ธนาคารกรุงไทย (KTB) เดินหน้าเร่งเครื่องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนบริการทางการเงิน ดึงไอบีเอ็มช่วยบริหารจัดการเทคโนโลยี Open Source ซึ่งเป็นกุญแจของแอพพลิเคชันสำคัญ อาทิ เป๋าตัง ถุงเงิน เป็นต้น ร่นเวลาในการพัฒนาแอพ เพิ่มความรวดเร็วในการเสริมฟีเจอร์ใหม่ ลดต้นทุนการบริหารจัดการ พร้อมทีมงานไอบีเอ็มคอยบริการให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาการใช้งานเทคโนโลยีโอเพนซอร์สทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง สร้างความมั่นใจและราบรื่นในการใช้งานให้ผู้ใช้บริการแอพหลายล้านรายทั่วประเทศ
ประโยชน์ของ Open Source ในแง่ความยืดหยุ่นในการใช้งาน การเปิดให้ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงการรองรับการใช้งานคอนเทนเนอร์และแอพแบบ cloud-based ทำให้เทคโนโลยีโอเพนซอร์สอย่าง Apache, OpenStack, Ansible, Python ฯลฯ รวมถึงเครื่องมือบริหารจัดการเวิร์คโหลดอย่าง Kubernetes และ Red Hat OpenShift เป็นต้น กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างนวัตกรรมขององค์กร และบางครั้งยังถูกนำไปเป็นเครื่องมือรองรับเวิร์คโหลด mission-critical โดยรายงานจากฟอร์เรสเตอร์ ชี้ว่าองค์กร 53% ใช้เทคโนโลยีโอเพนซอร์สมากกว่าห้าชนิด
อย่างไรก็ดี การที่ซอฟต์แวร์ Open Source พัฒนาขึ้นโดยคอมมิวนิตี้นักพัฒนา ทำให้ไม่มีผู้ดูแลและคอยให้คำแนะนำการแก้ปัญหากับผู้ใช้ โดยองค์กร 79% ต้องประสบปัญหาเรื่องการซัพพอร์ทแบบเรียลไทม์ และเมื่อซื้อบริการซัพพอร์ท ก็มักเป็นบริการเฉพาะสำหรับซอฟต์แวร์เวอร์ชันนั้น ๆ เมื่อเกิดปัญหาในระบบที่ใช้มากกว่าหนึ่ง Open Source พบช่องโหว่ด้านซิเคียวริตี้ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด หรือมีปัญหาด้านการตั้งค่าระบบที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยเจ้าหน้าที่หน้างาน จึงทำให้ระบบสะดุด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมต่าง ๆ สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับทั้งองค์กรและผู้ใช้งาน
บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด (KTBCS) หน่วยงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดูแลระบบสารสนเทศให้ธนาคารกรุงไทยและบริษัทในเครือ ตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการผ่านระบบที่มีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยสูง และได้เลือกบริการ Open Source Support Services (OSS) จากไอบีเอ็ม เข้าช่วยบริหารจัดการเทคโนโลยีโอเพนซอร์สที่อยู่เบื้องหลังแอพสำคัญ ๆ ของธนาคาร
การมีทีมมืออาชีพจากไอบีเอ็มเข้ามาช่วยบริหารจัดการ แก้ปัญหาการใช้งาน ตรวจสอบเงื่อนไขการบำรุงรักษา ให้คำแนะนำการอัพเดทซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ที่มักออกมาทุกอาทิตย์หรือทุกเดือน ช่วยให้ KTBCS สามารถมุ่งเน้นที่การพัฒนาแอพและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เต็มที่ แทนที่จะต้องเสียเวลาไปกับการบริหารจัดการแก้ปัญหา Open Source ซอฟแวร์จำนวนมาก โดย OSS ช่วยให้ KTBCS สามารถเปิดใช้แอพใหม่ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 38% ขณะที่การแก้ปัญหาดาวน์ไทม์ที่ไม่คาดคิดสามารถทำได้เร็วขึ้น 44% ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และตัดปัญหาค่าใช้โอเพนซอร์สบางอย่างที่ไม่คาดคิด
การทำงานร่วมกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงาน KTBCS ได้เรียนรู้ทักษะด้าน Open Source ใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็ม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพในการทำงานของทีมดูแลระบบถึง 18%
“การระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายแง่มุม ทั้งพฤติกรรมการทำงานและรูปแบบการใช้ชีวิต และตอกย้ำให้เห็นว่าการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความยืดหยุ่น ฟื้นตัวเร็ว และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญเพียงใด” นายแพทย์พลวรรธน์ วิทูรกลชิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานเทคโนโลยี บมจ.ธนาคารกรุงไทย และประธานกรรมการ บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด (KTBCS) กล่าว “ธนาคารกรุงไทยมีโครงสร้างเดิมที่ใหญ่และมีระบบเลกาซี ฉะนั้น การนำ Open Source มาใช้ การเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติใหม่ และการนำทีมงานมืออาชีพจากไอบีเอ็มเข้ามาช่วยบริหารจัดการโอเพนซอร์ส จะช่วยให้เส้นทางการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของธนาคารกรุงไทย เดินหน้าได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น”
“เทคโนโลยี Open Source มีความก้าวล้ำและยืดหยุ่น และมีคอมมิวนิตี้ของนักพัฒนาเก่งๆ ทั่วโลกที่สามารถให้คำแนะนำ แต่สิ่งที่ไอบีเอ็มมีมากกว่า คือประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในมุมอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน รวมถึงการดูแลรับผิดชอบในทุกมิติ ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง” นายวิสิทธิ์ รัตนสกุลดิลก กรรมการผู้จัดการ KTBCS กล่าว “ในอีกทาง สถาบันการเงินต้องเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูลของลูกค้าจำนวนมาก อีกทั้งยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด ซึ่งมาตรฐานการบริการและความปลอดภัยระดับสูงของไอบีเอ็มถือเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เราเชื่อมั่นว่าระบบจะปลอดภัยและสอดคล้องกับกฎข้อบังคับต่าง ๆ”
“ไอบีเอ็มมีจุดยืนในการสนับสนุนชุมชน Open Source มานานกว่า 20 ปี และยังได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำด้าน Open Source เมื่อรวมกับความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการเงินจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำของไทยและทั่วโลก สิ่งนี้จึงถือเป็นจุดที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับไอบีเอ็ม” นายสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “วันนี้ ไอบีเอ็มมีความยินดีที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการเทคโนโลยี Open Source ให้กับ KTB และ KTBCS ซึ่งถือเป็นส่วนหลักที่จะเป็นกลจักรสำคัญสู่การสร้างนวัตกรรมและก้าวย่างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของธนาคารกรุงไทยต่อไป”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด