NIA เปิดตัวชุดตรวจ ATK แบบด่วน รู้ผลใน 15 นาที แม่นยำถึง 96% หนุนรับมาตรการคลายล็อกดาวน์ - เปิดประเทศ | Techsauce

NIA เปิดตัวชุดตรวจ ATK แบบด่วน รู้ผลใน 15 นาที แม่นยำถึง 96% หนุนรับมาตรการคลายล็อกดาวน์ - เปิดประเทศ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เตรียมรับมาตรการคลายล็อกดาวน์และหนุนนโยบายการเปิดประเทศ ร่วมกับบริษัท แอฟฟิโนม จำกัด ส่งชุดตรวจหาแอนติเจนที่จำเพาะกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อลดปัญหาการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 และเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นชุดตรวจแบบง่ายและรวดเร็ว ทราบผลการติดเชื้อภายใน 15 นาที และมีความแม่นยำถึง 96% โดยในเดือนตุลาคม 2564 นี้ NIA และผู้พัฒนาชุดตรวจมีแผนนำร่องกระจายนวัตกรรมดังกล่าว จำนวน 20,000 ชุดให้กับกลุ่มโรงพยาบาล อสม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางเสร่, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังลึก, สำนักงานเทศบาลเมืองชลบุรี, ศูนย์บริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้, สำนักงานสาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้พัฒนานวัตกรรมยังมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิต ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่าเดือนละ 8 แสนชุดภายในปี 2565 

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA กล่าวว่า NIA ยังคงเดินหน้าสนับสนุนนวัตกรรมด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนวัตกรรมเพื่อป้องกันหรือลดการระบาดของเชื้อโควิด – 19 ที่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้ป่วย หรือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าวในปริมาณที่สูง อีกทั้งยังมุ่งกระจายนวัตกรรมดังกล่าวให้เข้าถึงภาคประชาชน กลุ่มโรงพยาบาล – บุคลากรทางการแพทย์ และลดปัญหาการเข้าถึงภาคบริการสาธารณะ โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อโควิด -19 ซึ่งขณะนี้เครื่องมือดังกล่าวกำลังเป็นที่ต้องการ เนื่องจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ - การเปิดประเทศทำให้หลาย ๆ กิจกรรมเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น นอกจากนี้ การตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นใจให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ - สังคม และเป็นสิ่งที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องผลักดันให้ประชาชนได้รับอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ในระดับเขตเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดการท่องเที่ยว และภูมิภาค

นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด – 19 ในสถานการณ์ปัจจุบัน NIA จึงได้มีการสนับสนุนเงินทุนในการผลิตชุดตรวจหาแอนติเจนที่จำเพาะกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ภายใต้วงเงิน 2,800,000 บาท โดยมุ่งหวังจะเพิ่มกำลังการผลิตชุดตรวจฯ ภายในประเทศ รวมถึงลดต้นทุนการนำเข้า พร้อมทั้งผลักดันภาคส่วนต่าง ๆ ให้เข้าถึงนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและได้รับผลการตรวจที่แม่นยำ ตลอดจนช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงชุดการตรวจที่สามารถตรวจหาเชื้อได้ด้วยตนเอง โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการพัฒนาแอนติบอดีที่มีความจำเพาะต่อ N-Protein ของไวรัส ARS-CoV-2 ด้วยเทคโนโลยีการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) เซลล์ไฮบริโดมา (hybridoma cell) ที่นำมาพัฒนาเป็นชุดตรวจแบบรวดเร็ว (rapid test kit) สามารถทราบผลได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว 15 นาที และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 50 บาท และได้ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

