บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมยกระดับ และขับเคลื่อนไปสู่องค์กรนวัตกรรม พร้อมเตรียมจัดทำ Roadmap พัฒนาศักยภาพบุคลากรผ่านหลักสูตรการอบรมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมสื่อ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยเน้นการใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย สร้างสรรค์วิธีการและช่องทางที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เพื่อเตรียมรับมือสู่โลกธุรกิจดิจิทัลและส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในเครือของ อสมท
คุณเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเร่งเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาศักยภาพ “คน” ให้ก้าวทัน โดยรัฐบาลได้กำหนด “ประเทศไทย 4.0” เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่ง บมจ.อสมท ได้นำนโยบายรัฐบาลมาเป็นแนวทางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์องค์กร ที่มุ่งสร้างความตระหนักด้านนวัตกรรมให้กับบุคลากรในองค์กรและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2561 ได้ริเริ่มโครงการ U ME IDEA เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล รวมทั้งให้การสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดผลงานนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์กับนวัตกรไทย เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาและผู้ประกอบการทั่วไป ร่วมส่งผลงานนวัตกรรมสื่อ (Media Innovation) เข้าประกวด และได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของ NIA ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำแนะนำ รวมทั้งร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัล สำหรับการดำเนินโครงการ U ME IDEA AWARDS 2020 ในปีนี้จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิดนวัตกรรมเพื่อสังคม “Social Innovation” สำหรับความร่วมมือระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ อสมท ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับและขับเคลื่อน อสมท ไปสู่องค์กรนวัตกรรม ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อเป็นหนึ่งในหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “Digital Disruption” โดยเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมสื่อจึงเปรียบเสมือนทางรอดที่จะนำพาให้ธุรกิจยังสามารถก้าวต่อไปได้ โดยต้องเป็น “นวัตกรรมสื่อ” ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
ทั้งมิติเทคโนโลยีและเนื้อหา ที่เน้นการใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย สร้างสรรค์วิธีการ ช่องทาง หรือแพลตฟอร์มใหม่ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ส่งและรับสารทั้งในระดับบุคคล และสังคมโดยเป็นการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่หรือต่อยอดจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีอยู่เดิม รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้เกิดความมีส่วนร่วมระหว่างสื่อและผู้บริโภค เพื่อสร้างความใกล้ชิดและเข้าถึงกันได้มากยิ่งขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วมในการรับชม การใช้ AI ในกระบวนการทำข่าว การรวบรวม การสรุปผล และเผยแพร่แบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดที่มีมากกว่าหนึ่งช่องทาง รวมทั้งการใช้ฐานข้อมูล หรือ Big Data เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค”
“สำหรับความร่วมมือระหว่าง NIA และ อสมท ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะร่วมกันพัฒนาองค์กรสื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม โดยอาศัยเครื่องมือภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กรของสถาบันมองอนาคตนวัตกรรม NIA ที่ใช้ประเมินองค์กรนวัตกรรมกว่า 300 องค์กรใน 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง อสมท. จำเป็นต้องมองนวัตกรรมทั้งมิติของการสร้างรายได้ และการบริการสาธารณะ เพื่อสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรด้านนวัตกรรมสื่อระหว่าง NIA ACADEMY และ MCOT ACADEMY
ซึ่งจะขยายวงกว้างไปยังกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจสื่อ และบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนองค์กรและการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดสื่อ สุดท้าย คือความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสื่อและอยากจะผันตัวเองเป็นสตาร์ทอัพผ่านโครงการ U ME IDEA Award 2020 และ Startup Thailand League 2020 ที่จะช่วยให้ส่งต่อโอกาสและช่องทางการเติบโตในรูปแบบเงินอุดหนุนให้เปล่า และการจับคู่ธุรกิจ หรือ Matching Fund เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม และนำไปสู่การปฏิวัติวงการนวัตกรรมสื่อไทยต่อไปในอนาคต”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด