ตลาดรถยนต์ไทยมองผิวเผินอาจจะดูเหมือนเติบโตจากการเข้ามาของแบรนด์ EV จีน ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันทั้งทางฝั่งรถ ICE รวมถึงการทำสงครามราคาเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ แต่ในความเป็นจริงแล้วตลาดรถยนต์ไทยกำลังอยู่ในภาวะหดตัวอย่างน่าใจหาย และมีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในไทยระยะ 1-2 ปีนี้มีโอกาสต่ำสุดในรอบ 15 ปี
รายงานของ Krungthai COMPASS ระบุว่า ตลาดรถยนต์ไทยกำลังอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง เดือนกันยายน 2567 ติดลบหนัก -37.1% เมื่อเทียบเป็นปีต่อปี ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน ซึ่ง 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมียอดขายราว 0.44 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 25%
สำหรับกลุ่มรถยนต์ที่หดตัวแรงจัดอยู่ในกลุ่ม Commercial Car เช่น รถกระบะ และ PPV ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของภาคก่อสร้าง จึงทำให้ความต้องการของรถกระบะ และรถบรรทุกลดลงตามไปด้วย ขณะที่ Passenger Car หรือรถส่วนบุคคล หดตัวไปราว 0.38 แสนคันเมื่อเทียบปีต่อปี
รายงานระบุว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) จะช่วยทำให้ยอดขายยังขยายตัวได้ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยกับตัวเลขการหดตัวของรถยนต์กลุ่ม Non-BEV ที่หดตัวไปมากกว่า -17% เมื่อเทียบปีต่อปี
1.กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
โดยผู้บริโภคไทยยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัว รวมถึงยังมีปัญหาด้านรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับภาระค่าครองชีพ และหนี้สิน รวมทั้งผู้บริโภคไทยกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง
2.ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาหนี้เสีย และคุณภาพของผู้กู้
ปัญหาหนี้ของครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงถึง 89.6% ของ GDP ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ที่ลดลงจนทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมาก โดยข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 หนี้เสียภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ราว 2.6 แสนล้านบาท
จากประเด็นด้านภาวะเศรษฐกิจ และเครดิตของผู้กู้ที่ลดลงนี้เอง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อยากขึ้น บางรายปรับเพิ่มเงินดาวน์เพื่อคัดกรองกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อจริง โดน Krungthai COMPASS มองว่า ยอดขายรถยนต์ไทยในปี 2567-2568 อาจต่ำเพียยงปีละ 0.6-0.61 ล้านคัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 0.79 ล้านคัน ซึ่งการที่จะทำให้ยอดขายรถยนต์ในไทยกลับมาบูมเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 1 ล้านคัน อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยีก 5 ปี
1.ดีลเลอร์รถยนต์
84% ของรายได้ทั้งหมดของดีลเลอร์มาจากการขายรถยนต์ รองลงมาเป็นการซ่อมบำรุง และรายได้อื่นๆ จึงทำให้เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับดีลเลอร์ที่จะควบคุมต้นทุน fixed cost เช่น เงินเดือนพนักงาน อะไหล่สำหรับบำรุงรักษา ไปจนถึงค่าเช่าสถานที่ท่ามกลางรายได้ที่ลดลงตามยอดขาย
Krungthai COMPASS ตั้งข้อสังเกตว่า ดีลเลอร์ที่ขายรถยนต์สันดาป (ICE) มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าดีลเลอร์ที่ขายรถยนต์ xEV ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน รวมถึงรถยนต์ไฮบริด
2.ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์
ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ มีโอกาสหดตัวมาถึง 10-15% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยข้อมูลจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เผยว่า 66% ของยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อมาจากรถยนต์ใหม่ ตามมาด้วยรถยนต์มือสองที่ 22.1% และสินเชื่อจำนำทะเบียนที่ 9.4% จึงทำให้ผู้ประกอบการด้านสินเชื่อเช่าซื้อได้รับผลกระทบอย่างหนัก จะปล่อยกู้ง่ายก็อาจต้องเผชิญความเสี่ยงด้านหนี้เสีย หากปล่อยกู้เข้มงวดก็อาจไม่มีรายได้เข้ามามากพอ
3.ยอดผลิตรถยนต์
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ยอดกรผลิตรถยนต์ของไทยอาจลดลงเหลือที่ 1.62-1.66 ล้านคันจากเดิม 1.88 ล้านคันในปี 2565 เป็นผลมาจากภาวะรถยนต์ในประเทศที่เซบเซาจากกำลังซื้อที่จำกัด รวมถึงปัญหาเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในไทย
รายงานระบุว่า สิ่งที่ควรจับตามองคือ ความเสี่ยงด้านอุปทานล้นตลาด หรือ Oversupply จากค่ายรถ EV ที่เร่งการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าตามมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า โดย Krungthai COMPASS คาดว่า ไทยจะมีการผลิตรถยนต์ชดเชยคืนตามมาตรการ EV 3.0 มากถึง 1.15-1.2 แสนคัน ซึ่งหากยังไม่สามารถหาตลาดส่งออกได้ อาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาจากภาวะสต็อกล้นตลาด
อีกหนึ่งสิ่งที่ Krungthai COMPASS อยากให้จับตามองคือ ผลกระทบต่อ Supply Chain จากการที่โรงงานผลิตรถยนต์ของรถญี่ปุ่นบางค่ายที่เตรียมปิดโรงงาน หรือหยุดสายการผลิต ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอย่างผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจปลายน้ำอย่างดีลเลอร์รถยนต์ ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง : Krungthai COMPASS
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด