วันสตรีสากลปีนี้ให้ความสำคัญกับการยกย่องผู้หญิงพร้อมกับแนวคิดของความเท่าเทียม โดยธีม #EachforEqual สนับสนุนแนวคิดที่ว่าโลกที่เท่าเทียมคือโลกที่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้า ในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องสำคัญในการยกย่องบรรดาผู้นำธุรกิจที่มีความยอดเยี่ยม ซึ่งใช้แพลทฟอร์มของ Facebook ในการเอาชนะทัศนคติและอุปสรรคต่างๆ เพื่อสร้างหนทางสู่โลกที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น
การยกย่องดังกล่าวมีความสำคัญเป็นพิเศษโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการที่โดดเด่นไม่ได้เป็นเพียงผู้นำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนของพวกเขาอีกด้วย
สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ดำเนินมาราว 15 ปี ส่งผลกระทบมากมายต่อคนในพื้นที่ หนึ่งในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้หญิง ซึ่งพวกเธอต้องปรับตัวเป็นอย่างมากกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อสถานภาพของตัวเองจากแม่บ้านที่ดูแลความเรียบร้อยของสมาชิกในครอบครัว มาเป็นหัวเรือใหญ่ที่ต้องแบกรับภาระการหารายได้หลักเพื่อใช้จ่ายในบ้าน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม ‘วานีตา’ เกิดขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่าเรื่องราวของวิถีชีวิตและความภาคภูมิใจของผู้หญิงควรได้รับการบอกเล่า และสินค้าจากกลุ่มอาชีพผู้หญิงควรได้รับการส่งเสริม รวบรวม และทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา มีสมาชิกราว 1,000 คน จากกลุ่มผู้หญิง 58 กลุ่มในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และใน 4 อำเภอชายแดนสงขลาซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ได้แก่ อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องแต่งกาย เครื่องจักสาน และงานหัตถกรรมต่างๆ
คุณอามีเนาะห์ หะยิมะแซ ประธานวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา กล่าวว่า “เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ช่วยสร้างพื้นที่ให้คนในชุมชนขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้จริง หน่วยงานรัฐหลายๆ แห่งต่างรู้สึกทึ่งที่พวกเราสามารถทำได้สำเร็จ และเราสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของพวกเขาได้ จากในตอนแรกที่อาจจะมีความกังวลว่ากลุ่มของเรายังเด็กเกินกว่าที่จะทำงานร่วมกันได้ แต่เราได้พิสูจน์ตัวเราเองและแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี”
สำหรับวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม ‘วานีตา’ การใช้งานแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยทั่วประเทศ และได้ตัดสินใจใช้ Facebook เป็นช่องทางการตลาดหลัก โดยเพจของวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของความเป็นชุมชนของกลุ่มและใช้เนื้อหารูปภาพที่เต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์เพื่อแสดงผลงานที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยสมาชิกของกลุ่ม
นอกจากนี้ ยังใช้ Facebook เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของพวกเขาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยตั้งแต่เริ่มต้นใช้งาน Facebook เป็นหน้าร้านออนไลน์ วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาสามารถเปิดโอกาสให้กับตนเองและขยายธุรกิจให้เติบโต ซึ่งเหนือกว่าการขายแบบที่ลูกค้าต้องเดินทางไปยังร้านค้าขนาดเล็กของพวกเขาในตัวเมืองของจังหวัดปัตตานีหรือตามตลาดในท้องถิ่นต่างๆ พวกเขายังใช้ฟีเจอร์ Shop ของ Facebook ในการสร้างรายการสินค้าคุณภาพทั้งหมด และนำรายได้จากการขายกลับคืนสู่กลุ่มวิสาหกิจโดยตรง รวมถึงสมาชิกภายในชุมชนและกลุ่มผู้หญิงที่พวกเขาให้ความดูแล
พวกเขายังเป็นหนึ่งในธุรกิจจำนวนมากมายในประเทศไทยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของการซื้อขายสินค้าผ่านการแช็ทออนไลน์ (Conversational Commerce) ในภูมิภาค ด้วยการตั้งค่าปุ่มกด Click-to-Messenger ที่ช่วยตอบคำถามที่พบบ่อยให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม และให้คำแนะนำกับพวกเขาตลอดประสบการณ์การซื้อสินค้า
ประสบการณ์ของผู้ชมเป็นสิ่งที่เด็กหญิงเคสิยาห์ ชุมพวง หรือ ‘วินนี่’ คำนึงถึงอยู่เสมอ ในปัจจุบัน วินนี่มีอายุเพียง 7 ปีและยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ผลงานศิลปะแนวภาพวาด abstract (นามธรรม) ของวินนี่มีแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติในจังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ห่างไกลความเร่งรีบและวุ่นวายของชีวิตสังคมเมือง
ความสนใจในศิลปะของวินนี่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอมีอายุ 3 ปี โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเด็กชายวจนะ ชุมพวง หรือ ‘ฮีโร่’ พี่ชายวัย 8 ปีของเธอ ครอบครัวของวินนี่ค้นพบพรสวรรค์อันโดดเด่นของเธอในระหว่างการจัดงานศิลปินแห่งชาติสัญจร ณ หอศิลป์อันดามันในจังหวัดกระบี่ เมื่อเธอสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีสีสันสดใสอย่างสนุกสาน และได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขัน (ในขณะที่ฮีโร่ชนะรางวัลเหรียญทองในครั้งนั้น) จากนั้นเพียงไม่นาน ศิลปินตัวน้อยก็เกิดความคิดว่าเธออยากจะสวมใส่ผลงานศิลปะที่เธอสร้างสรรค์ขึ้น จึงเกิดการพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์เสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ Keziah
สำหรับครอบครัวของวินนี่ ผลิตภัณฑ์ของ Keziah สะท้อนให้เห็นถึงหลักปรัชญาที่มาจากจินตนาการ ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยอายุ สถานะทางสังคม เพศ เชื้อชาติ หรือสถานที่ ด้วยการยึดถือปรัชญาเช่นนี้ ทำให้พวกเขาเลือกใช้ Facebook เป็นช่องทางออนไลน์หลักในการแสดงวิสัยทัศน์ของพวกเขาสู่โลกภายนอก
ในปัจจุบัน เพจ Facebook ของ Keziah มียอดผู้ติดตามกว่า 2,900 คน และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง Facebook ไม่เพียงมอบพื้นที่ให้กับแบรนด์ Keziah ในการโปรโมทและจำหน่ายชิ้นงาน แต่ยังเปิดให้โอกาสให้แบรนด์สามารถสื่อสารกับลูกค้าจากทั่วโลกได้โดยตรงผ่าน Messenger ในขณะที่เครื่องมืออื่นๆ อย่างฟีดข่าวและ Stories ยังช่วยให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตประจำวันของครอบครัวเพื่อสร้างความรู้สึกถึงการเป็นชุมชนมากขึ้น
วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาและแบรนด์ Keziah คือตัวอย่างของกลุ่มผู้หญิงและเจ้าของธุรกิจยุคใหม่ในภาคใต้ของประเทศไทยที่กำลังเติบโตด้วยพลังของชุมชนและการสนทนา
ที่ Facebook เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่มีความเท่าเทียมด้วยการสนับสนุนผู้หญิงผ่านโครงการต่างๆ ที่ช่วยตอบสนองความต้องการด้านการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ การเชื่อมต่อ และชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้หญิงให้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ
Boost with Facebook เป็นโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลในประเทศไทยที่ Facebook ดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเชียโดยเปิดตัวไปเมื่อปี 2562 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนามย่อมท้องถิ่นในการสร้างธุรกิจของพวกเขาให้เติบโต ในปี 2562 มีสตรีที่ร่วมโครงการซึ่งได้เข้ารับการฝึกอบรมอยู่ที่ร้อยละ 59 และมีสตรีผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมในภาคใต้ของประเทศไทยร้อยละ 68
จากผลการศึกษา “อนาคตของธุรกิจ” (Future of Business) เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Facebook ธนาคารโลก และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ร่วมกันสำรวจธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหลายล้านรายจากทั่วโลกที่ใช้งาน Facebook พบว่าร้อยละ 51 ของผู้นำธุรกิจในประเทศไทยที่ตอบแบบสำรวจเป็นผู้หญิง และร้อยละ 40 ตอบว่าพวกเธอต้องการที่จะเป็นเจ้านายตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้นำสตรีเหล่านี้ยังกล่าวถึงบทบาทสำคัญของโซเชียลมีเดียที่มีต่อธุรกิจของพวกเขา โดยร้อยละ 90 เชื่อว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์ต่อการลงทุนของพวกเธอ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าผู้นำธุรกิจที่เป็นผู้ชาย นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจหญิงยังมีมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจของพวกเธอในอนาคต โดยร้อยละ 26 บอกว่าพวกเธอคาดหวังว่าธุรกิจจะมีอัตราการเติบโตที่มากกว่าค่าเฉลี่ยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ทำธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการเติบโตและการเงินต่างๆ แม้ว่าร้อยละ 69 จะมีประสบการณ์การทำงานในสายงานของพวกเธอมากกว่า 2 ปี ร้อยละ 88 ของผู้หญิงที่เป็นผู้นำธุรกิจในประเทศไทยเป็นผู้นำในองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คนและมักจะมีธุรกิจขนาดที่เล็กกว่าผู้นำธุรกิจที่เป็นชาย โดยมีเพียงร้อยละ 17 ที่รายงานว่าพวกเธอมีโอกาสเข้าถึงการกู้ยืมเงินหรือวงเงินสินเชื่อ ซึ่งแตกต่างจากผู้นำธุรกิจชายที่มีโอกาสในการเข้าถึงอยู่ที่ร้อยละ 31
คุณชนัญญา คุณวัฒนการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า “ในทุกแพลทฟอร์มของเรา เราได้พบเห็นผลกระทบเชิงบวกที่กลุ่มผู้หญิงสามารถสร้างสรรค์ให้กับชุมชนของตนเอง เมื่อผู้หญิงได้รับสิทธิและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และโอกาสในการสร้างธุรกิจ การริเริ่มความเคลื่อนไหวทางสังคม ไปจนถึงการสนับสนุนซึ่งกัน Facebook มุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับความสำเร็จของผู้นำธุรกิจ เช่น วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาและแบรนด์ Keziah ในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า และมีส่วนช่วยในการสร้างสรรค์โลกที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อ ให้คำแนะนำ การฝึกอบรม และการช่วยเหลือชุมชน”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด