วิเคราะห์เจาะลึกความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 | Techsauce

วิเคราะห์เจาะลึกความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 และการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-20 พ.ย.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง โดยในช่วงแรกดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้นขานรับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท Moderna อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯลดช่วงบวก และปิดลบ หลังยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือน ต.ค.ขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน และแย่กว่าที่ตลาดคาด 

รวมทั้ง ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก ขานรับข่าวดีเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท Moderna และ Pfizer ซึ่งทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจยุโรปจะสามารถฟื้นตัวได้ในอัตราที่เร็วขึ้น รวมทั้ง ยังขานรับความหวังเกี่ยวกับการทำข้อตกลงการค้าหลัง Brexit ระหว่างอังกฤษ และสหภาพยุโรป สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น หลังทางการจีนระบุว่า จะกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในขณะที่ ธนาคารกลางจีน ได้คงอัตราดอกเบี้ยเงิน LPR ประเภท 1 ปี และประเภท 5 ปี เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ด้านตลาดหุ้นไทยปิดบวก โดยได้รับ Sentiment เชิงบวก จากการที่มาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้เข้มงวดในการสกัดเงินทุนไหลเข้ามากเท่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้แรงหนุนจาก GDP ในไตรมาสที่ 3 ของไทยดีกว่าที่ตลาดคาด และ S&P Global Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ BBB+ ส่วนราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มโอเปกพลัส จะชะลอแผนการเพิ่มการผลิตน้ำมัน รวมทั้ง ขานรับการที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯที่มีการใช้งาน มีจำนวนลดลง

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับ Sentiment ในเชิงบวก จากทิศทางการเมืองในสหรัฐฯที่มีความชัดเจนมากขึ้น หลังคณะกรรมการเลือกตั้งรัฐจอร์เจียยืนยันว่า นายไบเดน ชนะประธานาธิบดีทรัมป์ ในรัฐจอร์เจีย และส่งผลให้นายไบเดนมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งเหนือประธานาธิบดีทรัมป์ 306 เสียง ต่อ 232 เสียง นอกจากนี้ ตลาดฯยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสัญญาณความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและยาต้านโควิด-19 หลังองค์กรอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุญาตให้ใช้การบำบัดด้วยแอนติบอดี้โควิด-19 ของบริษัท Regeneron ในกรณีฉุกเฉิน และบริษัท AstraZeneca ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นบ่งชี้ว่า 

วัคซีนโควิด-19 ซึ่งบริษัทได้พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford มีประสิทธิภาพ 70% ในการป้องกันโควิด-19 รวมทั้ง ตลาดฯยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากรายงานการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจให้สัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม และการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/2020 และตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่มีแนวโน้มออกมาดี อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ความกังวลการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ประเด็นความไม่แน่นอนเรื่อง No-Deal Brexit ที่ยังมีอยู่ และความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีออกไปยังหุ้นกลุ่มที่ได้รับอานิสงค์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะยังคงสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นโลก

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • ติดตามความไม่แน่นอนในการออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมของสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯได้ระบุว่า จะไม่มีการต่ออายุโครงการเงินกู้ของธนาคารกลางสหรัฐฯเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 4.55 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่จะหมดอายุ 31 ธ.ค.นี้ ขณะที่ พรรครีพับลิกันได้เตรียมร่างมาตรการกระตุ้นฉบับใหม่ร่วมกับพรรคเดโมแครต ซึ่งคาดว่า จะมีวงเงินที่ไม่สูงมาก และจะเน้นให้ช่วยเหลือในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 เช่น ธุรกิจการเดินทาง ร้านอาหาร และภาคบริการ
  • ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ และอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ได้ส่งผลให้รัฐแคลิฟอร์เนียได้ประกาศมาตรการเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ รัฐนิวยอร์กประกาศปิดโรงเรียนรัฐบาลทุกแห่ง ด้านรัฐบาลอังกฤษอาจจะอนุญาตให้ผ่อนคลายข้อจำกัดในการควบคุมการระบาดโควิดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส
  • ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยองค์กรอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติการใช้แอนติบอดี้รักษาไวรัสโควิด-19 ในภาวะฉุกเฉิน ของบริษัท Regeneron ซึ่งก่อนหน้าประธานาธิบดีทรัมป์เคยได้รับยาดังกล่าวในช่วงที่ติดโควิด-19 รวมทั้ง ข่าวที่ว่า วัคซีนโควิด-19 ซึ่ง AstraZeneca ได้พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford มีประสิทธิภาพ 70% ในการป้องกันโควิด-19
  • ติดตามการประชุมขององค์กรอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติคำขอผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉิน จากบริษัท Pfizer และ BioNTech (10 ธ.ค.) โดยหาก FDA ให้การอนุมัติ Pfizer จะสามารถทยอยใช้วัคซีนกับกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ขณะที่ Pfizer คาดว่า จะสามารถผลิตวัคซีนได้ 50 ล้านโดสภายในปีนี้
  • ติดตามประเด็นทางการค้าระหว่างประเทศ โดยในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เนื่องจากคาดว่า ภาคบริการ อุตสาหกรรมไฮเทค และดิจิทัลของจีนจะได้ประโยชน์อย่างมากจากความตกลงนี้ 
  • ติดตามประเด็น Brexit โดยการหารือแบบออนไลน์เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าหลัง Brexit จะเริ่มอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมเจรจาของฝั่งสหภาพยุโรป มีผลตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นบวก ในขณะที่ ทางด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีเบลเยี่ยม และนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเร่งเตรียมแผนรับมือกรณีอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แบบไม่มีตกลงในช่วงสิ้นปีนี้ (No-Deal Brexit)
  • ติดตามนโยบายการเงินของสหรัฐฯและยุโรป ตามที่จะมีการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (27 พ.ย.) และรายงานการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (26 พ.ย.) โดยในรายงานอาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ในสหรัฐฯและยุโรป
  • ติดตามการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนายไบเดน โดยนายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมเสนอชื่อนาง Janet Yellen อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะที่ จะเสนอชื่อนาย Antony Blinken อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยประธานาธิบดีโอบามา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก รายรับส่วนบุคคล รายจ่ายส่วนบุคคล ยอดขายบ้านใหม่ และ GDP ในไตรมาส 3 (รายงานครั้งที่ 2) ของสหรัฐฯ, GDP ไตรมาส 3 ของยูโรโซน, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนี, ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น, ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตของไทย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แอดวานซ์เทค ติดท็อป 5 ‘Best Taiwan Global Brands’ 7 ปีซ้อน ขับเคลื่อน Edge AI ด้วยมูลค่า 2.8 หมื่นล้าน

แอดวานซ์เทค (Advantech Co., Ltd.) ผู้นำด้านอุตสาหกรรม IoT ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 แบรนด์ชั้นนำระดับโลกของ "2024 Best Taiwan Global Brands" ด้วยมูลค่าแบรนด์ 851 ล้านดอลลาร์...

Responsive image

PLEX MES ก้าวสู่อนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต ด้วย Smart Manufacturing Solutions

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา วงการอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการแนะนำ PLEX MES โซลูชันที่เปรียบเสมือน "สมองดิจิทัล" สำหรับโรงงานยุคใหม่ ระบบนี้ถูกออกแบบ...

Responsive image

ทีทีบี คว้ารางวัลธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าธุรกิจ Thailand Best Bank for Corporates

ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) คว้ารางวัล Thailand Best Bank for Corporates จาก Euromoney Awards 2024 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนธุรกิจไทยด้วยโซลูชันดิจิทัลและความยั่งยืนผ่านกรอบ B+ESG พร...