ดูผลสำรวจการใช้ QR Code ของคนไทย ชวนวิเคราะห์ "ไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้วหรือยัง?" | Techsauce

ดูผลสำรวจการใช้ QR Code ของคนไทย ชวนวิเคราะห์ "ไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้วหรือยัง?"

  • คิวอาร์โค้ดเป็นวิธีการชำระเงินผ่านมือถือที่ได้รับความนิยมสูงสุด ตามมาด้วยการโอนเงินแบบ Peer-to-Peer และการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless)
  • อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคไทยมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสดและการชำระเงินผ่านมือถือ แต่เงินสดยังคงครองแชมป์ โดยผู้บริโภคไทยเชื่อประเทศจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดใน 12 ปี

ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (UnionPay International) เผยผู้บริโภคไทยมีทัศนคติโดยรวมที่ดีต่อสังคมไร้เงินสด ผลการศึกษา “The Future of Payments – อนาคตแห่งการใช้จ่าย” ซึ่งจัดทำโดยยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และนีลเส็น เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในไทย อายุระหว่าง 18 – 65 ปี จำนวน 400 คน เผยว่า 7 ใน 10 (ร้อยละ 71) ของผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด และ 6 ใน 10 (ร้อยละ 60) รู้สึก “มั่นใจ” หากต้องใช้ชีวิตในสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ  

ในยุคที่หน่วยงานต่างๆ กำลังผลักดันประเทศสู่สังคมไร้เงินสดด้วยการสนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการทำธุรกรรมทางการเงิน ผลสำรวจเผยว่า การชำระเงินผ่านมือถือกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผู้บริโภคกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) ระบุว่าได้ชำระเงินผ่านมือถือในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยใช้บริการชำระเงินผ่าน 3.1 แพลตฟอร์ม และเกือบ 1 ใน 4 (ร้อยละ 22) ใช้จ่ายผ่าน 3 วิธีการชำระเงินผ่านมือถือหลักๆ ได้แก่ คิวอาร์โค้ด การโอนเงินแบบ Peer-to-Peer (P2P) และการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ผู้บริโภคอยากไทยเป็นสังคมไร้เงินสด และยินดีแนะนำการชำระเงินผ่านมือถือให้เพื่อนและครอบครัว

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นทัศนคติของผู้บริโภคโดยรวมที่เป็นบวกเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสด โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้คนรู้จักหันมาใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้บริโภคร้อยละ 71 กล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะแนะนำการชำระเงินผ่านมือถือให้กับครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน  ในขณะที่ร้อยละ 91 บอกว่า ยินดีที่จะสอนครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน เกี่ยวกับการชำระเงินผ่านมือถือ หากพวกเขาพบกับอุปสรรค นายภาคี เจริญชนาพร ผู้อำนวยการ แผนกวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด บริการชำระเงินผ่านมือถือนับเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 75 เคยชำระเงินด้วยวิธีนี้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ (อายุระหว่าง 18-21 ปี) กลับมีความรู้สึกกระตือรือร้นน้อยกว่าผู้บริโภครุ่นอื่นๆ โดยมีเพียงร้อยละ 53 ของคนกลุ่มนี้ที่ระบุว่ารู้สึกตื่นเต้นที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรวมที่ร้อยละ 70 นอกจากนี้ ผู้บริโภครุ่นใหม่ยังรู้สึกมั่นใจน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ (ร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรวมที่ร้อยละ 61) หากต้องใช้ชีวิตในสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ “สำหรับสาเหตุที่กลุ่ม Generation Z ให้ความสนใจเรื่องสังคมไร้เงินสดและการชำระเงินผ่านมือถือน้อยกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ นั้น เรามองว่าเป็นเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้มีฐานรายได้และความสามารถในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ รวมถึงมีกำลังซื้อที่ไม่สูงมาก ทำให้การรับรู้เกี่ยวกับบริการด้านการชำระเงินผ่านมือถือในปัจจุบันจึงไม่สูงนักตามไปด้วย” นายภาคี กล่าวเสริม

เงินสดยังครองแชมป์ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดต้องอาศัยเวลา

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างวิธีการชำระเงินแบบต่างๆ ผลสำรวจเผยว่า เงินสดยังคงเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้บริโภคไทย รองลงมาคือคิวอาร์โค้ด ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 75 ระบุว่าชำระเงินด้วยวิธีนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตามมาด้วยการโอนเงินแบบ P2P ซึ่งร้อยละ 67 กล่าวว่าเคยชำระเงินด้วยวิธีนี้ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า ต้องใช้ระยะเวลา 12 ปีโดยเฉลี่ยก่อนที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเผยให้ทัศนคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามน้อยกว่าครึ่ง (ร้อยละ 43) ที่รู้สึกมั่นใจว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคตอันใกล้นี้

นายวินเซนต์ หลิง รองผู้จัดการทั่วไป ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชียตะวันออกเฉ

นายวินเซนต์ หลิง รองผู้จัดการทั่วไป ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เส้นทางสู่สังคมไร้เงินสดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน แต่ในขณะที่เรากำลังก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น การชำระเงินผ่านมือถือจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่เงินสด โดยเฉพาะด้านบริการธุรกรรมที่สะดวกรวดเร็ว เราเชื่อว่าการผลักดันจากภาคส่วนและองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ในระยะเวลาน้อยกว่า 12 ปี ยูเนี่ยนเพย์เชื่อว่าความพยายามของเราในการสนับสนุนการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น เนื่องจากการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเป็นวิธีที่ทั้งผู้บริโภคและร้านค้าสามารถใช้งานได้ง่าย โดยไม่ต้องลงทุนสูงมากในด้านอุปกรณ์หรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน”

“ผู้บริโภคไทยหันมานิยมใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การสนับสนุนจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน และร้านค้า ต่างมีส่วนช่วยสร้างการรับรู้และผลักดันให้มีผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการหันมาใช้คิวอาร์โค้ดก็คือ เครือข่ายร้านค้าที่รองรับซึ่งจำกัด และบริการที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย สำหรับคิวอาร์โค้ดของยูเนี่ยนเพย์ ได้รับมาตรฐานระดับโลกจาก EMVCo. และสามารถใช้งานได้กับเครือข่ายร้านค้า 10 ล้านแห่งใน 24 ตลาดทั่วโลก ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายจากการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดได้บนแอพพลิเคชันเดียว” นายวินเซนต์ กล่าวสรุป

เกี่ยวกับผลสำรวจ “The Future of Payments – อนาคตแห่งการใช้จ่าย “The Future of Payments – อนาคตแห่งการใช้จ่าย” เป็นผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และนีลเส็น ในเดือนกันยายน 2561 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในประเทศไทยจำนวน 400 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยกลุ่มตัวอย่างประกอบไปด้วย Generation Z (อายุระหว่าง 18 – 21 ปี) จำนวน 100 คน, มิลเลนเนียล (อายุระหว่าง 22 – 37 ปี) จำนวน 100 คน, Generation X (อายุระหว่าง 38 – 50 ปี) จำนวน 100 คน และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (อายุระหว่าง 51 -  65 ปี) จำนวน 100 คน โดยแบ่งจำนวนเพศชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน

 

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ตลาดลักชูจีนวิกฤติหนัก แบรนด์หรูต้องปรับตัวอย่างไร เพราะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากพิษเศรษฐกิจจีน

ตลาดสินค้าหรูในจีนกำลังเผชิญกับภาวะตกต่ำอย่างหนังแม้พ้นโควิด โดยผู้บริโภคชาวจีนลดการใช้จ่ายไปกับสินค้าหรูอย่างกระเป๋าแบรนด์เนมและนาฬิกา สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเป...

Responsive image

Anthropic จับมือ Palantir และ AWS เสริมศักยภาพ AI ให้กับหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ

Anthropic จับมือ Palantir และ AWS เสริมศักยภาพ AI ให้กับหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นไปที่การนำ Claude เข้าไปช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงความปลอดภัยสำหรับหน...

Responsive image

ตลาดชิปจีนส่อแววหดตัว เหตุลดนำเข้าอุปกรณ์ผลิตชิป หวังเดินหน้าพึ่งพาการผลิตให้เพียงพอในประเทศ

ตลาดอุปกรณ์ผลิตชิปของจีนมีแนวโน้มที่จะหดตัวในปีหน้า สืบเนื่องจากการเร่งสั่งซื้ออุปกรณ์ล่วงหน้าจำนวนมากในช่วงที่มีความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น...