Huawei เตรียมเปิดตัวระบบ Ecosystem คุนเผิง และจัดแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยี 5G ล่าสุด ที่งาน Asia-Pacific Innovation Day ณ เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ในเดือนกันยายนนี้
งาน Asia-Pacific Innovation Day ปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 3 กันยายน ที่เมืองเฉิงตู โดยจะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัยในเชิงสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิเช่น 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงวิธีที่เทคโนโลยีจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน
ในการพัฒนา Ecosystem เต็มอุตสาหกรรมของคุนเผิง หัวเว่ยวางแผนที่จะทุ่มงบ 3 พันล้านหยวนภายในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างชุมชนเครือข่ายออนไลน์ คุนเผิง ซึ่งให้บริการไลบรารี คอมไพเลอร์ ทูลเชน และระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์สที่ช่วยเรื่องแอ็กเซลเลอเรชัน (Acceleration)
เพื่อช่วยให้พันธมิตรและนักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเข้าถึงบริการจากระบบปฏิบัติการ คอมไพเลอร์ รวมถึงการพอร์ตและการอ็อปติไมซ์การใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถสร้างสรรค์ เผยแพร่ และประสบความสำเร็จในยุคแห่งการประมวลผลแบบใหม่
ภายในงาน ผู้เชี่ยวชาญ นักพัฒนา นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ จะมาร่วมพุดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อ การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้น
มร. วินเซนต์ ผาง รองประธานอาวุโสและประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรของหัวเว่ย กล่าวว่า "หัวเว่ยได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบแทนคืนสู่โลกที่เราดำเนินธุรกิจมา 30 ปี วิสัยทัศน์ของเรา คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อผู้คนและสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อหลอมรวมเป็นพลังสมองอันไร้ขีดจำกัด
เราจะได้พร้อมสำหรับความท้าทายที่โลกและมนุษยชาติต้องเผชิญ ภารกิจของหัวเว่ยรวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ปูชนียสถานและมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยหวังจะธำรงรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ให้แก่คนรุ่นหลัง"
เทคโนโลยีไร้สาย 5G จะช่วยให้การเชื่อมต่อที่รวดเร็วและทรงพลังในระดับกิกะบิต GSMA หน่วยงานล็อบบี้ด้านโทรคมนาคม ได้คาดการณ์ไว้ว่า ร้อยละ 15 ของการเชื่อมต่อไร้สายทั่วโลกจะเป็น 5G ภายในปี 2568 โดยเอเชีย-แปซิฟิกจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีการใช้งาน 5G มากที่สุด
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเล็งเห็นถึงศักยภาพของการเชื่อมต่อ 5G เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ต่างจับมือกับหัวเว่ยเพื่อพัฒนาเครือข่าย 5G กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งล้วนเป็นประเทศในสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้ประกาศความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับหัวเว่ยเพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสารไร้สาย 5G ในประเทศของตน
ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย หัวเว่ยได้สร้างสนามทดสอบเครือข่าย 5G (5G Testbed) ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศมาเลเซีย หัวเว่ยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่อย่าง แม็กซิสและอีด็อตโก เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยี 5G และในประเทศเวียดนาม หัวเว่ยก็ได้ร่วมทดสอบ 5G กับผู้ให้บริการเครือข่ายในท้องถิ่นแล้ว
ในเดือนมิถุนายน บริษัท โกลบ เทเลคอม ของฟิลิปปินส์เปิดตัวบริการบรอดแบรนด์ 5G เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ย มร. เจค ซอนเดอส์ รองประธานด้านบริการให้คำปรึกษาในเอเชีย-แปซิฟิก ของเอบีไอ รีเสิร์ช (ABI Research) กล่าวว่า
เทคโนโลยีของหัวเว่ยนั้นถือว่าล้ำสมัยสุดๆ แล้ว พวกเขาคอยคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และแข่งขันด้วยราคา สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมหัวเว่ยจึงเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นมากๆ
ปัจจุบัน หัวเว่ยได้สัญญา 5G เชิงพาณิชย์แล้ว 50 ฉบับ และส่งออกสถานีฐาน 5G ไปแล้วกว่า 150,000 สถานีให้แก่ลูกค้าทั่วโลก
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด