การจัดการความเหลื่อมล้ำจากวิกฤต COVID-19 | Techsauce

การจัดการความเหลื่อมล้ำจากวิกฤต COVID-19

แม้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ยังเผชิญผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ประชาชนทุกภาคส่วนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เพศใด รวยหรือจนล้วนได้รับผลกระทบกันหมด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มคนจนและผู้ด้อยโอกาสมีความรุนแรงมากกว่า วิกฤตโควิด-19 จึงตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเรื้อรังของไทยให้มีความรุนแรงมากขึ้นในทุกมิติ 

ตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิด-19 หลายบริษัทได้ทำการปรับรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานในรูปแบบทางไกล แต่คนจนและกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะระดับต่ำหรือทักษะระดับกลางมักประกอบอาชีพในภาคธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องทำงาน ณ สถานประกอบการ เช่น ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอุตสาหกรรม หรือแม้ทำงานในธุรกิจที่สามารถทำงานทางไกลได้ แต่คนจนที่มีรายได้น้อยมักมีความไม่พร้อมด้านทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลหรือการขาดเครื่องมืออุปกรณ์ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการตกงานและรายได้ลดลงมากกว่ากลุ่มอื่น 

นอกจากได้รับผลกระทบแรงกว่าแล้ว คนจนและกลุ่มเปราะบางมักมีความสามารถในการรับมือกับการขาดรายได้น้อยกว่าคนกลุ่มอื่น กล่าวคือมีเงินออมสะสมน้อยกว่า มีความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบน้อยกว่า การเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐก็เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ทำให้คนจนและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจจะต้องขายสินทรัพย์ หรือก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น วิกฤตโควิดจึงได้เพิ่มความเสี่ยงให้คนที่จนอยู่แล้ว สินทรัพย์หดหาย รายได้ลดลง และทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้รุนแรงขึ้น 

นอกจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะสูงขึ้นแล้วความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็สูงขึ้นด้วย คนจนและกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่ขาดความสามารถในการเรียนทางไกล เนื่องจากขาดอุปกรณ์ ขาดอินเทอร์เน็ตที่ดี และสถานที่อาจไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียน[3] พ่อแม่ก็มักไม่พร้อมหรือไม่มีศักยภาพในการสอนหรือร่วมทำกิจกรรมกับลูกที่บ้าน และในบางกรณีที่พ่อแม่ขาดรายได้รุนแรง เด็กก็อาจต้องพักการเรียนเพื่อไปช่วยหารายได้อีกด้วย 

ผลกระทบทางด้านสุขภาพต่อคนจนก็มากกว่าคนรวย เนื่องจากอาการป่วยจากโรคโควิด-19 มักร้ายแรงสำหรับผู้ป่วยที่มีสุขภาพไม่ดี ซึ่งโดยปกติคนจนก็มักเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพและโภชนาการด้อยกว่าคนทั่วไป และจากการสำรวจยังพบว่าประชาชนระบุว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ทำได้ยากลำบากมากขึ้น ซึ่งคนที่มีทรัพยากรเพียงพอนั้นมีทางเลือกอื่นที่สามารถทดแทนการไปหาแพทย์ได้ในขณะที่คนจนนั้นทำไม่ได้ โดยรวมแล้วโควิด-19 จึงทำให้ช่องว่างความแตกต่างในทุนมนุษย์ห่างกันมากขึ้น 

ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นอาจไม่หายไปหรือกระทั่งเพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19  กล่าวคือ วิกฤตครั้งนี้ขยายช่องว่างความแตกต่างในทุนมนุษย์และทุนกายภาพระหว่างคนจนและคนรวย และอาจส่งผลให้ระดับการผูกขาดในตลาดสูงขึ้นเนื่องจากการสูญหายของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในช่วงการระบาด ตลอดจนเพิ่มระดับความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองทรัพย์สินให้สูงขึ้นอันมาจากผลพวงของการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและโครงสร้างอำนาจทางการเมืองอีกทอดหนึ่ง 

อย่างไรก็ตามวิกฤตครั้งนี้ได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้หันมามองเห็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำและได้มีประสบการณ์ตรงกับระบบสวัสดิการของรัฐ ซึ่งอาจทำให้ทัศนคติของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เอื้อต่อการผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ดังนั้นวิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสที่ดีในการลงมือผ่าตัดโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่และปัญหาเรื้อรังที่มีอยู่แล้วในคราวเดียว เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวและการเติบโตอย่างทั่วถึงในระยะยาว 

เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ รัฐบาลควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนในสังคมมีโอกาสอย่างเท่าเทียม และมีการกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) โดยนโยบายที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้แก่

  1. ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพที่ดี ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับบริการการรักษาที่มีคุณภาพ หนึ่งทางเลือกคือการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้แพทย์สามารถทำการรักษาโรคแบบทางไกลได้ (telemedicine) พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ทางสุขภาพให้ประชาชนฐานราก และพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐ
  2. ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา พัฒนาคุณภาพบุคลากรครูอาจารย์และการเรียนการสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในชนบทและที่ห่างไกล นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนทางไกล ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่หรือพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันกับโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล  
  3. พัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม จากวิกฤตที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากยังมีการตกหล่นจากความช่วยเหลือจากรัฐ นอกจากนั้นระบบการคุ้มครองทางสังคมยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างดี ฉะนั้นภาครัฐควรเร่งพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมให้สามารถคุ้มครองประชาชนได้อย่างถ้วนหน้า ให้ความช่วยเหลืออย่างทันถ่วงทีและเพียงพอ
  4. ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยสร้างกลไกจัดการความเสี่ยงเพื่อทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กและกลางสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในยามวิกฤตได้ ออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับรายย่อยโดยอาศัยเทคโนโลยีที่กำลังเติบโต เช่น การนำ FinTech มาช่วยลดความอสมมาตรทางข้อมูล (asymmetric information) ระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ประกอบการ SMEs หรือ การสนับสนุนโครงสร้าง Microfinance ให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งจะเสริมการเข้าถึงสินเชื่อการประกอบการในอนาคต สร้างโอกาสสำหรับคนรายได้น้อยในการเป็นผู้ประกอบการ 
  5. ปรับปรุงระบบภาษีให้สามารถกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาตรการทางภาษีเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการกระจายรายได้ แต่ในปัจจุบันยังมีช่องโหว่ในระบบให้คนรวยจำนวนมากไม่ต้องเสียเงินได้หลายประเภท รัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ ตลอดจนทบทวนมาตรการลดหย่อนภาษีที่เอื้อกับผู้มีรายได้สูง และพัฒนาการจัดเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สินให้มีความเหมาะสม
  6. ปรับปรุงปัจจัยเชิงสถาบัน ลดการผูกขาดของทุนใหญ่ในตลาดโดยการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง กระจายอำนาจการคลังและการเมืองสู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้สื่อและภาคประชาชน รวมถึงปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อกำจัดปัญหาคอร์รัปชันและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประชาธิปไตย อันนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่มีการคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มในสังคม

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงาน economic and social monitor เพื่อการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมโดยใช้ข้อมูลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...