World Economic Forum ออกรายงานประจำปีในหัวข้อ Future of Jobs Report 2025 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตโดยอ้างอิงข้อมูลจากนายจ้างกว่า 1,000 รายทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานกว่า 14 ล้านคนใน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเผยให้เห็นถึงเทรนด์ของตลาดแรงงาน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชน และเทคโนโลยีในช่วงปี 2025 - 2030
รายงานคาดการณ์ว่า แนวโน้มหลักที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานมากที่สุดคือ การขยายตัวของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดยนายจ้างกว่า 60% เชื่อว่าธุรกิจของตัวเองจะเปลี่ยนแปลงไปในปี 2030 ด้วยการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ AI, การประมวลผลข้อมูล, หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ รวมถึงเทคโนโลยีพลังงานที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกการทำงาน
ผลที่ตามมาก็คือ บางอาชีพจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด บางอาชีพก็จะหายไป ส่วนทักษะด้านเทคโนโลยีอย่าง AI, Big Data, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความรู้ด้านเทคโนโลยีจะกลายเป็นทักษะสำคัญที่ตลาดต้องการ
อีกหนึ่งปัจจัยคือ ต้นทุนการครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยนายจ้างครึ่งหนึ่งมองว่าสิ่งนี้จะกระทบธุรกิจภายในปี 2030 แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะลดลงก็ตาม โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการจ้างงานไปจนถึงปี 2030 รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโตช้าจะทำให้งานหายไป 1.6 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
อีกหนึ่งสิ่งที่นายจ้างกังวลคือ การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ได้แก่ ประชากรวัยทำงานที่สูงอายุ และจำนวนประชากรที่ลดลงในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง รวมถึงจำนวนประชากรวัยทำงานที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ แนวโน้มเหล่านี้ผลักดันให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะในด้านการบริหารจัดการบุคคลากร การให้คำปรึกษา และงานสอน เช่น งานดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ พยาบาลวิชาชีพ และอาจารย์ระดับอุดมศึกษา
รายงานระบุว่า จากแนวโน้มต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะส่งผลต่อการสร้างงาน และการหายไปของงา โดยคาดว่าในช่วงปี 2025-2030 จะมีงานเกิดใหม่ และงานหายไปรวมกัน 22% ของตลาดแรงงานทั้งหมดในปัจจุบัน โดยจะมีงานใหม่เกิดขึ้น 14% หรือคิดเป็น 170 ล้านตำแหน่ง แต่ก็จะมีงานหายไป 8% หรือ 92 ล้านตำแหน่ง
โดยงานด้านเทคโนโลยีจะโตเร็วสุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่, วิศวกรฟินเทค, ผู้เชี่ยวชาญ AI และ Machine Learning, นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชัน ไปจนถึงงานสายสิ่งแวดล้อม และพลังงาน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับ, วิศวกรสิ่งแวดล้อม และวิศวกรพลังงานหมุนเวียน ในทางกลับกัน งานที่จะลดลงมากที่สุดคือ งานกลุ่มธุรการ หรืองานเลขา เช่น พนักงานเก็บเงิน พนักงานธนาคาร หรือพนักงานป้อนข้อมูลเป็นต้น
รายงานระบุว่า การคิดเชิงวิเคราะห์ ยังคงเป็นทักษะหลักที่เป็นที่ต้องการมากสุดในหมู่นายจ้าง โดยบริษัท 7 ใน 10 แห่งมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นในปี 2025 ตามมาคือทักษะด้านความยืดหยุ่น การปรับตัว และความเป็นผู้นำ
ส่วนทักษะที่มาแรง และเป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ AI และ Big Data ตามมาด้วยทักษะความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความรู้ด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น การปรับตัวเก่ง การเรียนรู้เร็ว และไฝ่รู้ตลอดชีวิต จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2025-2030 ในทางกลับกันทักษะงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียด ความอดทน และความแม่นยำ ก็จะมีความต้องการที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
รายงานเผยเพิ่มว่าภายในปี 2030 นายจ้างกว่าครึ่งจะเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานโดยเน้นการจ่ายตามผลงาน และประสิทธิภาพของพนักงาน อย่างไรก็ตาม นายจ้างบางส่วนวางแผนปรับธุรกิจเพื่อใช้ AI มากขึ้น โดยสองในสามจะจ้างคนที่มีทักษะ AI โดยเฉพาะ และอีก 40% มีแผนลดพนักงานลงหาก AI สามารถทำงานแทนได้
อ้างอิง : https://www.weforum.org/publications/the-future-of-jobs-report-2025/digest/
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด