Cigna ร่วมกับ Kantar เผยผลสำรวจสุขภาพ ความเป็นอยู่แบบ 360 ของผู้คนช่วง COVID-19 | Techsauce

Cigna ร่วมกับ Kantar เผยผลสำรวจสุขภาพ ความเป็นอยู่แบบ 360 ของผู้คนช่วง COVID-19

ซิกน่าอินเตอร์เนชันแนลมาร์เกตส์ ร่วมกับ บริษัท กันตาร์ (Kantar) เผยผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 ประจำปี 2563 ของซิกน่า(360 Well-Being Survey)  เกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 (ชุดแรก) ที่มุ่งมั่นศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก

การสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 ของซิกน่า เป็นการติดตามทัศนคติและการรับรู้ของผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเอง ซึ่งมีดัชนีชี้วัดที่ครอบคลุมทุกมิติรอบด้าน ทั้งในด้านของความเป็นอยู่ทางกายภาพ, ครอบครัว, สังคม, การเงิน และการทำงาน โดยได้ทำการสำรวจต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ส่วนในรายงานฉบับพิเศษนี้มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้นจำนวน 10,204 คนจาก 8 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ระยะเวลาการสำรวจตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก และหัวข้อการศึกษาประกอบไปด้วย ภาวะความเหงา การทำงานจากที่บ้าน การบริการด้านสุขภาพเสมือนจริง ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน และวิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้

คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ในด้านต่างๆยังทรงตัว

รายงานวิจัยฉบับใหม่นี้ บ่งชี้ว่า การรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองนั้นสามารถปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกในภาพรวม ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 62.5 คะแนน ถึงแม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ก็ตาม 

จากรายงาน พบว่า ดัชนีชี้วัดสุขภาพและความเป็นอยู่ทางด้านการเงินและสังคมลดต่ำลง สาเหตุมาจากความสามารถในการรักษามาตรฐานการครองชีพและมีเวลาส่วนตัวกับเพื่อนๆลดลง ในทางกลับกัน ดัชนีชี้วัดสุขภาพและความเป็นอยู่ทางด้านครอบครัวและการทำงานยังคงเดิม ผู้คนมีความสามารถในการเรียนรู้และฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาเพิ่มขึ้น 4% มีความสามารถในการสร้างสมดุลให้กับชีวิตการทำงานเพิ่มขึ้น 1% นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจจากทั่วโลกมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านของความสามารถในการดูแลความเป็นอยู่ของคู่สมรส (เพิ่มจาก 44% เป็น 47%) และของบุตร (เพิ่มขึ้น 3% จาก 48% เป็น 51%) รวมถึงมีความรู้สึกว่าได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น (เพิ่ม 2% จาก 43% เป็น 45%)

การทำงานที่บ้านเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน ความสัมพันธ์และการสื่อสารเกี่ยวกับงานมากขึ้น

แม้อาจต้องใช้เวลาไปกับการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น แต่ผู้คนก็ยังมองว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้ชีวิตการทำงานของพวกเขาดีขึ้น จากรายงานพบว่า 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย ระบุว่า วันทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วยประเทศสเปน 80% และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 79% ซึ่งถือว่ามีค่าเฉลี่ยสูงกว่าทั่วโลกถึง 76% และด้วยเหตุนี้เองอาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่ารูปแบบการทำงานของผู้คนอาจจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร เมื่อมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง

ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยยังระบุอีกว่า พวกเขามีความใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานมากยิ่งขึ้นในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤต โดย 68% เห็นด้วยว่าการทำงานจากที่บ้านและการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถช่วยปรับปรุงการสื่อสารและการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับ 64% จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน ก็ยังมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามอีก 8% ที่ระบุว่าไม่ได้ช่วยปรับปรุงระบบการทำงานแต่อย่างใด 

ผู้คนรู้สึกเหงาน้อยลง

รายงานผลการศึกษาผลกระทบฉบับแรกนี้ พบว่า ผู้คนรู้สึกเหงาลดลง โดยการล็อกดาวน์อาจเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้คนได้ จากรายงานของเดือนเมษายนพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าพวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวและห่างไกลจากผู้อื่นลดลง (8%) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม (11%)     แต่เมื่อสอบถามว่าพวกเขาเหล่านั้นรู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากขึ้นหรือไม่ พบว่า 73% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่าใช่ และระบุว่ารู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อเปรียบเทียบกับ 69% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ แม้ในหลายประเทศจะมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ แต่ในบางประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่าระดับความใกล้ชิดถูกพัฒนาขึ้น จาก 71% เป็น 80% และ ในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 79% ส่วนสเปนเพิ่มขึ้นจาก 81% เป็น 91%

ผู้คนประสบปัญหาเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานยาวนานมากขึ้น

แม้คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น แต่ส่วนมากกลับเห็นด้วยในมาตรการการทำงานจากที่บ้าน และลงความเห็นว่ารูปแบบการทำงานในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ทั้งนี้จากการสำรวจ พบว่า ประเทศส่วนใหญ่ที่มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า ‘Always on’ และรู้สึกว่าวันทำงานของพวกเขายาวนานมากยิ่งขึ้น โดย 75% ของคนไทยเห็นด้วยกับเรื่องนี้

คุณธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่เกี่ยวกับความรู้สึกความเหงาและโดดเดี่ยวที่ลดลงนั้นเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง แต่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีทางดิจิทัลที่ให้ผลลัพธ์ในเชิงบวก โดยเราพบว่าทัศนคติต่อการทำงานของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงไป คนไทยจำนวนมากมองว่าการทำงานจากที่บ้านให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกได้หลายแง่มุมมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการปรับสมดุลความรับผิดชอบต่อครอบครัว และหน้าที่การงาน แม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้นก็ตาม ทั้งนี้จากผลสำรวจดังกล่าว ทำให้เรามองภาพรวมของประเทศไทยได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนรู้สึกว่าพวกเขามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นแม้ว่าต้องทำงานจากที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องไปกับวิถีการทำงานของ  ซิกน่า ประเทศไทย ที่ยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการลูกค้าได้อย่างยอดเยี่ยม ตลอดจนการตัดสินใจขยายทางเลือกในการทำงานจากที่บ้านให้แก่พนักงานในบางแผนกไปจนถึงสิ้นปี”

ความต้องการด้านการบริการสุขภาพเสมือนจริงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความต้องการในเรื่องของบริการด้านสุขภาพเสมือนจริง (virtual health) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 67% ในประเทศไทย ระบุว่าพวกเขาสนใจใช้บริการดังกล่าว และพบว่าบริการด้านการนัดหมายเพื่อพบแพทย์ทั่วไปและการดูแลด้านสุขภาพจิต ถือเป็นบริการที่เป็นที่นิยมมากที่สุด

“ในปีนี้ เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ในการเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกแห่งยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว รวมถึงจำนวนการนัดหมายผ่านบริการสุขภาพเสมือนจริงของลูกค้าซิกน่าทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้ตัดสินใจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Telemedicine หรือ แอปพลิเคชั่นพบแพทย์ออนไลน์ ‘Doctor Anywhere’ เข้ามาเสริมทัพในด้านการให้บริการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกค้าของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้น แพลตฟอร์มนี้ยังจะช่วยให้ลูกค้าของเราสามารถเข้าถึงคำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างไร้กังวลแม้จะอยู่ในช่วงภาวะวิกฤตก็ตาม เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”  คุณธีรวุฒิ กล่าวเสริม

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยใช้แบบสำรวจทางออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจได้รับการคัดเลือกจากฐานสมาชิกผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ที่ผ่านการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด ขณะที่ อายุ วัย และโควต้าเมืองที่อาศัย ถูกกำหนดให้ใช้ตามสัดส่วนของประชากรในตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 10 มกราคม ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 และในระหว่างวันที่ 22-27 เมษายน 2563 โดยมีการสัมภาษณ์ทางออนไลน์ทั้งสิ้น 8,983 คนในเดือนมกราคม และ 1,221 คนในเดือนเมษายน ภายใน 8 ประเทศ (ประกอบด้วยประเทศจีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, สเปน, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และแบบสำรวจใช้เวลาทำ 20-25 นาทีโดยไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ร่วมทำแบบสำรวจ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...