CEO ทั่วโลกเกือบครึ่งมองว่าสถานการณ์ธุรกิจจะไม่กลับเป็นปกติจนกว่าปี 2565 จากงานวิจัย KPMG | Techsauce

CEO ทั่วโลกเกือบครึ่งมองว่าสถานการณ์ธุรกิจจะไม่กลับเป็นปกติจนกว่าปี 2565 จากงานวิจัย KPMG

CEO ของบริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างกำลังวางแผนองค์กรสำหรับ new normal หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 งานวิจัย 2021 KPMG CEO Outlook Pulse Survey พบว่าผู้บริหารระดับสูงเกือบครึ่ง (ร้อยละ 45) คาดว่าธุรกิจจะไม่กลับเป็น ‘ปกติ’ จนกว่าปี 2565 ซึ่งต่างจากงานวิจัยของปีที่แล้ว ที่พบว่าเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 31) คาดว่าสถานการณ์จะกลับเป็นปกติปลายปี 2564 นี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ CEO  1 ใน 4 (ร้อยละ 24) บ่งชี้ว่าโมเดลธุรกิจขององค์กรของตนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรแล้ว

การวิจัยโดย KPMG ครั้งนี้ถูกจัดทำขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมปีนี้ โดยทำการสำรวจ CEO ทั่วโลกจำนวน 500 คน เกี่ยวกับกลวิธีการตอบสนองต่อผลกระทบจากโควิด-19 และความน่าจะเป็นในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า พบว่า CEO ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 55) มีความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีนของพนักงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจว่าเมื่อใดจะให้ให้พนักงานเข้าทำงานในสำนักงานได้ CEO ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) มองทางเลือกที่จะให้พนักงานรายงานองค์กรเมื่อได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรวางกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยให้กับพนักงาน แต่อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 (ร้อยละ 34) มีความกังวลเรื่องการแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานเลือกที่จะไม่รับวัคซีน

คุณบิลล์ โทมัส ประธานและ CEO  เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ก่อนการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ CEO ต่างต้องการที่จะมั่นใจว่าพนักงานของพวกเขาต่างได้รับการป้องกันจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แผนการแจกจ่ายวัคซีนในแต่ละประเทศทำให้ผู้นำมีกำลังใจและความมั่นใจมากขึ้นในการเตรียมพร้อมองค์กรสำหรับ new normal CEO ต่างกำลังวางแผนรับมือกับการที่แต่ละพื้นที่จะได้รับวัคซีนไม่พร้อมกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินการขององค์กร ห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน และพนักงาน ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเวลาที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่” 

“งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารต่างมีมาตรการเด็ดขาดช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อที่จะพลิกโฉมโมเดลการจัดการธุรกิจ (operating model) และวิธีการทำงาน มีการเร่งพัฒนาโปรเจกต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเนื่องจากความสมัครใจหรือเพราะความจำเป็น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้เป็นชนวนให้ CEO ประเมินบทบาทขององค์กรที่มีต่อสังคม หลายๆ องค์กรได้ออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องที่องค์กรอาจจะไม่เคยกล่าวถึงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการสนับสนุนความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างภายในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นสิ่งที่เราอยากให้ดำเนินต่อไป เนื่องจากสังคมเรายังต้องการความร่วมมือและการเปลี่ยนแปลงอีกมาก”

ผลการสำรวจที่สำคัญ

นโยบายรัฐและแผนการฉีดวัคซีนส่งผลต่อการตัดสินใจขององค์กร

CEO 3 ใน 4 (ร้อยละ 76) มองว่าการที่รัฐบาลรณรงค์ให้ธุรกิจกลับมาปฏิบัติการเหมือนปกติจะเป็นสัญญาณให้แต่ละองค์กรอนุญาตให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่สำนักงานตามปกติ นอกจากนี้ ร้อยละ 61 ของผู้บริหารทั่วโลกกล่าวว่าจะรอจนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนประสบผลสำเร็จ (มากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีน) ในที่สำคัญๆ ก่อนที่จะตัดสินใจให้พนักงานกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ เมื่อพนักงานกลับเข้าที่ทำงานแล้ว องค์กร 1 ใน 5 (ร้อยละ 21) จะมีมาตรการป้องกันเพิ่มเติมโดยการขอให้ลูกค้าและบุคคลภายนอกอื่นๆ แจ้งถึงสถานะการฉีดวัคซีนของตนเองก่อนที่จะเข้ามาในบริเวณสำนักงาน  

จำนวน CEO ทั่วโลกที่ต้องการลดพื้นที่สำนักงานนั้นน้อยลงจากเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

การวิจัยครั้งนี้พบว่ามีเพียงร้อยละ 17 ของ CEO ทั่วโลกที่ต้องการลดขนาดสำนักงานลงเนื่องจากโควิด-19 ซึ่งต่างจากการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ CEO จำนวนร้อยละ 69 วางแผนที่จะลดขนาดสำนักงานภายใน 3 ปี้ข้างหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการลดขนาดสำเร็จแล้วหรือแผนการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้มีการเปลี่ยนแปลง

ผู้บริหารยังไม่เชื่อมั่นที่จะให้พนักงานทุกคนทำงานจากนอกสำนักงาน (remote working) 

CEO ต่างกำลังวางแผนว่า new normal จะเป็นอย่างไรหลังผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว ซึ่งมีเพียง 3 ใน 10 (ร้อยละ 30) ของผู้บริหารระดับสูงที่จะมีการพิจารณาการทำงานแบบ hybrid คือการที่พนักงานส่วนใหญ่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (remote working) 2-3 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้มีเพียง 1 ใน 5 (ร้อยละ 21) องค์กรที่พร้อมจะจ้างพนักงานที่ทำงานจากนอกสำนักงาน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจากผลสำรวจปีที่แล้ว (ร้อยละ 73 ในปี 2563)

ความปลอดภัยทางไซเบอร์ถูกบ่งชี้ให้เป็นประเด็นที่ CEO ให้ความสำคัญมากที่สุด

ในช่วงล็อคดาวน์ การทำงานจากที่บ้านเป็นเรื่องปกติ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงขององค์กรในการรั่วไหลของข้อมูล ทำให้ผู้นำทั่วโลกต่างบ่งชี้ว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลต่อการเติบโตและการดำเนินธุรกิจขององค์กรในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นประเด็นที่ถูกบ่งชี้ให้มีความสำคัญกว่าด้านกฎหมาย ภาษี และห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน

ESG ยังคงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับองค์กร

การที่ COP26 กำลังจะถูกจัดขึ้นอีกครั้งในปีนี้และการที่สหรัฐอเมริกาได้กลับมาเข้าร่วมในข้อตกลงปารีสลดโลกร้อน ทำให้ CEO ร้อยละ 49 ต้องการที่จะวางแผนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ให้รัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งผู้นำทางธุรกิจส่วนใหญ่ (ร้อยละ 89) ให้ความสำคัญไปที่การคงประโยชน์ที่ได้รับจากช่วงโควิด-19 ในด้านความยั่งยืนและการลดผลกระทบที่องค์กรมีต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศให้มากที่สุดนอกจากนี้ผู้นำทั่วโลกเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 96) ต้องการที่จะเพิ่มความสำคัญด้านสังคมในการจัดการ ESG

คุณเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KPMG ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาทำให้ CEO ต่างพิจารณาจุดมุ่งหมาย คุณค่า และวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เราได้เห็นหลายๆ องค์กรทำการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าที่วางแผนไว้ในการจัดการด้าน ESG ในการรับมือกับลูกค้า และในกลยุทธ์ทางด้านดิจิทัลขององค์กร ในประเทศไทยเองเราก็ได้เห็นหลายๆ องค์กรเพิ่มช่องทางติดต่อและค้าขายออนไลน์ และพัฒนาโครงสร้างระบบดิจิทัลขององค์กร นอกจากนี้เรายังเห็นได้ว่ามีการเพิ่มความสำคัญไปที่การพัฒนาสังคม สร้างความยั่งยืน และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล ในปีที่ผ่านมาหลายๆ องค์กรได้ทำการเปลี่ยนแปลงที่จะนำมาซึ่งอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับลูกค้า พนักงาน และสังคม” 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ดีอี ผนึก ‘อว.- ศธ.’ ร่วมมือ UNESCO นำเวที UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025

ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ย้ำบทบาทผู้นำจริยธรรม AI ระดั...

Responsive image

เสริมสร้างความร่วมมือไทย-ฟินแลนด์ ศึกษาดูงานและขยายโอกาสนวัตกรรม

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ นำคณะผู้แทนไทยศึกษาดูงานที่ฟินแลนด์ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรม พลังงานหมุนเวียน และเศรษฐกิจหมุนเวียน...

Responsive image

ไทยพบเอสโตเนีย แลกเปลี่ยนมุมมองรัฐบาลดิจิทัล ศึกษาต้นแบบ e-Government

ไทยเปิดใจเรียนรู้จากเอสโตเนีย ระบบ e-Government ที่ประชาชนไว้วางใจ...