รายงาน FinTech in ASEAN 2021 เผย การระดมทุนด้าน FinTech เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในภูมิภาคอาเซียน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เงินทุนสำหรับเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) ในภูมิภาคอาเซียนดีดตัวกลับอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าใน 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงาน FinTech in ASEAN 2021 ของ UOB, PwC Singapore และ Singapore FinTech Association (SFA) ระบุว่าจำนวนการระดมเงินทุนสำหรับฟินเทคที่พุ่งสูงขึ้นนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากข้อตกลง 167 ข้อตกลง และในจำนวนนี้ 13 ข้อตกลงมาจากการระดมทุนระดับเมกะ[1] มีมูลค่ารวมสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจบริษัทฟินเทคขั้นปลาย[2] ซึ่ง 10 จาก 13 ข้อตกลงบรรลุ ได้เงินทุนในระดับเมกะในปีนี้ ซึ่งมีบริษัทฟินเทคของไทยรวมอยู่ด้วย โดยเทรนด์นี้เป็นสัญญาณชี้ถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของนักลงทุนในตลาดในภูมิภาคหลายแห่ง และแสดงให้เห็นว่านักลงทุนดำเนินการอย่างระมัดระวังและเลี่ยงความเสี่ยงโดยให้การสนับสนุนบริษัทที่เติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเติบโตขึ้นจากภาวะโรคระบาด เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่สูงขึ้นในภูมิภาคอาเซียน นักลงทุนจึงเชื่อมั่นและทุ่มเงินทุนให้บริษัทฟินเทคขั้นปลายในหมวดหมู่การชำระเงินมากที่สุด

คุณเจเน็ต ยัง Head of Group Channels and Digitalisation กลุ่มธนาคารยูโอบี กล่าวว่า “การระดมเงินลงทุนในอุตสาหกรรมฟินเทคในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวกลับและทำสถิติสูงสุดที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หากมองผ่านการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งครั้งนี้ เราคิดว่าปัจจัยที่บริษัทฟินเทคจะเติบโตอย่างยั่งยืนยังคงเป็นโอกาสในการสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งแบบ win-win-win ระหว่างธนาคารที่มีรากฐานมั่นคง บริษัทฟินเทค และแพลตฟอร์มในระบบนิเวศ รวมถึงการขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาค

“ธนาคารยูโอบีร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมฟินเทคมาอย่างยาวนานเพื่อสนับสนุนการเติบโตของพันธมิตร ด้วยเราเข้าใจถึงวัฒนธรรม ธุรกิจ และกฎหมายต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนอย่างลึกซึ้ง และเชื่อมต่อพันธมิตรต่างๆ เข้ากับระบบนิเวศระดับภูมิภาคของธนาคาร ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดนี้ยังช่วยให้เราดึงศักยภาพอันเป็นเอกลักษณ์และจุดแข็งของพันธมิตรแต่ละรายออกมาเพื่อพัฒนาโซลูชันด้านการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ด้านดิจิทัลแบบไร้รอยต่อในโลกที่พัฒนาไปสู่ช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น”

การระดมทุนในบริษัทฟินเทคจากประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 60

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ประเทศไทยได้รับเงินระดมทุนในฟินเทคมูลค่า 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปี ซึ่งรวมถึงบริษัทแอสเซนด์ มันนี่ ที่สามารถระดมทุนด้วยมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ขยับขึ้นเป็นฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทย 

บริษัทฟินเทคจากสิงคโปร์ยังคงดึงดูดเงินทุนได้มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยบรรลุข้อตกลงได้เกือบครึ่ง (ร้อยละ 49) จากทั้งหมด 167 ข้อตกลง รวมเป็นเงินทุนมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงการระดมทุนระดับเมกะที่มีมูลค่ารวม 972 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อินโดนีเซียยังคงครองอันดับสองในปีนี้ โดยระดมทุนได้สูงถึง 904 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 26) ตามด้วยเวียดนามซึ่งทำผลงานได้ดีมาก ระดมทุนได้ถึง 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 11) จากรอบการระดมทุนระดับเมกะ 2 ข้อตกลง บริษัทฟินเทคในสิงคโปร์และอินโดนีเซียระดมเงินทุนได้จากเกือบทุกหมวดหมู่[3] ซึ่งชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมที่สดใสและกำลังเติบโตพร้อมเม็ดเงินลงทุนที่ต่อเนื่อง     

มร. ซาดับ ไทยาบิ นายกสมาคมฟินเทคแห่งสิงคโปร์ (SFA) กล่าวว่า “เรามั่นใจมากว่าอุตสาหกรรมฟินเทคทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีอนาคตที่สดใสและเติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งของการระดมทุนในปีนี้ ปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การพลิกฟื้นนี้คือภาวะโรคระบาด ซึ่งมีส่วนเร่งให้ผู้บริโภคปรับตัวหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้นทั้งในสิงคโปร์และทั่วภูมิภาค ผลักดันให้การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเติบโต และเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่องทางดิจิทัลภายในภาคบริการทางการเงิน  

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สิงคโปร์ เราได้เห็นการระดมทุนจำนวนมาก โดยได้รับแรงสนับสนุนจากจำนวนบริษัทฟินเทคที่ต้องการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ที่นี่ที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านการกำกับดูแล โอกาสสำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาค และระบบนิเวศของนักลงทุนที่มุ่งเน้นบริษัทสตาร์ทอัพ สมาคมฟินเทคแห่งสิงคโปร์ยังคงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมฟินเทค เพื่อเสริมสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้านความร่วมมือ การเชื่อมต่อ และการสร้างสรรค์ร่วมกันให้บริษัท”

เงินทุนในบริษัทเทคโนโลยีการลงทุนและคริปโทเคอร์เรนซีมีอัตราการเติบโตสูงสุด

เงินทุนที่อัดฉีดเข้าสู่บริษัทฟินเทคด้านการลงทุนและคริปโทเคอร์เรนซีในภูมิภาคอาเซียนเติบโตสูงสุดในปีนี้ ทำให้ทั้งสองหมวด หมู่ไต่ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ตามหลังฟินเทคด้านการชำระเงิน และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ฟินเทคด้านสินเชื่อทางเลือกหลุดจากตำแหน่ง 3 อันดับแรกของการระดมเงินทุน เนื่องจากความสนใจของผู้บริโภคในด้านการลงทุนช่องทางดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น

หากเปรียบกับปี 2563 การระดมทุนในบริษัทเทคโนโลยีการลงทุนเพิ่มขึ้น 6 เท่า มีมูลค่าถึง 457 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ สอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภคในการใช้เครื่องมือเทรดและการบริหารความมั่งคั่งผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น รายงาน[1] ที่จัดทำขึ้นโดย UOB, PwC และ SFA ระบุว่าผู้บริโภค 6 ใน 10 คนในภูมิภาคอาเซียนเคยใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น  Robo-adviser และแพลตฟอร์มโบรกเกอร์ออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการลงทุน

การระดมเงินทุนสำหรับฟินเทคด้านคริปโทเคอร์เรนซีขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ด้วยมูลค่ารวม 356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดึงดูดเงินทุนได้มากกว่าปี 2563 ถึง 5 เท่า จากการที่ผู้บริโภค 9 ใน 10 คนในภูมิภาคอาเซียนระบุว่าเคยเริ่มหรือมีแผนที่จะใช้คริปโทเคอร์เรนซีและสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง[1] จึงคาดว่าสัดส่วนของบริษัทคริปโทเคอร์เรนซีในภูมิภาคจะเติบโตขึ้น ในขณะที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมหันมาใช้ประโยชน์จากความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นนี้

บริษัทฟินเทคที่ระดมทุนได้สูงสุดในอาเซียนในปีนี้ยังคงเป็นด้านการชำระเงิน มีมูลค่ารวม 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฟินเทคด้านการชำระเงินยังเป็นหมวดหมู่ที่มีจำนวนบริษัทฟินเทคมากที่สุดในประเทศส่วนใหญ่ ยกเว้นในสิงคโปร์ และไทย การระดมเงินทุนในบริษัทเหล่านี้จะช่วยเร่งให้ผู้บริโภคหันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิตและเดบิต และแอปพลิเคชันธนาคารออนไลน์มากขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นวิธีการชำระเงินที่ผู้บริโภคในอาเซียนนิยมใช้มากที่สุด ตามหลังเงินสด

สำหรับประเทศไทย มีจำนวนบริษัทฟินเทคด้านสินเชื่อทางเลือก (alternative lending) สูงสุดที่ร้อยละ 21 จากบริษัทฟินเทคทั้งหมดในประเทศ ตามมาด้วยฟินเทคด้านการชำระเงิน ที่ร้อยละ 20 และฟินเทคด้านคริปโทเคอร์เรนซี ที่ร้อยละ 20

คุณ วังยี วอง FinTech Leader, PwC Singapore กล่าวว่า “บริษัทที่เปิดรับเทคโนโลยีทางการเงินกำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของตลาด ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าผู้บริโภคในอาเซียนได้เปิดรับโซลูชันฟินเทคและสัมผัสประสบการณ์ดิจิทัลที่หลากหลาย และพร้อมมุ่งสู่อนาคตแห่งโลกดิจิทัล ดูได้จากการที่การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลกลายเป็นเรื่องปกติ และผู้บริโภคให้ความสนใจหมวดหมู่อื่นๆ ของฟินเทคอย่างมาก เช่น เทคโนโลยีบริหารความมั่งคั่ง (wealthtech) และสินทรัพย์คริปโต ตอนนี้ไม่ใช่เวลามาถามว่าฟินเทคจะปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจหรือไม่ แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องถามว่า บริษัทจะปรับใช้และตอกย้ำยุทธศาสตร์ที่ยึดฟินเทคเป็นศูนย์กลาง และในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการผนวกรวม ความเชื่อใจ ความโปร่งใส และสำนึกความรับผิดชอบเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้อย่างไร”  


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดฉาก SEABW 2025 เจาะลึกมุมมองจากผู้นำวงการ จับตาอนาคตบล็อกเชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Southeast Asia Blockchain Week (SEABW) เตรียมกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ตอกย้ำบทบาทในฐานะงานประชุมด้านบล็อกเชนและ Web3 ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาค...

Responsive image

SEA Bridge และ CCG จับมือพัฒนาธุรกิจอีสปอร์ต มุ่งสร้างโอกาสและขยายตลาดสู่เวทีโลก

ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทย ไม่เพียงแต่เป็นผู้เล่นในตลาดโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาธุรกิจ นวัตกรรม เพื่อสร้างผู้ประกอบการธุรกิจ...

Responsive image

Makro Pro ขึ้นแท่นแพลตฟอร์ม Grocery E-Commerce อันดับ 1 ของไทย

กระแสการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้ประกอบการรายย่อยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ Makro Pro ก้าวขึ้นเป็นแพลตฟอร์ม Grocery E-Commerce อันดับ 1 ของประเทศไทย...