'สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์' ผู้ให้บริการวิทยุการบินเพียงผู้เดียวในกัมพูชา เตรียมไอพีโอเข้า SET | Techsauce

'สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์' ผู้ให้บริการวิทยุการบินเพียงผู้เดียวในกัมพูชา เตรียมไอพีโอเข้า SET

บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศเพียงรายเดียวในประเทศกัมพูชา เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)  รองรับเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวกัมพูชาและอาเซียนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 นายวัฒน์ชัย  วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART) กล่าวว่ากลุ่ม SAMART ดำเนินธุรกิจหลายประเภทซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่สำคัญในกลุ่ม New S-Curve อาทิ ธุรกิจ ICT Solution & Service และธุรกิจด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ที่อยู่ในสายธุรกิจ U-TRANS ที่รวมถึงธุรกิจด้านการบินที่มีการเติบโตสูง โดยมี บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เป็นบริษัทในกลุ่มที่ SAMART ถือหุ้นจำนวน 100% ผ่านทางบริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด และ บริษัท สามารถ อินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด โดย SAV เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจด้านการจราจรทางอากาศ และ มีรายได้หลักจากการให้บริการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ (Air Navigation Service Provider: ANSP) ในน่านฟ้าประเทศกัมพูชาผ่าน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นบริษัทที่ SAV ถือหุ้น 100% ซึ่งกลุ่มสามารถมีแผนที่จะนำ

บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้กลุ่มสามารถ

นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV กล่าวเสริมว่า SAV ถือหุ้น 100% ใน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้สิทธิในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมเส้นทางบินทั้งหมดของน่านฟ้าประเทศกัมพูชา โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชา ระยะเวลารวม 39 ปี (2545-2584) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชามีสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ สนามบินนานาชาติสีหนุ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบิน สตึงเตรง

CATS มีรายได้หลักจากบริการควบคุมการจรารจรทางอากาศ โดยแบ่งตามประเภทเที่ยวบินได้  3 ประเภท ได้แก่ 

1. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing &Take-off : International) เป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 37 - 44%  

2. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงภายในประเทศ (Landing & Take-off : Domestic) เป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 4-5% และ 

3. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight) เป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 50% ของรายได้รวม 

SAV มีผลการดำเนินงานที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศกัมพูชาและภูมิภาคอาเซียน โดยมีรายได้จากจำนวนเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่บินขึ้น-ลง ในกัมพูชา ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และจำนวนเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ โดยมีจำนวนเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9.5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 SAV มีรายได้รวม 1,556 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 1,440 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561) และมีกำไรสุทธิจำนวน 389 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 208 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561) เติบโตขึ้น 87% ส่วนในปี 2561 SAV มีรายได้รวมจำนวน 1,947 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ 253 ล้านบาท โดย SAV สามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในระดับประมาณ 50% และอัตรากำไรสุทธิที่ 25% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2562

นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ. หลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาทางการเงินของ SAV กล่าวว่า SAV ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญไม่เกิน 224,000,000 หุ้นประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 64,000,000 หุ้น หรือไม่เกิน 10% ของทุนจดทะเบียนภายหลังการเสนอขายหุ้น และหุ้นสามัญเดิมซึ่งรวมถึงหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายและหุ้นสามัญเดิมที่จัดสรรเป็นหุ้นส่วนเกินรวมไม่เกิน 160,000,000 หุ้น (คิดเป็นไม่เกิน 25% ของทุนจดทะเบียน ภายหลังการเสนอขายหุ้น) โดยมูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท และเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมธนาคาร 

“หุ้นไอพีโอของ SAV คาดว่าจะเป็นที่สนใจของนักลงทุน สืบเนื่องจากปัจจัยด้านการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวรวมถึงปริมาณการจราจรทางอากาศของทั้งกัมพูชาและภูมิภาคกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจให้บริการด้านการบินในกัมพูชาของ CATS นั้นถือว่าไม่มีคู่แข่งทางธุรกิจ อีกทั้งยังมีความมั่นคงทางรายได้สูงตามจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความสามารถในการทำกำไรในอัตราที่สูงมาโดยตลอด ทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง โดยในการดำเนินธุรกิจนั้น SAV และ CATS มีคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในธุรกิจการบริหารจราจรทางอากาศมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ SAV มีนโยบาย การจ่ายเงินปันผลสูงถึง 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเมื่อบวกกับความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งแล้ว เชื่อว่า SAV จะเป็นหุ้นที่น่าสนใจสำหรับ นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนในระยะยาวอย่างแน่นอน”

บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 288,000,000 บาท มีหุ้นสามัญจำนวน 576,000,000 หุ้น โดยมูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น ปัจจุบันถือหุ้น 100% โดยกลุ่มสามารถ โดย บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด ในอัตรา 66.67% และ โดย บริษัท สามารถ อินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ในอัตรา 33.33% 

SAV เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในประเทศกัมพูชา ด้านการควบคุมการจราจรทางอากาศในน่านฟ้ากัมพูชา และครอบคลุมทุกสนามบินในประเทศกัมพูชา โดยได้รับสัมปทานการควบคุมการจราจรทางอากาศแต่เพียงรายเดียว จากรัฐบาลกัมพูชา ระยะเวลารวม 39 ปี (2545-2584) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชามีสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ สนามบินนานาชาติสีหนุ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...