมื่อความเร็วในการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราอาจทำ Virtual Audit ให้สัตวแพทย์ตรวจวินิจฉัยสัตว์ได้โดยไม่ต้องลงพื้นที่เอง ยิ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคที่ไม่มีใครอยากเข้าไปในพื้นที่” 

5G สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ได้อย่างไร คุณมหิศร กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าอุปโภคบริโภคมาก ทั้งในมุมของที่มา คุณภาพหรือความสะอาดเป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว ทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย 

“ถ้าวันนี้เราจะกินผักหรือผลไม้สักจาน สิ่งที่ตามมาคือ จะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เรากินสะอาดและปลอดภัย ดังนั้นภาคการเกษตรต้องมีการส่งข้อมูลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง 5G จะกลายเป็นโครงสร้างที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้  ทำให้เปิดตลาดใหม่ที่มีความต้องการได้ และเกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้มูลค่ามากขึ้น” 

ด้านคุณอุกฤษ เสนอประเด็นเรื่องความยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเข้าถึงโอกาส รวมถึงลดต้นทุนการผลิตได้ อย่างที่ทราบกันดีว่าเกษตรกรในบ้านเรามีรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำ  5G จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้เกษตรกรเข้าถึงอุปกรณ์ที่เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับพวกเขา  และอีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องราคา เพราะจากการลงพื้นที่ คุณอุกฤษพบว่า เกษตรกรไม่ได้มีทุนทรัพย์เยอะมากพอจะจ่ายค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตเดือนละหลายร้อยบาทได้ เพราะฉะนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องคิดเรื่องนี้กันอย่างระมัดระวัง

คุณอริญชย์ กล่าวว่า 5G เป็นเหมือนกับโครงสร้างที่เราเอาไปพ่วงรวมกับโซลูชันหรือนวัตกรรมอื่น เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเองก็จะได้ทานอาหารที่มีความปลอดภัย สะอาด และได้คุณภาพเช่นกัน ถือเป็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมแบบองค์รวม

ความท้าทายของภาคการเกษตรในอนาคต 

เมื่อถามถึงมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายของวงการเกษตรในอนาคต คุณมหิศร ได้เสนอประเด็นความท้าทายที่เป็นภาพใหญ่ อย่างปัญหาโลกร้อน ที่ทำให้คาดเดาสภาพอากาศได้ยากมากขึ้น แต่หากมีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม อาจจะช่วยให้เราสามารถเลือกพื้นที่เพาะปลูก ปรับปรุงพันธุ์ผลผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตเท่าเดิม และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภัยแล้งได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่หุ่นยนต์ เทคโนโลยี 5G หรือดาวเทียม จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้

อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และปัญหาค่าแรง ส่งผลให้ต้นทุนของการทำการเกษตรสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่ต้องกังวลคือเรื่องของความรู้เทคโนโลยี (Technology literacy) ในหมู่เกษตรกรและความพร้อมในการใช้เทคโนโลยียังมีไม่สูงนักในปัจจุบันซึ่งไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนช่วยกำกับดูแลด้วย

คุณอุกฤษ กล่าวเสริมในประเด็นเรื่องของแรงงานในภาคการเกษตร ซึ่งกำลังลดลงเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาแทนแรงงานคนที่มีแนวโน้มลดลง และภาครัฐควรมีนโยบายที่เน้นให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีหรือ IoT เข้ามาบริหารจัดการร่วมด้วย

คุณอริญชย์ กล่าวว่า การรวมกลุ่มกันและการเอาเทคโนโลยีมาใช้ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเกษตรกรในประเทศไทย แม้เราจะมีภาพปลายทางแล้ว แต่เราจะผลักดันให้ไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ซึ่งการพัฒนาตรงนี้อาจต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนมาช่วยกันขับเคลื่อน

แรงบันดาลใจและคำแนะนำให้กับสตาร์ทอัพ

คุณมหิศร ได้แนะนำแก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในไทย ในเรื่องของการสื่อสารกับเกษตรกร โดยเน้นย้ำว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรก็จริง แต่มันจะไม่สำคัญเลยหากนักพัฒนาไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ โดยเสนอว่าสตาร์ทอัพควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับผู้ใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรต่างๆ ให้ได้ก่อน และในฐานะคนขับเคลื่อนควรเป็นฝ่ายเข้าหาเกษตรกรก่อน

คุณอุกฤษ เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น พร้อมเสริมว่า เกษตรกรไม่ได้สนใจว่าเทคโนโลยีของเราจะทำงานอย่างไร แต่สนใจที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มายกระดับคุณภาพชีวิตเขาได้อย่างไรบ้าง การสื่อสารให้ถูกจุด ให้เข้าใจ และเห็นคุณค่าของเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว จะช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ผลิตเทคโนโลยีและผู้ใช้ลงได้ 

ปิดท้ายที่ คุณอริญชย์ ได้กล่าวให้กำลังใจว่า ในประเทศไทยตลาดภาคการเกษตรยังใหญ่และมีช่องว่างอีกมากที่จะให้ผู้ประกอบการเข้าไปเล่น ตราบใดที่เราสร้างเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกร สื่อสารให้พวกเขารับรู้ได้ เกษตรกรก็จะเลือกรับไปใช้ในที่สุด 

 

 




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...

Responsive image

ประกวดนางงาม Miss AI ครั้งแรกของโลก ที่ส่วนใหญ่สร้างตาม Beauty Standard

ตอนนี้มี Miss AI หรือนางงามปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาประชันความงามกันบนโลกดิจิทัลแล้ว ด้านผู้จัดการประกวดหวังช่วยผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี...