ทำความรู้จัก SOGIESC เครื่องมือที่จะให้เราเข้าใจสเปคตรัมแห่งความหลากหลายทางเพศ | Techsauce

ทำความรู้จัก SOGIESC เครื่องมือที่จะให้เราเข้าใจสเปคตรัมแห่งความหลากหลายทางเพศ

จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2552” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า เด็กและเยาวชนที่จัดอยู่ในกลุ่ม “LGBT” มักตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์

คุณกรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หน่วยงานไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเด็ก  และพันธมิตรของ ดีแทค Safe Internet ผู้ร่วมออกแบบบทเรียนออนไลน์ Gender Diversity Respect to Stop Cyberbullying บน ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ พื้นที่การเรียนรู้ที่สนับสนุนให้บุคลากรครู อาจารย์สามารถให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์ กล่าวว่า เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึง “ความแตกต่าง” คนที่มีความแตกต่างมักจะตกเป็น “เหยื่อ” เหมือนแกะดำในฝูงของแกะขาว ทั้งที่ในความเป็นจริง “ความแตกต่างหลากหลาย” เป็นธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตบนโลกมีจำนวนกว่า 8.7 ล้านสปีชี่ ขณะที่มนุษย์เองก็มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ชาติพันธุ์ สีผิว สีตา สีปาก เช่นเดียวกับ ความเป็นเพศก็มีความหลากหลาย

มนุษย์ถูกทำให้อยู่ในกรอบของความเป็นเพศตั้งแต่เด็ก ผ่านค่านิยมและธรรมเนียมทางเพศของสังคม ซึ่งมีเพียง 2 เพศตามเพศสรีระที่ระบุไว้ในสูติบัตร ซึ่งได้แก่ เพศชายและเพศหญิง แต่ในความเป็นจริง การสำนึกรู้ทางเพศอาจไม่ตรงกับเพศสรีระที่ตนเองมีก็ได้ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ “ธรรมชาติ”

SOGIESC คืออะไร

ในการทำงานเพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายทางเพศของมนุษย์ นักสิทธิมนุษยชนได้มีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “SOGIESC” ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วนดังนี้

  • Sexual Orientation: SO หรือ รสนิยมทางเพศ หมายถึง อารมณ์ ความรู้สึกเชิงชู้สาว และความดึงดูดทางเพศ ทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นปกติของความเป็นมนุษย์
  • Gender Identity: GI หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ความสำนึกรู้และการแสดงออกทางเพศภาวะเกี่ยวกับความเป็นเพศภาวะของตัวเองซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด
  • Gender expression: GE หรือ การแสดงออกทางเพศภาวะ ซึ่งอาจมาจากการสั่งสอนของครอบครัว เช่น ผู้ชายต้องแต่งกายสีเข้ม มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงควรไว้ผมยาว แต่งหน้า ท่วงท่าการเดิน ความอ่อนโยน
  • Sex Characteristic: SC หรือ เพศสรีระ หมายถึง ลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กําเนิดซึ่งถูกกําหนดให้เป็น 2 เพศ นั่นคือ เพศหญิง และเพศชาย

 “เพราะความหลากหลายเป็นเรื่องของธรรมชาติ หลายคนค้นพบว่าไม่ได้ชอบตรงตามเพศกำเนิดตั้งแต่เด็ก อาจรู้สึกชอบเพศเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาความปรารถนาของตัวเองในฐานะมนุษย์หรือเด็กเยาวชนคนหนึ่ง หรือในผู้ใหญ่เองก็ตาม มนุษย์หลายคนค้นพบว่าตัวเองชอบเพศเดียวกันเมื่อโตขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการพัฒนาทั้งทางร่างกายและการเรียนรู้ในสังคม สอดคล้องกับแนวคิดที่เรียกว่า “ความลื่นไหลทางเพศ” (Fluid sex) ซึ่งหมายถึง การไม่มีนิยามความเป็นชาย เป็นหญิงตายตัว มนุษย์ไม่มีเพศตามตัวลื่นไหลไปเหมือนกับสายน้ำ สุดแล้วแต่ปัจเจกจะนิยามตัวเองในแต่ละบริบทของชีวิต” คุณกรองแก้ว อธิบาย

ทำอย่างไรเมื่อ “ค้นพบ” ตัวเอง

จะเห็นได้ว่า การสำนึกทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับกรอบหรือความคาดหวังของสังคมนั้น ไม่ได้เป็น “ความผิดปกติ” แต่ในหลายครั้ง  ความสำนึกรู้ทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม ทำให้เกิดความละอายแก่ใจ ความเกรงกลัวต่อศีลธรรม มโนธรรม รู้สึกถึงความขัดแย้งในใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ค้นพบ” ตัวเองแล้ว หลักสำคัญประการแรกคือ “การยอมรับตัวเอง” (Self-embracement) รักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น ชื่นชมความเป็นเพศที่เราเป็น ยิ่งเกิดการยอมรับในตัวเองได้เร็วเท่าไร ยิ่งช่วยหนุนศักยภาพของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคม

แต่หากต้องการเปิดเผยตัวเอง (Come out) ต่อพ่อแม่หรือคนรอบข้าง ควรประเมินและเข้าใจถึงกรอบคิดของพ่อแม่ต่อเพศวิถีเสียก่อน และที่สำคัญควรหา “พื้นที่” ในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ได้มีทักษะที่เอื้ออาทรเสมอไป ในส่วนบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรให้เด็กๆ ได้มีโอกาสในการ “เลือกใช้ชีวิต” ของเขาเอง เลี้ยงดูให้เขามีความสุข ซึ่งเป็นเส้นทางของการนำไปสู่การประสบความสำเร็จในชีวิต

นอกจากนี้ “โรงเรียน” พื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก ควรออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทร เป็นมิตร ปลอดภัย ทุกคนเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจถึงแนวคิด “ความแตกต่างหลากหลาย” ที่เป็นธรรมดาของโลก ไม่ใช่ความผิดปกติ

“สำนึกทางเพศเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องส่วนบุคคล และไม่ใช่เรื่องที่ต้องอธิบายให้ทุกคนจำเป็นต้องรู้ คนในสังคมมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่ตีตรา ไม่ควรไปอยากรู้เรื่องสำนึกทางเพศของผู้อื่น เคารพซึ่งกันและกันโดยไม่เลือกปฏิบัติบนฐานของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่บรรทัดฐานของสังคม” คุณกรองแก้ว ทิ้งท้าย

รู้หรือไม่ ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่าง จากวิจัย “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขี้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก และเยาวชนที่โดนกลั่นแกล้งรังแกมากที่สุด คือ เยาวชนกลุ่ม LGBT ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.67 ดีแทค Safe Internet ขอเชิญชวนบุคลากรครู อาจารย์ ร่วมเรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นแนวทางในการให้คำแนะนำแก่เยาวชน ที่บทเรียนออนไลน์ Gender Diversity Respect to Stop Cyberbullying ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ หรือ http://learn.safeinternet.camp ในเดือน ต.ค. 63 ที่จะถึงนี้

ดีแทค Safe Internet มุ่งสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนและครอบครัวให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และสร้างสรรค์ ขอเชิญชวนทุกคนฝึกใจให้เห็นหัวใจ กับ พอดแคสต์  R U OK ตอน เพศหลากหลายกับการถูกบูลลี่ ที่ https://dtacblog.co/r-u-ok-safe-internet-ep-5/

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NocNoc แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเรื่องบ้านสัญชาติไทย หนึ่งเดียว ดัน SME ไทย โตไกลสู่ตลาดโลก

NocNoc แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยที่มุ่งเน้นสินค้าและบริการเกี่ยวกับบ้านครบวงจรในที่เดียว โดดเด่นในฐานะผู้นำด้าน Personalization Platform พร้อมขยายการให้บริการไปยังประเทศในอาเซ...

Responsive image

Vilja Solutions ผู้นำธนาคารคลาวด์นอร์ดิก บุกไทย ขยายสู่อาเซียน เตรียมขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัล

Vilja Solutions จากสวีเดน ได้เปิดตัวในกรุงเทพฯ ดึงความสนใจจากผู้บริหารธนาคารดิจิทัลไทยกว่า 70 ราย พร้อมรับการสนับสนุนจากภาครัฐไทยและสวีเดน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและการเข้าถ...

Responsive image

Whoscall เปิดตัวฟีเจอร์ Scam Alert เตือนภัยกลโกง ฟรีบนแอป

Whoscall ผนึก 11 ภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน เปิดตัวฟีเจอร์ Scam Alert ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพแห่งแรกในไทย ใช้ได้ฟรีบนแอปพลิเคชัน Whoscall...