เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันธุรกิจกำลังเผชิญกับ digital disruption และผู้บริหารทั่วโลกส่วนใหญ่ยอมรับว่าได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มุมมองขององค์กรในประเทศไทย ที่มีต่อ digital disruption และแนวทางในการปรับตัวไปสู่ดิจิทัลจึงมีความสำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่ง ดีลอยท์ ประเทศไทย จึงได้ทำการสำรวจ Thailand Digital Transformation Survey ขึ้น เพื่อให้เข้าใจมุมมองและการปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรในประเทศไทย
“เราทำ Thailand Digital Transformation Survey ครั้งแรก ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงต้นเดือนมกราคม 2563 ต่อมาได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก เราจึงทำการสำรวจเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2564 เพื่อหาคำตอบให้ชัดเจนว่าการระบาดของโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจในประเทศไทย การสำรวจ Digital Transformation นี้เป็นรายงานประจำปี ที่ดีลอยท์ ประเทศไทย ตั้งใจจะให้เป็นมาตรฐานในการวิเคราะห์ความรู้สึกที่มีต่อความก้าวหน้าในการปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรในประเทศไทย” ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าว
เพื่อเปรียบเทียบให้ชัดเจนว่า ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ธุรกิจในประเทศไทยมีการปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลแตกต่างกันอย่างไรบ้าง การสำรวจทั้งสองครั้งจึงให้ความสำคัญกับหัวข้อดังต่อไปนี้
1) การตีความมุมมองที่มีต่อ digital disruption
2) สำรวจการทำ Digital Transformation ในประเทศไทย
3) ระบุทักษะที่เป็นที่ต้องการในการทำ Digital Transformation
4) ระบุการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่อง Digital Transformation
กลุ่มตัวอย่างของการสำรวจทั้งสองครั้ง เป็นระดับผู้บริหารของบริษัท โดย กลุ่มตัวอย่างของการสำรวจครั้งแรกร้อยละ 19 เป็นกรรมการบริษัท และร้อยละ 16 เป็นผู้บริหารสายการเงิน ในขณะที่การสำรวจครั้งที่สองร้อยละ 34 เป็นผู้บริหารสายการเงิน อีกร้อยละ 30 เป็นผู้บริหารกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และร้อยละ 13 เป็นกรรมการบริษัท
ธุรกิจอุปโภคบริโภคเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีพื้นฐานมาใช้ในองค์กร เช่น เว็บไซต์, แอปพลิเคชันบนมือถือ และคลาวด์ ตั้งแต่ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 79 ของบริษัทที่ร่วมในการสำรวจระบุว่า มีการใช้เว็บไซต์ในการดำเนินกิจการของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ธุรกิจอุปโภคบริโภคยังแซงหน้า ธุรกิจเทเลคอม สื่อและเทคโนโลยี ในแง่การนำเทคโนโลยีขึ้นสูงมาใช้ในองค์กร เช่น Blockchain, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 บริษัทที่มีการใช้ AI มีเพียงร้อยละ 4 และเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 35 หลังจากมีการระบาดของโควิด-19
ธุรกิจการเงิน และธุรกิจการดูแลสุขภาพ ก็มีการเร่งรัดแผนการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลให้เร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมากหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจทั้งสองแห่งพบปัญหาเหมือนกันประการหนึ่ง คือ การคัดสรรพนักงานตำแหน่งที่เกี่ยวกับดิจิทัลนั่นคือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทายที่สุดของทุกบริษัท
บริษัทส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 56 ของบริษัทกลุ่มตัวอย่างได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการปรับองค์กรไปสู่ระบบดิจิทัล (Digital Adopter) หลังจากการระบาดของโควิด-19 เทียบกับร้อยละ 12 ก่อนหน้าการระบาด ขยับจากการเป็นกลุ่มบริษัทที่เคยอยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์ว่าควรปรับองค์กรไปสู่ดิจิทัลหรือไม่ (Digital Evaluator) ลดลงจากร้อยละ 59 ก่อนโควิด เหลือเพียงร้อยละ 12 หลังโควิด
ยิ่งไปกว่านั้น การนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในองค์กร มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ไม่รวมถึงระบบอัจฉริยะ และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น การใช้คลาวด์เทคโนโลยี เพิ่มขึ้นร้อยละ 19,Internet of Things เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และ แอปพลิเคชั่นบนมือถือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 การเพิ่มขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ภาคธุรกิจทั่วประเทศได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
มร.วินเน่ย์ โฮรา พาร์ทเนอร์ ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ประเทศไทย กล่าวว่า “ความท้าทายสำคัญในทำ Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องของตัวเทคโนโลยีเองแต่อย่างใด ตรงกันข้าม อุปสรรคสำคัญ คือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทในประเทศไทยยังเปิดเผยว่า กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การขาดแคลนพนักงานที่มีความสามารถ วัฒนธรรมดิจิทัลในองค์กร และโครงสร้างการบริหารแบบบนลงล่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเลย แต่เป็นเรื่องของการคัดสรรพนักงานที่มีความสามารถและทักษะที่เหมาะสม เพื่อให้การทำ Digital Transformation นั้นประสบความสำเร็จ”
ผลการสำรวจในปี 2563 ระบุว่าทักษะที่ประเทศไทยต้องการในอันดับแรกๆ คือ การคิดวิเคราะห์ ทักษะด้านนวัตกรรม รวมไปถึงวิธีการเรียนรู้ และการเรียนรู้แบบได้มีการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งสอดคล้องกับทักษะที่คาดการณ์ว่าจะเป็นที่ต้องการในตลาดโลกในปี 2568 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก
“เราทุกคนประจักษ์ชัดแล้วว่า การปรับตัวสู่ดิจิทัลมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมาก ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเกินคาดต่อธุรกิจทุกภาคส่วน ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อม และติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่อง Digital Transformation ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล (Digital Environment) ในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายในขณะนี้” ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริม
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด