8 สมาคมดิจิทัลไทย ยกทัพใหญ่รวมตัวคนสายเทค ในงาน ‘Digital Night 2022’ | Techsauce

8 สมาคมดิจิทัลไทย ยกทัพใหญ่รวมตัวคนสายเทค ในงาน ‘Digital Night 2022’

ปิดท้ายปีอย่างสวยงามกับงาน Networking ของคนสายดิจิทัลครั้งใหญ่สุดของปี ที่ได้ 8 สมาคมในวงการดิจิทัลของไทย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน ‘Digital Night 2022’ ขึ้น เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยประกอบไปด้วย นำโดย สมาคมการค้าผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล (DTE) สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) สมาคมไทยไอโอที (Thai IoT) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai E-Commerce) สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (TPA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI)  สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) และ สมาคมเมตาเวิร์สไทย (Thai Metaverse) พร้อมผู้ให้การสนับสนุนอีกมากมายที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมา

งาน Digital Night 2022 ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการพาคนในวงการดิจิทัลจากหลากหลายสาขามาพบปะกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ อัพเดตข่าวสารในวงการ และสร้างคอนเนคชั่นทางธุรกิจ  ซึ่งปีนี้ภายในงานมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน จากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ รวมถึงนักลงทุนหลายท่าน ที่มาร่วมตอกย้ำถึงความสำเร็จของงาน Networking ครั้งนี้

ไฮไลต์ภายในงาน ได้มีการจัดการเสวนาพูดคุยและอัพเดตทิศทางของอุตสาหกรรมดิจิทัล จากตัวจริงในวงการทั้ง 18 ท่าน ที่มาแชร์ประสบการณ์ ความคิดเห็น และแนวทางรับมือกับประเด็นต่าง ๆ ใน 4 หัวข้อ ได้แก่ Tech Talent Today and Tomorrow, E-Commerce 2023, Future of Web 3.0 และ Trend of Digital Technology 

ในหัวข้อ Tech Talent Today and Tomorrow ผู้คร่ำหวอดในวงการเทคทั้ง 5 ท่าน ได้แก่ คุณแคสเปอร์ เสริมสุขสัน - อุปนายกสมาคม Thai Startup และผู้ก่อตั้ง Really Casper., คุณปวิณ วรพฤกษ์ - อุปนายกสมาคมไทยไอโอที และที่ปรึกษาบริษัท TheEnabler, คุณไพบูลย์ พนัสบดี - นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย และ CTO บริษัท CodeKit, คุณไพโรจน์ ต้นศิริอนุสรณ์ - กรรมการบริหารสมาคม ATSI และ CEO บริษัท เทคคอนส์บิส จำกัด และ คุณธีรพงศ์ มหธรรม - Managing Director ของ Nimble by Krungsri ได้ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทย รวมถึงแนวทางการรับมือหรือปรับตัวกับพฤติกรรมและวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน

คุณไพโรจน์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานเทคในไทยไว้ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลนั้นเติบโตไวมาก แต่บุคลากรของเรานั้นเติบโตตามไม่ทัน สัดส่วนการแข่งขันระหว่างองค์กรต่าง ๆ เพื่อแย่งตัวบุคลากรเหล่านี้จึงสูงตาม ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยรักษาบุคลากรที่มีอยู่ตอนนี้ให้อยู่กับองค์กรในระยะยาวได้ ก็คือการให้ ownership หรือการทำให้พวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของ ได้เป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร

คุณแคสเปอร์ ได้เสริมในประเด็นเกี่ยวกับการ upskill และ reskill ไว้อย่างน่าสนใจว่า สองสิ่งนี้เป็นทักษะที่ไม่ใช่เฉพาะเด็กยุคใหม่เท่านั้นที่ควรใส่ใจ แต่ผู้บริหารขององค์กรเองก็ควรให้ความสำคัญกับทักษะนี้ และปรับตัวให้เข้าใจกับทักษะและพฤติกรรมของเด็กยุคใหม่เช่นกัน

หัวข้อ E-commerce 2023 ได้รับเกียรติจากตัวแทนสมาคมทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา - อุปนายกสมาคม Thai E-Commerce และ CEO บริษัท Nasket Retail, คุณภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ - ที่ปรึกษาสมาคม Thai E-Commerce และ CEO บริษัท Pay Solutions, คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ - นายกสมาคม Thai E-Commerce และ CEO บริษัท Thailand e-Business Center และคุณเกื้อกูณ วงศ์ตระกูลเล็ก - กรรมการสมาคม DTE และ CEO บริษัท Advocrazy มาร่วมแชร์สถานการณ์ตลาด E-commerce ในไทยทั้งก่อนและหลังเกิดสถานการณ์การแพร่รระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และทิศทางตลาดในอนาคตให้ผู้เข้าร่วมได้อัพเดตไปพร้อม ๆ กัน

คุณกุลธิรัตน์ ได้นำผลสำรวจจากสมาคม Thai E-Commerce มาแชร์ให้ฟังกันว่า ปัจจุบันตัวเลขการเติบโตของตลาด e-commerce ในไทยนั้นมากถึง 800,000 ล้าน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีก ซึ่ง e-commerce นั้นกลายเป็นเสมือนปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตปัจจัยใหม่ของคนยุคปัจจุบัน หรือเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘life pleasure’ ซึ่งก็คือความสุขหนึ่งในชีวิต ที่คนขาดไม่ได้ไปแล้ว

ต่อมาในหัวข้อ Future of Web 3.0 ตัวจริงในวงการเทคทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ คุณธรรณภพ อารีพรรค - รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี ม.รังสิต, คุณนที เทพโภชน์ - นายกสมาคมเมตาเวิร์สไทย และ ผู้ก่อตั้ง Block Mountain, คุณศรันญู กู้ธนพัฒน์ - กรรมการสมาคม DTE และ Co-founder บริษัท Scalesbot และ คุณสถาพน พัฒนะคูหา - CEO บริษัท SmartContract Blockchain Studio มาร่วมพูดคุยกันถึงอนาคตเทคโนโลยี Web 3.0 ในไทย รวมถึงโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่

ในสถานการณ์ปัจจุบันจะเริ่มเห็นกันแล้วว่ามีหลายหน่วยงานที่กำลังพยายามค่อย ๆ ปฏิวัติแอปพลิเคชันของตัวเองจากเดิมที่ใช้เทคโนโลยี Web 2.0 มาเป็น Web 3.0 แล้ว ซึ่งก็มี use case มากมายเริ่มมีออกมาให้เห็น เช่น ในอุตสาหกรรมการเงิน อย่างแอปฯ ธนาคารต่าง ๆ อุตสาหกรรม e-commerce เป็นต้น สิ่งที่ทั้ง 4 ท่านเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งที่เราควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเทคโนโลยีตัวนี้ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้นทุกวัน ๆ ก็คือ การเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถนำไปต่อยอดอะไรเพิ่มเติมได้อีกบ้าง เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีรากฐานที่ใช้พัฒนา Web 3.0 ขึ้นมา เราจึงต้องเข้าใจและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ให้ลึก เพื่อนำมาประยุกต์ต่อยอดสร้างประโยชน์กับเราต่อไปให้ได้มากที่สุด

หัวข้อสุดท้ายของงานในค่ำคืนนี้ คือ Trend of Digital Technology เรามีผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 ท่าน จากหลายสาขามาร่วมกันแชร์ประสบการณ์ และอัพเดตข่าวสารในวงการให้ได้รับรู้กัน ได้แก่ คุณยุทธนา ศรีสวัสดิ์ - นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย และ CEO บริษัท iTax, คุณณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ - อุปนายกสมาคม DTE และ Group Marketing Director ของ Benchachinda Group, คุณเอกนรินทร์ ศิริทรัพย์ - กรรมการสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย และ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Line API, คุณนิติ เมฆหมอก - นายกสมาคมไทย IoT และ CEO บริษัท SYN HUB Digi-Tech community และ คุณแซม ตันสกุล - กรรมการผู้จัดการ กรุงศรี ฟินโนเวต

คุณแซม ได้มาบอกเล่าสถานการณ์การลงทุนของ venture capital ทั่วโลกให้ฟังพร้อม ๆ กัน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เพราะ venture capital ต่าง ๆ หรือนักลงทุนทั่วไปเองก็เช่นกัน หันมาให้ความสนใจกับผลกำไรในส่วน bottom line กันมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะให้ความสนใจ top line ซะมากกว่า คือเน้นให้เงินลงทุนแกสตาร์ทอัพเพื่อไปสร้างการเติบโต อาจจะยังไม่ต้องสร้างผลกำไรก็ได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้กลับตาลปัตรกันแล้ว นักลงทุนเปลี่ยนทัศนคติในการลงทุนกันใหม่ เลือกหนทางที่ปลอดภัยกันมากขึ้นและเซฟตัวเองกันมากขึ้น

ส่วนทางฝั่งเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในวงการ คุณณัฐวุฒิและคุณนิติได้อัพเดตกันให้ฟังว่า ในปัจจุบันเรากำลังพยายามพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้ได้ใช้ประสิทธิภาพของมันกันอย่างเต็มที่ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมอยู่ ซึ่งภายในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามามีผลกับชีวิตของเราคือ เทคโนโลยี 6G ซึ่งมันจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเราในหลาย ๆ ด้าน ที่จะเห็นได้ชัดคือเรื่องของ smart city และ telecom

นอกเหนือจาก 4 หัวข้อหลักที่วิทยากรทุกท่านมาอัพเดตข้อมูลให้ฟังกันไปแล้ว เวทีของคนดิจิทัลค่ำคืนนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอีกหลายท่านได้มาแสดงนวัตกรรมที่น่าสนใจให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักอีก เช่น นวัตกรรมแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ ‘Trailhead’ ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่จาก  salesforce ที่ได้คุณชวกิจ สังข์จรูญ - Solution Delivery Director ของ X10 - มาชวนผู้เข้าร่วมทดลองสำรวจเข้าไปในโลกแห่งการเรียนรู้พร้อม ๆ กัน

Trailhead เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้รูปแบบออนไลน์ สำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาทักษะดิจิทัลต่าง ๆ เช่น การเขียนโปรแกรม การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบคลาวด์ การจัดการกับข้อมูล เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แถมยังมีใบประกาศให้อีกต่างหากหลังจบการศึกษาในแต่ละคอร์สเรียน ที่น่าสนใจคือ Trailhead ขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยรูปแบบของ gamification ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะของตัวเองให้ไปให้ถึงเป้าหมาย นี่จึงเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่น่าจับตามองและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่คนไทยอย่างมาก

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจและทุกคนที่มาร่วมงานต่างพูดถึงก็คือ ก็อกน้ำพูดได้ จากทีม NLP โดยหน่วยงานนวัตกรรมของ SCG ‘WEDO’ ความพิเศษของก็อกน้ำนี้นอกจากจะเป็นก็อกน้ำอัจฉริยะที่สั่งการโดยใช้เสียงแล้ว มันยังเป็นโซลูชั่นที่เข้ามาแก้ปัญหาการสื่อสารในที่อับสัญญานอีกด้วย เพราะระบบไม่ได้ทำงานโดยใช้การเชื่อมต่อกับคลาวด์หรืออินเทอร์เน็ต แต่ใช้งานผ่าน Offline Thai NLP Engine ที่รันบนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแทน ซึ่งคุณภาพการโต้ตอบยังอยู่ในมาตารฐานดีเทียบเท่ากับ Siri หรือ Alexa เลย

หลังอัพเดตข้อมูลกันไปอย่างเต็มอิ่ม ภายในงานยังมีความสนุกจัดเต็มจากวง ETC ที่มามอบความสุขให้แก่ผู้ร่วมงาน ผ่านบทเพลงคุ้นหูมากมาย อาทิ นางฟ้า เธอคือใคร สิ่งที่มีชีวิตที่เรียกว่าหัวใจ ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง เพราะศิลปินลงมากระทบไหล่ถึงด้านล่างเวที ให้แฟนคลับได้อินไปกับบทเพลงเพราะ ๆ อย่างใกล้ชิดกันเลยทีเดียว

งานนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ สำหรับคนในวงการดิจิทัลจากหลากหลายสาขา ที่ได้มาร่วมสนุกสนานและผ่อนคลายไปกับมิตรภาพใหม่ที่เจอกันในงาน ได้สร้างโอกาสสานสัมพันธ์ทางธุรกิจกันต่อไปในอนาคต ซึ่งยิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จของงาน Networking ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้ได้อย่างดี งานนี้จึงจบลงด้วยเสียงเรียกร้องอย่างล้นหลามจากผู้ร่วมงาน ให้สมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันให้เกิดงานดี ๆ สำหรับคนวงการดิจิทัลอย่างนี้อีกทุก ๆ ปี

ทั้ง 8 สมาคม รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนรายใหญ่ต่าง ๆ ที่ได้เข้าร่วมงานพร้อมจัดแสดงนวัตกรรมของตัวเองต่างก็ยิ้มได้อย่างเต็มที่ เพราะงานออกมามีคุณภาพ ประทับใจผู้ร่วมงาน และยังช่วยผลักดันวงการดิจิทัลไทยให้ก้าวไปข้าวหน้าอย่างเข้มแข็ง ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดงาน Digital Night 2022 นี้ขึ้นมาได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไทยพาณิชย์ผนึกกำลัง Sunline ปรับโครงสร้างสถาปัตยกรรมด้านไอที มุ่งยกระดับประสบการณ์ลูกค้า

ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้ายกระดับประสบการณ์ดิจิทัลแบงก์ โดยจับมือ ซันไลน์ (Sunline) ผู้นำด้านการให้บริการเทคโนโลยีสำหรับธนาคารระดับโลก เพื่อพัฒนา “ระบบไอทีหลักธนาคาร” หรือ “Core Ban...

Responsive image

Innovation One หนุนผู้ประกอบการสายนวัตกรรมไทย ร่วมพลิกโฉมนวัตกรรมไทย

เปลี่ยนไอเดียเจ๋งให้เป็นจริง! เส้นการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก เปลี่ยนไอเดียเจ๋ง! Deep Tech ไม่ง่าย ต้องมีพลังเต็มที่ ทั้งนักพัฒนา ผู้ประกอบการ และนักลงทุน เพราะเทคโนโลยีนี้ต้...

Responsive image

AWS ลงทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดตัวโครงการหนุนภาครัฐ AWS Public Sector Generative AI Impact Initiative

Amazon Web Services (AWS) ประกาศเปิดตัวโครงการ AWS Public Sector Generative Artificial Intelligence Impact Initiative ด้วยมูลค่าการลงทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,838,250,000 บ...