iReseach เผยแนวโน้มธุรกิจ Cashless Payment จีนช่วง COVID-19 ชี้ Alipay ครองตลาด | Techsauce

iReseach เผยแนวโน้มธุรกิจ Cashless Payment จีนช่วง COVID-19 ชี้ Alipay ครองตลาด

iResearch ผู้นำด้านข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภคและการตรวจวัดกลุ่มเป้าหมายทางออนไลน์ในจีน เผยรายงานข้อมูลตลาดบริการชำระเงินผ่านมือถือในไตรมาสแรกของปี 2563 โดยสามารถดูรายงานฉบับสมบูรณ์ที่เป็นภาษาจีนได้ที่นี่: https://www.iresearch.com.cn/Detail/report?id=3601&isfree=0

ประเด็นสำคัญ:

1. อาลีเพย์ (Alipay) รั้งตำแหน่งผู้นำตลาดบริการชำระเงินผ่านมือถือ (Mobile Payment) ในจีน โดยครองส่วนแบ่งตลาด 55.4% ตามมาด้วยอันดับที่สอง Tenpay ซึ่งครองส่วนแบ่ง 38.8% (Tenpay = WeChat Pay ของ Tencent + QQ Wallet)  รายงานก่อนหน้านี้ของ iResearch ชี้ว่าอาลีเพย์มีส่วนแบ่งตลาดโมบายล์เพย์เมนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 (หมายเหตุ: รายงานก่อนหน้านี้ของ iResearch สามารถดูได้จากที่นี่ (เป็นภาษาจีนเท่านั้น) ไตรมาส 1 ปี 2562, ไตรมาส 2 ปี 2562, ไตรมาส 3 ปี 2562, ไตรมาส 4 ปี 2562, ไตรมาส 1 ปี 2563)

2.  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านมือถือทั้งหมดในจีนลดลงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยอยู่ที่ 53.2 ล้านล้านหยวน (หรือ 235 ล้านล้านบาท) ลดลง 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว  ทั้งนี้ iResearch คาดการณ์ว่ายอดธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

3.  iResearch ชี้ว่า ในประเทศจีน โอกาสการเติบโตในอนาคตขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ให้บริการชำระเงินในการนำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจรสำหรับ “การชำระเงิน + เทคโนโลยี” ให้แก่ลูกค้าแทนที่จะแข่งขันกันเฉพาะในส่วนของยอดชำระเงิน

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาลีเพย์ได้ประกาศแผนดำเนินงาน 3 ปี สำหรับการสนับสนุนโครงการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ของผู้ให้บริการ 40 ล้านรายในจีน โดยจะจัดหาแพลตฟอร์มบริการด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร รวมถึงแอพที่จะช่วยให้ผู้บริโภคค้นหาผู้ให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว

จากการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับส่วนแบ่งตลาดโมบายล์เพย์เมนต์ผ่านทาง LinkedIn อาลีเพย์กล่าวว่า “บริการชำระเงินไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย (End game) แต่เป็นจุดเริ่มต้นของบริการที่หลากหลายที่จะช่วยเติมเต็มการใช้ชีวิตประจำวันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นสำหรับธุรกิจบริการ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ แทนที่จะโฟกัสแค่เรื่องส่วนแบ่งตลาดบริการชำระเงิน”  ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าโมเดลธุรกิจของอาลีเพย์มีการพัฒนาต่อยอดจากการจัดหาโซลูชั่นการชำระเงิน ไปสู่การนำเสนอชุดเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจร รวมถึงระบบชำระเงินแก่ผู้ให้บริการ

ข้อมูลและสถิติการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของอาลีเพย์

•    คูปองดิจิทัล: ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป อาลีเพย์จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ให้บริการสำหรับการแจกคูปองดิจิทัลมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านหยวน หรือ 44,500 ล้านบาท แก่ประชาชนทั่วประเทศ  ด้วยระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ธุรกิจรายย่อยและพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปจะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคูปองดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย และดึงดูดผู้บริโภคที่ใช้มือถือเป็นประจำ โดยคูปองดิจิทัลที่มีมูลค่าน้อยที่สุดให้ส่วนลด 20% สำหรับยอดใช้จ่ายขั้นต่ำ 10 หยวน (45 บาท) โครงการนี้เริ่มเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 1 ล้านรายจนถึงวันที่ 22 มิถุนายน

•    มินิโปรแกรมของอาลีเพย์: ในปัจจุบัน มีมินิโปรแกรมกว่า 2 ล้านโปรแกรมบนแพลตฟอร์มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของอาลีเพย์ ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 600 ล้านคนต่อเดือน  จำนวนมินิโปรแกรมของอาลีเพย์สร้างขึ้นโดยผู้ให้บริการด้านการศึกษา การฝึกอบรม โรงแรม ท่องเที่ยว และสุขภาพ มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด  ทั้งนี้ ผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์สไตล์ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทจัดการสินทรัพย์ และบริษัทประกัน

•    จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ผู้บริหารสถานที่ท่องเที่ยวราว 1,000 แห่งได้ใช้ชุดโซลูชั่นดิจิทัลแบบครบวงจรของอาลีเพย์เพื่อจัดตั้งสำนักงานสาขาดิจิทัลบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้ง “ก่อน” “ระหว่าง” และ “หลัง” การเดินทาง เช่น การจองตั๋วและโรงแรมผ่านระบบออนไลน์แบบ contactless การแจกคูปองดิจิทัล การให้คำแนะนำผ่านระบบเสียง การชำระเงินผ่านมือถือ และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว  มินิโปรแกรมของอาลีเพย์ช่วยให้ผู้บริหารสถานที่ท่องเที่ยวสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และมอบประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว

•    โรงแรมกว่า 25,000 แห่งเปิดหน้าร้านเสมือนจริงบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ เพื่อนำเสนอบริการแบบครบวงจรสำหรับผู้ใช้ ทั้งในส่วนของการจองห้องพัก การเช็คอิน การเรียกเก็บเงิน การคมนาคมขนส่ง บริการอาหารและเครื่องดื่ม  โรงแรมกว่า 25,000 แห่งแจกบัตรสมาชิกบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ โดยในช่วงสองสัปดาห์จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน จำนวนสมาชิกของเครือโรงแรมขนาดใหญ่ 26 แห่งเพิ่มขึ้น 361% และสมาชิกเหล่านี้มียอดใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของทางโรงแรม  ตัวอย่างเช่น BTG Homeinns Hotels Group หนึ่งในเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในจีน มียอดสมาชิกใหม่ที่ได้รับผ่านทางอาลีเพย์รวม 1 ล้านราย ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

•    บริษัทรับสมัครงานรายสำคัญ 4 บริษัท ได้แก่ zhaopin.com, liepin.com, doumi.com และ qtshe.com ได้เปิดตัวมินิโปรแกรมบนแพลตฟอร์มอาลีเพย์ นำเสนอตำแหน่งงานจากกว่า 1,000 บริษัทในกว่า 600 กลุ่มอุตสาหกรรม  จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม จำนวนผู้ใช้ที่หางานบน   อาลีเพย์ในแต่ละวันเพิ่มขึ้น 10 เท่าในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน

•    หน่วยงานปกครองของเมืองต่างๆ กว่า 300 เมือง และเทศบาลกว่า 400 แห่งในจีน เปิดตัวมินิโปรแกรมบนระบบอาลีเพย์ เพื่อให้บริการสาธารณะผ่านช่องทางดิจิทัลแก่ประชาชน เช่น การเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย และการออกใบรับรอง โดยผู้ใช้สามารถใช้บริการได้อย่างง่ายดายเพียงแค่แตะหน้าจอโทรศัพท์ไม่กี่ครั้ง และไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่หน่วยงานโดยตรง

•    อาลีเพย์ร่วมมือกับสถาบันการเงินกว่า 700 แห่งในจีนและประเทศอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีของอาลีเพย์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเงินสำหรับพันธมิตร

  •  ในประเทศจีน อาลีเพย์สนับสนุนธนาคารกว่า 200 แห่งในส่วนของธุรกิจการชำระเงิน เทคโนโลยีด้านการเงิน ระบบธนาคารแบบเปิด มินิโปรแกรม และอื่นๆ  นอกจากนี้ อาลีเพย์ยังให้การสนับสนุนแก่บริษัทจัดการสินทรัพย์ บริษัทประกัน และเครดิตยูเนียนในพื้นที่ชนบท
  • ในประเทศอื่นๆ อาลีเพย์ร่วมมือกับสถาบันการเงินราว 250 แห่ง รวมถึงธนาคาร สมาคมบัตรธนาคาร และผู้ให้บริการอี-วอลเล็ท (E-wallet) เพื่อให้บริการด้านการเงินอย่างทั่วถึง เช่น การโอนเงินและการชำระเงินข้ามประเทศ

•    เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทั้งหมดในภาคธุรกิจบริการ การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึงธนาคารต่างๆ รีบเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัลกันอย่างกว้างขวาง โดยในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา จำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านโมบายล์แบงค์กิ้งและโมบายล์คอมพิวติ้งของ Ant Group เพิ่มขึ้นถึง 175% และในช่วงเวลาเดียวกัน การสอบถามข้อมูลจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีของ Ant Group มีจำนวนเพิ่มขึ้น 400%  นอกจากนั้น รายงานของ Forrester Research ระบุว่า 

เทคโนโลยี SOFAStack ของ Ant Group ช่วยให้ PICC Health และ MYbank ประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 100 ล้านหยวน หรือ 445 ล้านบาท ในเวลา 3 ปี  ทั้งนี้ Ant Group ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรสำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มากที่สุดในโลก 4 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และได้ปรับใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนของบริษัทฯ สำหรับโครงการต่างๆ กว่า 50 โครงการ โดยสามารถรองรับบัญชีผู้ใช้งานราว 1 พันล้านบัญชี ซึ่งทำธุรกรรมราว 1 พันล้านรายการต่อวัน  Ant Duo Chain ซึ่งเป็นโซลูชั่นด้านการเงินสำหรับซัพพลายเชนที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนของ Ant Group รองรับการใช้งานของบริษัทต่างๆ กว่า 30,000 บริษัท 

โดยช่วยเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่บริษัทเหล่านี้  เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 อาลีเพย์ประกาศจัดตั้งบริษัทอิสระเพื่อนำเสนอ OceanBase ซึ่งเป็นโซลูชั่นฐานข้อมูลแบบ distributed ที่สามารถพัฒนาตัวเองโดยผ่านการทดสอบการใช้งานจริงในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ที่ครอบคลุมทั่วโลก และถูกใช้งานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเพื่อยกระดับการดำเนินงานของลูกค้ารายสำคัญๆ ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NITMX เผยสถิติพร้อมเพย์ ปี 67 ยอดธุรกรรมโตแตะ 2,096 ล้านต่อเดือน ผู้ใช้พุ่งสูงถึง 79 ล้านราย

NITMX เผยข้อมูลสถิติการใช้งานระบบพร้อมเพย์ตลอดปี 2567 ซึ่งแสดงถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในด้านธุรกรรมดิจิทัลทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน ตอกย้ำบทบาทสำคัญในการผลักดันประเทศเข้าสู่ยุคสั...

Responsive image

มันนี่ทันเดอร์พลิกโฉมสินเชื่อไทย ด้วย AI ฝีมือคนไทย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

“อบาคัส ดิจิทัล” (ABACUS digital) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน "มันนี่ทันเดอร์" (MoneyThunder) ได้สร้างปรากฎการณ์ในวงการสินเชื่อด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ที่พัฒนาจากทีมคนไทยที่เข้าใจถึงความต้อ...

Responsive image

iNT: พันธมิตรเพื่ออนาคต พร้อมเปิดประตูสู่นวัตกรรมและธุรกิจ Start-Up

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iNT (อิ๊นท์) ตอกย้ำบทบาทผู้นำ ด้านการสนับสนุนธุรกิจ Start-Up และการส่งเสริมการต่อยอดผลงานวิจัย นวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์...