ไอบีเอ็มเปิดตัว IBM Q System One™ ระบบควอนตัมคอมพิวเตอร์ครบวงจรเครื่องแรกของโลก ที่ออกแบบเพื่อการใช้งานเชิงวิทยาศาสตร์และพาณิชย์ พร้อมเผยแผนเปิดศูนย์ IBM Q Quantum Computation Center สำหรับลูกค้าองค์กรที่เมืองโพห์คีพซีย์ นิวยอร์ค ในปีนี้
ระบบ IBM Q ได้รับการพัฒนาให้สามารถแก้ปัญหาบางอย่างที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินกว่าที่คอมพิวเตอร์แบบเดิมจะรับมือได้ ศักยภาพของควอนตัมคอมพิวติ้งอาจนำไปสู่การค้นพบโมเดลข้อมูลทางการเงินใหม่ๆ ที่ช่วยลดปัจจัยความเสี่ยงสำคัญๆ ของโลกและนำไปสู่รูปแบบการลงทุนที่ดีขึ้น หรือการค้นพบแนวทางการจัดการระบบโลจิสติกส์และระบบติดตามการขนส่งระดับโลกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ระบบ IBM Q ได้รับการออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรระบบของไอบีเอ็ม โดยเป็นระบบโมดูลาที่กะทัดรัด มีเสถียรภาพสูง เชื่อถือได้ และออกแบบมาเพื่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ IBM Q System One ถือเป็นระบบควอนตัมคอมพิวติงแบบตัวนำยิ่งยวดครบวงจรเครื่องแรกที่สามารถใช้งานได้จริงนอกห้องแล็บ พร้อมคอมโพเนนท์ต่างๆ เพื่อรองรับโปรแกรมควอนตัมคอมพิวติ้งผ่านคลาวด์ที่ก้าวล้ำ อาทิ ฮาร์ดแวร์ควอนตัมที่มีเสถียรภาพและสามารถปรับค่าได้อัตโนมัติเพื่อสร้างคิวบิทคุณภาพสูงที่คาดการณ์และเกิดซ้ำได้ ระบบวิศวกรรมการผลิตภายใต้ความเย็นเยือกแข็งที่ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมควอนตัมที่แยกตัวลำพังและเย็นต่อเนื่อง ระบบไฟฟ้าความแม่นยำสูงที่มีขนาดกะทัดรัด เพื่อให้สามารถควบคุมคิวบิทจำนวนมากได้ เฟิร์มแวร์ควอนตัมที่บริหารจัดการประสิทธิภาพของระบบและช่วยให้สามารถอัพเกรดระบบโดยไม่ก่อให้เกิดดาวน์ไทม์แก่ผู้ใช้ ระบบคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมเพื่อการเข้าสู่ระบบคลาวด์ที่ปลอดภัยและการดำเนินการแบบไฮบริดของอัลกอริธึมควอนตัม
ศูนย์คอมพิวเตอร์ IBM Q Quantum ที่จะเปิดในปีนี้ที่โพห์คีพซีย์ นิวยอร์ค จะต่อยอดโปรแกรมควอนตัมคอมพิวติง IBM Q Network เชิงพาณิชย์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันที่ศูนย์วิจัยธอมัส เจ. วัตสัน ที่ยอร์คทาวน์ นิวยอร์ค โดยศูนย์ใหม่แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของระบบควอนตัมคอมพิวติงผ่านคลาวด์ที่ก้าวล้ำที่สุดในโลก ที่จะเปิดให้กลุ่มสมาชิกของ IBM Q Network อันประกอบด้วยกลุ่มบริษัท Fortune 500 สตาร์ทอัพ สถาบันการศึกษา และศูนย์วิจัยแห่งชาติต่างๆ ให้สามารถร่วมมือกับไอบีเอ็มในการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติงเพื่อการใช้งานในเชิงธุรกิจและวิทยาศาสตร์ต่อไป
“IBM Q System One เป็นก้าวย่างสำคัญของการเปิดใช้งานควอนตัมคอมพิวติงในเชิงพาณิชย์” นายอาร์วินด์ กฤษณะ รองประธานอาวุโสของไฮบริดคลาวด์และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม กล่าว “ระบบใหม่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายควอนตัมคอมพิวติงสู่การใช้งานในวงกว้างนอกศูนย์วิจัย เพื่อให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายทั้งในมุมธุรกิจและวิทยาศาสตร์ต่อไป”
นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรระบบจากไอบีเอ็มได้ร่วมกับทีมนักออกแบบอุตสาหกรรม สถาปนิก และผู้ผลิตระดับโลก อาทิ สตูดิโอ Map Project Office และ Universal Design ที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอุตสาหกรรมและตกแต่งภายใน รวมถึง Goppion ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์จัดแสดงระดับไฮเอนด์ให้กับชิ้นงานศิลปะทรงคุณค่าระดับโลก อาทิ ผลงานโมนาลิซาที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ทาวเวอร์อ็อฟลอนดอน ในการออกแบบเคสสูงเก้าฟุต กว้างเก้านิ้วครึ่ง ที่ทำจากกระจกบอโรซิลิเกตหนาครึ่งนิ้วที่ปิดสนิทและอากาศเข้าไม่ได้ รวมถึงเฟรมอลูมิเนียมและโลหะ ระบบควบคุมความเย็น และระบบควบคุมไฟฟ้า เพื่อบรรจุชิ้นส่วนหลายพันชิ้นของระบบควอนตัมเครื่องแรก และคงคุณภาพของคิวบิทที่ใช้ในการประมวลผลควอนตัม
แม้คิวบิทจะมีศักยภาพสูงแต่สามารถสูญเสียคุณสมบัติได้อย่างง่ายดายภายใน 100 ไมโครวินาที จากแรงสั่นของเสียงรบกวน การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การป้องกันระบบจากสิ่งรบกวนเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมอย่างระมัดระวัง
ที่ผ่านมาไอบีเอ็มได้เปิดให้ใช้ IBM Q ฟรีตั้งแต่ปี 2559 ผ่าน IBM Q Experience ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 100,000 ราย และมีการทดลองใช้งานในรูปแบบต่างๆ แล้วมากกว่า 6.7 ล้านรายการ โดยมีผลงานวิจัยออกมาแล้วกว่า 130 ชิ้น และมีนักพัฒนาที่ดาวน์โหลดชุดพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส Qiskit เพื่อนำไปสร้างและรันโปรแกรมควอนตัมคอมพิวติงแล้วมากกว่า 140,000 ครั้ง โดยมีหน่วยงานที่พึ่งเข้าร่วม IBM Q Network เมื่อไม่นานมานี้ อาทิ ศูนย์วิจัยแห่งชาติอาร์กอนน์, เซิร์น, เอ็กซอนโมบิล, เฟอร์มิแล็บ และศูนย์วิจัยแห่งชาติลอว์เรนซ์เบิร์คลีย์
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด