หยวนดิจิทัล คืออะไร เข้าใจเงินสกุลใหม่ของจีนใน 5 นาที | Techsauce

หยวนดิจิทัล คืออะไร เข้าใจเงินสกุลใหม่ของจีนใน 5 นาที

หยวนดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP) เป็นสกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางของจีน ซึ่งเงินหยวนดิจิทัลนั้นจะเข้ามาแทนที่การใช้เงินในรูปแบบเงินสดหรือรูปแบบกระดาษ เป็นความต้องการของรัฐที่จะแก้ปัญหาความล่าช้าของระบบในปัจจุบันให้มีความรวดเร็วและคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับการใช้บัตรเครดิตหรือการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในปัจจุบัน เงินหยวนดิจิทัลนั้นจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐเหมือนกับเงินในรูปแบบกระดาษ โดยการคิดค้นและนำมาใช้ของหยวนดิจิทัลนั้นได้รับความร่วมมือจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายราย เช่น Tencent, Huawei และ China Merchants Bank โดยเงินหยวนดิจทัลนี้จะถูกเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มบริการชำระเงินหลาย ๆ ราย เช่น AliPay, WeChat Pay และแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกมากมาย

ย้อนรอยสังคมไร้เงินสดของจีน

ปัจจุบันในประเทศจีนนั้นมีผู้ใช้งานการชำระเงินผ่านมือถือมากกว่า 500 ล้านคน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนของรัฐบาลจีนไปสู่หยวนดิจิทัลจะต้องเป็นไปแบบไม่มีรอยต่อและราบรื่น 

หากย้อนกลับไปตั้งแต่แรกเริ่มการที่จีนนั้นเข้าสู่สังคมแบบไร้เงินสด บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Alibaba และ Tencent ได้เข้ามาปฎิวัติการชำระเงินผ่านรูปแบบเดิมไปอย่างสิ้นเชิง โดยได้ผสมผสานการชำระเงินในรูปแบบใหม่ที่ผู้คนนั้นสามารถชำระเงินได้อย่างง่ายดายผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้รับการส่งเสริมมาจากทางรัฐบาลจีน

วิวัฒนาการของสังคมไร้เงินสดของจีนนั้นเริ่มมาจากการใช้ QR CODE หรือบาร์โค้ดในการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์ม Alipay และ WeChat Pay ต่อมาก็ได้เริ่มพัฒนาการชำระเงินผ่านระบบตรวจจับใบหน้า (facial recognition) โดยผู้ใช้สามารถยืนยันตนกับทางธนาคารและสแกนหน้าผ่านเครื่องที่ร้านค้าเพื่อชำระเงิน สิ่งเหล่านี้ได้เริ่มทำให้ชาวจีนจำนวนมากนั้นสามารถออกจากบ้านแบบไร้กระเป๋าเงิน และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ดิจิทัล ซึ่งในตอนนี้รัฐบาลก็ได้เข้ามาสนับสนุนระบบการเงินแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยการริเริ่มใช้สกุลเงินหยวนดิจิทัลแทนเงินในรูปกระดาษ ที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนและยกระดับสังคมเงินสดของจีนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

หยวนดิจิทัลแตกต่างจาก Bitcoin อย่างไร?

หลาย ๆ คนอาจจะเกิดความสงสัยว่าหยวนดิจิทัลนั้นแตกต่างจาก Bitcoin อย่างไร? เงินหยวนดิจิทัลของจีนนั้นไม่เหมือนกับ Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ด้วยตัวของ Bitcoin เองนั้นไม่ได้ถูกควบคุมหรือดูแลจากรัฐบาลหรือธนาคารใดเหมือนเงินสดอย่างที่เราใช้กัน และการอ้างอิงมูลค่านั้นก็เกิดจากการคำนวนทางคณิตศาสตร์แทนทอง 

แต่ในส่วนของหยวนดิจิทัลนั้นพูดโดยง่ายคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินหยวนแบบกระดาษมาเป็นในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งการอ้างอิงมูลค่าของเงินหยวนดิจิทัลนั้นก็จะเหมือนกันและถูกควบคุมดูแลโดยรัฐ สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินนี้มีเส้นทางการเงินอย่างไร ซึ่งทำให้สกุลเงินหยวนดิจิทัลนั้นมีความน่าเชื่อถือไม่เหมือนกันการใช้ Bitcoin นั่นเอง

มูลค่าเงินหยวนดิจิทัล

เงินหยวนดิจิทัลนั้นมีอัตรามูลค่า 1:1 กับเงินหยวนในรูปแบบกระดาษ ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้เงินหยวนดิจิทัลแทนรูปแบบกระดาษได้เลยเพราะมีมูลค่าเท่ากัน แค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากกระดาษมายังแบบดิจิทัลเท่านั้น โดยผู้ใช้สามารถที่จะใช้งานผ่าน DCEP Wallet App หรือแอปพลิเคชันที่จัดขึ้นมาโดยเฉพาะที่จะมีฟังก์ชันอื่น ๆ มารองรับอีกด้วย เช่น การย้อนดูธุรกรรมทางการเงิน, การจัดการทางด้านการเงิน และการใช้ QR CODE อีกด้วย นอกจากแอปพลิเคชัน DCEP โดยตรง ผู้ใช้ยังสามารถที่จะใช้งานผ่านแพลตฟอร์มการชำระเงินอื่น ๆ เช่น Alipay หรือ WeChat Pay ได้อีกด้วย

4 เมืองแรกนำร่องการใช้หยวนดิจิทัล

การใช้งานเงินหยวนดิจิทัลจะถูกทดลองนำร่องใน 4 เมืองแรกของจีน คือ เซินเจิ้น, ซูโจว, สงอัน และเฉิงตู โดยการทดลองใช้งานนี้จะมีระยะเวลาถึง 6-12 เดือน ซึ่งร้านค้าหลาย ๆ ราย เช่น McDonald’s, Starbucks และ Subway ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาการร่วมทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลนี้ รวมถึงยังมีแผนที่จะนำเข้าไปใช้ในระบบของรัฐอีกด้วย โดยเงินเดือนของพนักงานของรัฐก็จะถูกจ่ายผ่านทางหยวนดิจิทัล เริ่มเดือนพฤษภาคมนี้ 

ซึ่งถ้าหากการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลนั้นเป็นไปด้วยดีและสำเร็จ ประเทศจีนนั้นก็จะเข้าสู่สังคมแบบไร้เงินสดอย่างครบวงจรมากขึ้นจากการสนับสนุนโดยรัฐ ซึ่งการนำมาซึ่งเงินหยวนดิจิทัลนี้จะไม่เพียงแต่ส่งผลต่อระบบการเงินโดยรวมของจีนแต่อย่างเดียว แต่จะนำมาสู่จุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนของวงการการเงินทั่วโลกสู่ยุคดิจิทัลอีกด้วย


อ้างอิง: AsiaCryptoTodayLosAngelesTimesTheGuardianCoinTelegraph





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

CPFC จับมือ IKEA และ Decathlon เปิดร้านสะดวกซื้อรูปแบบใหม่ สาขาแรกที่เชียงใหม่ เปิดบริการมีนาคม 2568

6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ CPFC ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในเครือซีพี กรุ๊ป ได้แก่ CP AXTRA, CP ALL และ TRUE พร้อมจับมือกับแบ...

Responsive image

สรุปกลยุทธ์ ttb ปี 2567 เดินหน้า Transformation จัดเต็มจนปัง มุ่งสู่ยั่งยืน

ttb ทรานสฟอร์มองค์กรด้วยแนวคิด Data-driven Organization โดยนำ Data และ AI มาใช้ในการพัฒนาองค์กร พัฒนาโซลูชันทางการเงิน และการให้บริการแบบเฉพาะบุคคล ผลลัพธ์และความคืบหน้าเป็นอย่างไร...

Responsive image

KBTG จับมือ 3 มหา’ลัยชั้นนำ สร้าง Co-Master's Degree ปั้น ป.โท เก่ง AI ออกสู่ตลาด

หลักสูตรการศึกษามาใหม่! ที่ KBTG จับมือ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) มหาวิทยาลัยมหิดล (MU) และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU)...