แอดวานซ์เทค ครบรอบ 20 ปีในไทย ย้ำจุดยืนผู้นำ AI-IoT และ “Edge AI” ยกระดับ Smart Manufacturing, Smart City และ ESG สู่ความยั่งยืน | Techsauce

แอดวานซ์เทค ครบรอบ 20 ปีในไทย ย้ำจุดยืนผู้นำ AI-IoT และ “Edge AI” ยกระดับ Smart Manufacturing, Smart City และ ESG สู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม บริษัท แอดวานซ์เทค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชัน AI, IoT และคอมพิวเตอร์เฉพาะทาง ได้จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ 'Advantech Thailand 20th Anniversary Celebration' เพื่อเน้นย้ำบทบาทสำคัญของบริษัทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและสร้างคุณค่าให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงแรก คุณชอง เป็ง ชู ผู้จัดการทั่วไป แอดวานซ์เทค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) เผยถึงวิสัยทัศน์ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของบริษัทว่า แอดวานซ์เทคกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการมุ่งเน้นเทคโนโลยี Edge Computing และ AI เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ฉลาดยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ.2025 บริษัทตั้งเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนา Edge AI โดยครอบคลุม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1.Edge Intelligent Systems 2.Energy & Utilities 3.Manufacturing 4.iHealthcare และ 5.iSpace & iRetail นอกจากนี้ แอดวานซ์เทคยังเป็นผู้นำด้าน IoT ด้วยแพลตฟอร์ม WISE-PaaS และ Edge AI ที่ช่วยประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยมีพันธมิตรอย่าง NVIDIA และ Google ร่วมสนับสนุนการพัฒนาซอฟท์แวร์ (Software)

“ในแง่ความยั่งยืน แอดวานซ์เทคให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยตั้งเป้าหมายสู่การลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Zero) ภายในปี ค.ศ.2040 ผ่านการดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะเติบโตขึ้น 2-3 เท่าใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยการนำ AI มาใช้ทั้งในองค์กรและส่งต่อความสำเร็จสู่ลูกค้า ตามปณิธานความมุ่งมั่นของแอดวานซ์เทคในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” คุณชอง เป็ง ชู กล่าว

ต่อมา ในช่วง Panel Talk ได้แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลักคือ บทบาทของ AI ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับธุรกิจภาคอุตสาหกรรม, การปรับตัวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย Smart Manufacturing, การออกแบบ Smart City เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และความสำคัญของ ESG เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ

เริ่มต้นด้วยประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจที่สุด คุณชอง เป็ง ชู กล่าวถึงความสำคัญของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มต้นที่การวางแผนว่าจะใช้ AI ในขั้นตอนการผลิตใด โดยหลักแล้วจะนำ AI มาใช้ในรูปแบบ Vision AI เพื่อช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้า ตรวจตำแหน่งโลโก้ การเก็บข้อมูลด้านพลังงาน การอบรมพนักงานใหม่ และการคาดการณ์ปัญหาของเครื่องจักร เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย แอดวานซ์เทคมุ่งเน้น 2 ด้านหลัก ได้แก่ Smart Manufacturing คือการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้า การจัดการจำนวนชิ้นงาน บรรจุภัณฑ์ และความปลอดภัย เพื่อเพิ่ม Productivity และลดความยุ่งยากในกระบวนการที่ซับซ้อน อีกส่วนคือ Smart City ที่มุ่งเน้นการพัฒนาในด้าน Healthcare, Tollway และ Infrastructure อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ในการประมวลผลยังคงเผชิญความท้าทาย เพราะต้องใช้งบประมาณสูง แม้จะมีอุปสรรค แต่แอดวานซ์เทคยังคงมุ่งมั่นในการผลักดัน AI เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจและสังคมไทย พร้อมเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ด้าน คุณวุฒิศักดิ์ สุวรรณศรี ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart Manufacturing กล่าวว่า จากการทำงานใกล้ชิดกับโรงงานอุตสาหกรรมในไทย พบว่าหลายแห่งยังคงอยู่ในระดับ Industrial 2.0 ใช้กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมที่ขาดการนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, IoT และระบบ Automation มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงการขาดทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

สำหรับแนวทางสนับสนุนเพื่อเข้าสู่ Industrial 4.0 เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนและแข่งขันในระดับโลกได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยสามารถเริ่มต้นด้วย 1.การส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุน เช่น การลดหย่อนภาษีหรือเงินช่วยเหลือสำหรับโรงงานที่ลงทุนใน AI, IoT และ ระบบ Automation 2.พัฒนาทักษะแรงงานให้มีความรู้ด้านดิจิทัล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ 3.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เช่น 5G สำหรับระบบ IoT และการเชื่อมต่อของเครื่องจักรในโรงงาน

คุณวุฒิศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่โดนัล ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นสมัยที่ 2 ว่า การกลับมาของทรัมป์ในครั้งนี้ ได้ประกาศยกระดับนโยบาย MAGA (Make America Great Again) ผ่านการตั้งกำแพงภาษีที่หนักหน่วง สะท้อนแนวคิดที่มุ่งผลักดันผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง ประกาศสงครามการค้าโดยไม่จำกัดแค่สินค้าจีน แต่ยังหมายรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ทำให้สหรัฐฯ เสียดุลการค้าด้วย ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 9 เราจึงต้องเร่งเตรียมตัวใหพร้อมกับผลกระทบ คือ 1.การเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะในสินค้าสำเร็จรูป เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ 2.การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้ากับยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับ ESG 3.รัฐต้องลงทุนในโครงสร้างดิจิทัลและพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับอนาคต และ 4.นโยบายจูงใจทางภาษี ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบที่เอื้อต่อการลงทุน จากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในโลกยังไม่มีทีท่าสงบ ไทยต้องมองการณ์ไกลและวางระบบที่ยั่งยืนที่สุด สร้างเศรษฐกิจที่ไม่เพียงรอดพ้นแรงกระแทกจากวิกฤต แต่ยังสามารถยกระดับตัวเองสู่สถานะผู้เล่นที่มีอำนาจต่อรองบ้างในเวทีโลกด้วย

คุณวุฒิศักดิ์ กล่าวย้ำว่า เทคโนโลยี AI ในโรงงานอุตสาหกรรมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น จากการศึกษาของ PwC คาดว่า AI จะเพิ่ม GDP โลก 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ.2030 โดย 45% ของการเติบโตมาจากการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและการปรับกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ภาครัฐควรเข้ามาร่วมมีส่วนผลักดันเรื่องของคน และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ระบบ 5G และระบบการขนส่งต่างๆ ยอมรับว่า อุตสาหกรรมหลักของไทยยังเป็นเรื่องการเกษตร แต่เมื่อมองในมุมการอยู่ให้รอดในสงครามการค้านั้น เราต้องโฟกัสที่การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น จ.ปราจีนบุรี ยังคงมีนักลงทุนจีน และไต้หวันเข้ามาตั้งโรงงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรพิมพ์ (Print Circuit Board : PCB) เราจึงยังมีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้

“แอดวานซ์เทค มีผลิตภัณฑ์ทั้งฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟท์แวร์ (Software) ที่จะช่วยยกระดับให้ประเทศไทยก้าวสู่ Industrial 4.0 ได้ เช่น WISE-PaaS แพลตฟอร์ม IoT ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในระบบทั้งหมดได้ เพราะปัจจุบันในหลายโรงงานของไทยมี IoT แต่ไม่สามารถรวมระบบให้ทำงานประสานงานกันได้ นอกจากนี้ จากประสบการณ์ที่เราพบในโรงงานไทยคือ การให้เรานำนวัตกรรมเข้าไปทำระบบ 4.0 แต่พบปัญหาที่พนักงานไม่รู้ว่าจะเริ่มที่จุดไหน แต่ WISE-PaaS สามารถช่วยได้ เพราะเรามีระบบครอบคลุมการทำงานทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องเริ่มต้นที่ศูนย์ เราเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อุตสาหกรรมไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในเวทีโลก ทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว” 

คุณวุฒิศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สำหรับโรงงานที่ต้องการทำ ESG เรายังมีแพลตฟอร์ม แอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า ECOWatch ที่ช่วยมอนิเตอร์การใช้พลังงานในส่วนต่างๆ ของโรงงาน โดยข้อดีคือ ทำให้ทราบว่าในขั้นตอนใดของการผลิตที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงาน ถัดไปคือ CarbonR เป็นแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยคำนวณคาร์บอนที่โรงงานใช้ ทำให้ทราบว่าตลอดเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาโรงงานปล่อยคาร์บอนไปกี่ตัน เพื่อนำข้อมูลไปบริหารจัดการ และลดหย่อนภาษี ส่วนจิ๊กซอร์ตัวที่ 3 คือ ECOEnterprise ที่ช่วยในการวางแผนการทำ Carbon Zero ทั้งสามส่วนนี้จะช่วยประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกทาง

อีกส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ การพัฒนา Smart City ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงเทคโนโลยี IoT, AI และระบบดิจิทัล เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและความต้องการของประชากรในอนาคต คุณนิคม เดชขุนทด ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart City ได้กล่าวถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในกระบวนการพัฒนานี้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างแรกเราต้องทำความเข้าใจองค์ประกอบสำคัญของ Smart City ก่อน เพราะ Smart City ไม่ใช่แค่โครงสร้างทางกายภาพ แต่เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งประกอบด้วย Data: ข้อมูลที่แม่นยำและเชื่อถือได้ IoT (Internet of Things): การเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่เก็บและส่งข้อมูล Real-Time Monitoring: การติดตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ Connection: ระบบเชื่อมต่อที่ราบรื่นระหว่างคน โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี และส่วนที่กำลังจะเข้ามาเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ AI (Artificial Intelligence): การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนและตัดสินใจ

คุณนิคม กล่าวต่อว่า แอดวานซ์เทคมีศักยภาพสูงในการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้วยผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ล้ำสมัย เช่น ระบบ Easy Pass Expressway ลดความแออัดบนทางด่วน อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ และระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน IoT ตัวอย่างความสำเร็จของสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าการบูรณาการนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี และการวางแผนเชิงกลยุทธ์สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนได้ เช่น ระบบขนส่งที่เชื่อมต่อกันอย่างราบรื่นและการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การพัฒนา Smart City ในไทยจึงไม่ใช่เพียงการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือที่แข็งแกร่งและการวางแผนระยะยาว เพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตในอนาคต

คุณศศิวิไล จารุปราณ กล่าวในหัวข้อ ESG ว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนผ่านการเป็นสมาชิกของ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ซึ่งครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้านสิ่งแวดล้อม Advantech มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนด้วยการตรวจวัดค่าคาร์บอนจากกิจกรรมองค์กร เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดพลังงาน รวมถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการรับรองจาก EcoVadis ด้วยเหรียญเงินในด้านการจัดการ ESG

ในด้านสังคมแอดวานซ์เทค มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างทักษะคนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุค AI ผ่านโครงการ UCC: University Co-Creation ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อจัดการเรียนการสอนและสนับสนุนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกิจกรรม AIoT InnoWorks กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมและทักษะที่ใช้ได้จริง แอดวานซ์เทคยังคงมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนในประเทศไทยและทั่วโลก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ทุกคนในสังคม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBank เปิดผลงานปี 67 กำไร 48,598 ล้านบาท ท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) แม้ในภาพรวมสามารถประคองการขยายตัวไว...

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...