NIA และผู้พัฒนาชุดตรวจฯ มีแผนนำร่องการกระจายนวัตกรรมดังกล่าวจำนวน 20,000 ชุดให้กับกลุ่มโรงพยาบาล อสม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางเสร่, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังลึก, สำนักงานเทศบาลเมืองชลบุรี, ศูนย์บริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้, สำนักงานสาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องมีการรักษาอาการภายใต้ระบบ Home – Isolation ซึ่งจะถูกนำส่งครบทั้งหมด 20,000 ชุดภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้ และนอกเหนือจากนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีแผนในการส่งมอบนวัตกรรมภายใต้การสนับสนุนของ NIA อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบคิวคิว (QueQ) สำหรับการลดปัญหาความแออัดของการให้บริการภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ในโรงพยาบาลกว่า 10 จังหวัดของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ชุดอุปกรณ์ควบคุมการทำงานเครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง หรือ High flow Nasal Cannula Control ที่สามารถนำไปใช้งานในสถานพยาบาลภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและยังขาดแคลนในโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงโครงการ Homecare by Agnos ระบบแพลตฟอร์มดูแลผู้ป่วยโดยชุมชน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการโดยกลุ่มแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสา ที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยระหว่างรอเข้าระบบการรักษาแบบครบวงจร โดยเฉพาะในกลุ่มอาการสีเขียวและสีเหลืองที่คงค้างนอกระบบ ซึ่งแพทย์ 1 รายในแพลตฟอร์มสามารถดูแลคนไข้ได้ 50-100 รายต่อวัน

ด้านนายดนัย ประพันธ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอฟฟิโนม จำกัด ผู้พัฒนาชุดตรวจหาแอนติเจนที่จำเพาะกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า โครงการนี้เป็นงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านการวิจัยและการประเมินประสิทธิภาพทางคลินิกตามเกณฑ์มาตรฐานของ อย. โดยขณะนี้บริษัท แอฟฟิโนม จำกัด ได้เจรจาขออนุญาตใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวจากทางมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นชุดตรวจแบบง่ายและรวดเร็วด้วยหลักการอิมมูโนโครมาโตกราฟี ที่มีกลไกการทำงานคล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ แต่วัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดในตัวอย่างหลังโพรงจมูกจากผู้ป่วย ใช้เวลาในการทดสอบเพียง 15 นาที น้ำยาทดสอบสามารถฆ่าเชื้อได้ และก้าน swab เป็นแบบสั้น ช่วยลดความกังวลในผู้ตรวจบางรายที่กลัวในเรื่องอาการบาดเจ็บจากชุดตรวจบางประเภทที่มีก้านที่ยาวเกินไป หลังจากเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกเรียบร้อยและใส่ลงในหลอดทดสอบเพื่อทำการเก็บตัวอย่างตรวจในหลอดทดสอบ แล้วสามารถหักก้าน swab แล้วทิ้งตัวปลายอยู่ในหลอดน้ำยาได้เลย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ น้ำยาทดสอบยังสามารถฆ่าเชื้อโรค และมีถุงซิปไว้สำหรับบรรจุขยะติดเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดขั้น จึงปลอดภัยทั้งกับผู้ใกล้ชิดและผู้ที่อาจสัมผัสสิ่งส่งตรวจ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทมีได้มีการตั้งราคาขาย 150 บาท จำหน่ายทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เช่น บริษัทตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา ฯลฯ ส่วนในอนาคตหากมีการผลิตได้มากขึ้นก็จะมีการปรับราคาให้ถูกลงอย่างแน่นอน 

ด้านความแม่นยำของชุดตรวจนั้นมีความไวถึง 96% และความจำเพาะ 100% ค่าทำนายผลบวก (Positive Predictive Value) เท่ากับ 95.91% และค่าทำนายผลลบ (Negative Predictive Value) เท่ากับ 98.01% ผ่านการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างมาแล้วจำนวน 200 ราย ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพและผลคลาดเคลื่อนในอัตราที่ต่ำมาก ส่วนในด้านกำลังในการผลิต ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100,000 – 120,000 ชุดต่อเดือน และทางบริษัทกำลังมีการวางแผนสั่งซื้อเครื่องอัตโนมัติเพิ่มเติมคาดว่าต้นปีหน้าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 200,000 ชุดต่อเดือน นอกจากนี้ ยังวางแผนการขยายโรงงานไปในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ และเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับที่สูง ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน คาดว่าจะช่วยในเรื่องกำลังการผลิตที่อาจเพิ่มได้สูงถึง 600,000 – 800,000 ชุดต่อเดือน ซึ่งจะเพียงพอต่อการตรวจหาเชื้อในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยมีการเปิดประเทศและเปิดรับการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบอย่างแน่นอน นายดนัย กล่าวสรุป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...