EIC คาดในระยะต่อไป ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการระบาด ของ COVID-19 | Techsauce

EIC คาดในระยะต่อไป ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการระบาด ของ COVID-19

ส่งออก ม.ค. 2020 พลิกขยายตัวจากการส่งออกทอง EIC คาดในระยะต่อไป ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการระบาด ของ COVID-19 

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ม.ค. 2020 ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ 3.3%YOY 

(-1.5% YOY หากไม่รวมทองคำ) โดยมีสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดีคือ ทองคำ เครื่องปรับอากาศ จักรยานยนต์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ขณะที่การส่งออกข้าว เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ยังคงหดตัว 

การส่งออกในช่วงเดือน ม.ค. 2020 มีการฟื้นตัวตามที่เคยคาด สะท้อนจาก PMI ภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีสัญญาณปรับดีขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากความกังวลด้านสงครามการค้าที่ลดลงจากข้อตกลงระยะแรกของจีนและสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี คาดว่าในระยะต่อไป การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ ราคาน้ำมันที่ลดลง และปัญหาด้านการผลิตและขนส่งสินค้าของจีนที่มีต่อบริษัทที่ต้องพึ่งพาสินค้าจากจีนทั่วโลก (supply disruption) EIC คงมุมมองการส่งออกไทยปี 2020 ยังมีแนวโน้มหดตัว -1.0%YOY

Key points

  • มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ม.ค. 2020 ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ 3.3%YOY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -1.3%YOY ทั้งนี้หากหักการส่งออกทอง มูลค่าการส่งออกจะหดตัวที่ -1.5%YOY 
  • สินค้าส่งออกสำคัญที่ทำให้การส่งออกเดือน ม.ค. ปรับดีขึ้น ได้แก่ ทองคำ, เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (รูปที่ 1)
  • การส่งออกทองขยายตัวมากถึง 299.6%YOY โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาที่สูงขึ้น (ราคาเพิ่มขึ้นในเดือน ม.ค. 20.8%YOY และ 5.5%MOM) ซึ่งมีตลาดส่งออกหลักคือสวิตเซอร์แลนด์ (397.3%YOY) สิงคโปร์ (890.1%YOY) เมียนมา (201.3%YOY) และรัสเซีย (129.8%YOY) 
  • สินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการยังขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบขยายตัวที่ 25.0% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบขยายตัวสูงที่ 49.3%YOY และอุปกรณ์กึ่งตัวนำเพิ่มขึ้น 61.9%YOY
  • สินค้าบางรายการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าจีน มีการขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไม้และผลิตภัณฑ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยขยายตัวที่ 12.0%YOY, 2.6%YOY และ 5.6%YOY ตามลำดับ (การส่งออกไปจีนขยายตัวที่ 73.2%YOY, 23.6%YOY และ 12.7%YOY ตามลำดับ)
  • น้ำมันสำเร็จรูปกลับมาขยายตัวที่ 5.9%YOY เนื่องจากโรงกลั่นกลับมาดำเนินการปกติหลังจากปิดซ่อมในช่วงปลายปี 2019
  • อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกของหลายสินค้าสำคัญยังหดตัว เช่น ข้าว (-34%YOY) ที่ถูกกดดันจากภัยแล้งและการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เคมีภัณฑ์ (-16.1%YOY) 
  • ผลไม้สด-แช่เย็นและแห้ง (-41.6%YOY) เม็ดพลาสติก (-12.6%YOY) นาฬิกาและส่วนประกอบ (-54.8%) และรถยนต์และส่วนประกอบ (-3.4%YOY)

ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่ามีการขยายตัวในหลายตลาดสำคัญ

  • การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 9.9%YOY จากเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และอุปกรณ์

  • การส่งออกไปจีนขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.2%YOY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวคือ รถยนต์-ส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์ 

  • การส่งออกไปสหภาพยุโรป (EU15) พลิกกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.6% หลังการหดตัวต่อเนื่อง 15 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว คือ รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์

  • การส่งออกไปอาเซียน 5 ขยายตัวที่ 3.8%YOY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย และยางพารา

  • อย่างไรก็ดี การส่งออก CLMV กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ -0.7%YOY สินค้าสำคัญที่หดตัว คือ รถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นก็ยังหดตัวต่อเนื่องที่ -2.5%YOY โดยมีสินค้าสำคัญที่หดตัวคือ เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลแปรรูป ส่วนการส่งออกไปอินเดียหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ -5.7%YOY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และนาฬิกาและส่วนประกอบ

ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าหดตัวสูงที่ -7.9%YOY เป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนที่มีการนำเข้าอาวุธเพื่อการซ้อมรบ ในเดือนมกราคม 2020 การนำเข้าอาวุธหดตัวมากถึง -96.8%YOY โดยยังมีสินค้ากลุ่มอื่น
ที่หดตัวอีกได้แก่ สินค้าวัตถุดิบ (-10.2%YOY) ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-2.4%YOY) ทั้งนี้เมื่อหักอาวุธ
การนำเข้าจะพลิกกลับมาขยายตัว 1.2%YOY โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวถึง 19.6%YOY เนื่องจากโรงกลั่นที่เริ่มกลับมาดำเนินการหลังการปิดซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี 2019 และราคาน้ำมันในเดือนมกราคม
ที่เพิ่มขึ้น (ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้น 8.1%YOY) สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 9.6%YOY และสินค้าทุนขยายตัว
ที่ 5.8%YOY จากการนำเข้าเครื่องบินที่ขยายตัว 155.9%YOY

  • Implication

การส่งออก (ก่อนได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19) มีการฟื้นตัวตามที่เคยคาด โดยในช่วงก่อนหน้า EIC ประเมินไว้ว่าภาวะการค้าโลกได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager’s Index: PMI) ภาคการผลิตที่มีสัญญาณฟื้นตัว (รูปที่ 2) ในหลายประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความตกลงระยะแรก (phase-1 deal) ของจีนและสหรัฐฯ ที่ทำให้สถานการณ์การค้าโลกปรับดีขึ้นบางส่วน โดยหากพิจารณามูลค่าการส่งออกของไทยที่ไม่รวมการส่งออกทองคำ (รูปที่ 3 ซ้าย) พบว่ามีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง สอดคล้องกับ
การฟื้นตัวของ PMI ในหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับสัดส่วนสินค้าส่งออกที่มีการหดตัวก็ปรับลดลง (รูปที่ 3 ขวา)  

อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าการส่งออกในระยะต่อไปมีแนวโน้มกลับมาหดตัวอีกครั้ง จากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 

โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มระบาดอย่างมากเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2020 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ จีน (จำนวนผู้ติดเชื้อ 77,345 ราย) เกาหลีใต้ (จำนวนผู้ติดเชื้อ 763 ราย) อิตาลี (จำนวนผู้ติดเชื้อ 155 ราย) ญี่ปุ่น (จำนวนผู้ติดเชื้อ 146 ราย) และอิหร่าน (จำนวนผู้ติดเชื้อ 43 ราย) (ข้อมูลวันที่ 24 ก.พ. 2020) เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคจะส่งผลต่อการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจบางส่วน ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกจึงมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้ การผลิตและการขนส่งสินค้าของจีนที่มีอุปสรรคจากมาตรการควบคุมโรค (supply chain disruption)
ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการผลิตของหลายประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับจีน กล่าวคือบริษัทที่มีฐาน
การผลิตในจีน หรือต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนในการผลิต หรือเป็นบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ของจีน
จะได้รับผลกระทบด้านการผลิตสินค้า เนื่องจากต้นทางสินค้าจากจีนไม่สามารถผลิตหรือขนส่งไปยังบริษัทเหล่านี้ได้ ดังนั้น supply chain disruption จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อภาคการผลิตของโลกในระยะข้างหน้าที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกในระยะต่อไป โดยจากรูปที่ 4 จะเห็นได้ว่าหลังจากที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มรุนแรงมากขึ้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็มีการปรับลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงส่งผลโดยตรงต่ออุปสงค์น้ำมันดิบของโลก ดังนั้น มูลค่าสินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน จึงมีแนวโน้มปรับลดลงในระยะข้างหน้า ได้แก่ สินค้าประเภทเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนถึงประมาณ 10% ของการส่งออกรวมทั้งหมด

จากสาเหตุข้างต้น ทำให้ EIC คาดว่าการส่งออกไทยปี 2020 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แต่ในอัตราชะลอลงที่ -1.0% (เทียบกับคาดการณ์ที่ 0.2% ก่อนมีการระบาดของ COVID-19) โดยจากคาดการณ์ล่าสุด EIC ประเมินว่าหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้


โดย :    ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ ([email protected])

    ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน

    พนันดร อรุณีนิรมาน ([email protected])

    นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

    จิรายุ โพธิราช ([email protected])

    นักวิเคราะห์

    พิมพ์ชนก โฮว ([email protected])

    นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...